วันพฤหัสที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ภาคประชาสังคม รุดให้ข้อมูล กมธ.ศึกษาปัญหาสถาบันเทิง จี้รัฐบาลทบทวนมาตรการเปิดผับตี 4

On December 4, 2023

ภาคประชาสังคม รุดให้ข้อมูล กมธ.ศึกษาปัญหาสถาบันเทิง อัดชุดข้อมูลผลกระทบเมาแล้วปี 65 แค่ 4 พื้นที่ สูญเสียกว่า 6.5 พันล้านบาท จี้รัฐบาลทบทวนมาตรการเปิดผับตี 4 ทำคนเมาสะสมลากยาวถึง 7 โมงเช้า คาดการณ์เคสเจ็บ-ตายบนถนนพุ่ง แน่นอน ไม่พ้นเด็กนักเรียน คนทำงานเป็นเหยื่อ ซ้ำยังไม่เคยเห็นมาตรการรองรับเป็นรูปธรรม 

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 66 .ค. นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ เปิยเผยว่า  เมื่อช่วงปลายเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา เครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ มูลนิธิเมาไม่ขับ ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ศูนย์วิชาการความปลอดภัยทางถนน เครือข่ายงดเหล้า และภาคีเครือข่ายป้องกันและลดผลกระทบจากแอลกอฮอล์ ได้รับเชิญจากคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาแนวทางการแก้ไขปัญหาสถานบันเทิงและปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันการเรียกรับผลประโยชน์จากเจ้าหน้าที่ของรัฐ สภาผู้แทนราษฎร โดยมีนางสาวขัติยา สวัสดิผล เป็นประธานฯ เพื่อให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาของสถานบันเทิงโดยเฉพาะกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ขยายเวลาปิดสถานบันเทิงใน 5 พื้นที่เป็นเวลา 04.00 น. ของวันถัดไป

ทั้งนี้ ตนมองว่า การที่คนไม่เกรงกลัวเพราะการเขียนสำนวนคดีเป็นเหตุจากการประมาท ทำให้ศาลพิจารณาตัดสินโดยการให้โอกาสรอลงอาญา อีกทั้งในขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมสามารถหลุดคดีหรือทำให้สำนวนอ่อน รวมทั้งกรณีเกิดเหตุแล้วมีการประวิงเวลาในการตรวจวัดแอลกอฮอล์ ล่าสุดกรณีผู้คุมประพฤติที่เกิดอุบัติเหตุในมือยังถือกระป๋องเบียร์ แต่วัดแอลกอฮอล์ไม่พบค่าเกิน เป็นต้น ดังนั้น จะต้องแก้ไขให้การบรรยายฟ้องเป็นการเล็งเห็นผลที่จะทำให้เกิดอันตรายแก่ผู้อื่น แบบนี้เชื่อว่าผู้พิพากษาจะไม่ปราณี

นายเจษฎา แย้มสบาย ประธานเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ กล่าวว่า ตนเองเป็นผู้ประสบภัยจากคนมาแล้วขับ เหตุเกิดตอนตี 2 ชีวิตครอบครัวต้องต่อสู้ดิ้นร้น และทุกวันนี้ ได้อาสารณรงค์ให้เกิดความตระหนักของบรรดานักดื่มแต่ก็พบว่ามาตรการกฎหมาย และความรับผิดชอบของธุรกิจยังไม่เพียงพอ คนดื่มยังไม่เกรงกลัว เพราะคิดว่าแค่รอลงอาญา อีกทั้งจุดตรวจจุดสะกัดมีไม่เพียงพอ ที่เป็นห่วงคือนักเที่ยวชาวไทย ที่จะก่อเหตุต่อนักเที่ยวต่างชาติ และประชาชนบริสุทธิ์

นพ.ธนพงษ์ จินวงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่า จากข้อมูลใน 4 พื้นที่ ได้แก่ เชียงใหม่ กรุงเทพ ชลบุรี ภูเก็ต พบว่า ปี 2565 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนที่มีสาเหตุจากการดื่มแล้วขับ  2,118 ราย เฉาะพื้นที่กรุงเทพฯ เสียชีวิตกว่า 1,004 ราย คิดเป็นมูลค่าความสูญเสียกว่า 6,500 ล้านบาท เมื่อเทียบกับผลที่ได้ทางเศรษฐกิจจะเท่ากับความสูญเสียนี้หรือไม่ ทั้งนี้ยังพบว่าโดยช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุ คือช่วงค่ำถึงตี 3 และเมื่อคำนวนช่วงเวลาเกิดอุบัติเหตุถ้าปิดสถานบริการถึงตี 4 จะเกิดปัญหายาวถึง 7 โมงเช้า แปลว่า จะมีผู้บริสุทธิ์จากนักเรียน พ่อค้าแม่ค้า พระสงฆ์ เพราะฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ที่สะสมจนเมาไม่ได้สติ และถ้าแยกเป็นกลุ่มจะพบว่า มีชาวต่างชาติได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตใน 4 จังหวัดดังกล่าวจำนวนมาก โดยเฉพาะที่ภูเก็ตมีเคสกว่า 3,461 ราย ดังนั้น จากนี้ไปรัฐบาลจะกลายเป็นผู้สร้างปัญหาเพราะเป็นผู้ออกนโยบายนี้ จึงอยากฝากเตือนให้ทบทวนให้ดี

รศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว นักวิชาการจากศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่าวว่า ข้อมูลที่ประเทศนอร์เวย์ พบว่า เมื่อขยายเวลาเพิ่ม 1 ชั่วโมงทำให้สถิติการทำร้ายร่างกายเพิ่มขึ้น 16% ส่วนที่เมืองอัมสเตอดัม ประเทศเนเธอแลนด์พบว่า ขยายเวลาเพิ่ม 1 ชั่วโมงเกิดอุบัติเหตุที่สัมพันธ์กับแอลกอฮอล์มากถึง 34% จากการศึกษานี้ เป็นข้อบ่งชี้ว่าจะเกิดปัญหาตามมาแน่ๆ คำถามคือ เมื่อมีมติครม.ออกมาแล้ว และให้มีผลวันที่ 15 ธ.ค.นี้ ในพื้นที่ 5 จังหวัดนั้น มีการเตรียมการอย่างไร รวมทั้ง ทางเลือกอื่นๆ ที่จะช่วยสร้างเศษรฐกิจภาคกลางคืนนั้นมีตัวเลือกอีกมากมายตามนโยบายเศษฐกิจซอฟต์พาวเวอร์ ไม่ใช่การเปิดสถานบันเทิงรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

ด้าน นายธีระ วัชรปราณี ผอ.เครือข่ายงดเหล้า กล่าวว่า ประเทศไทยมีเป้าหมายสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะการบาดเจ็บเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนน สุขภาวะที่ดีของประชาชน รวมทั้งข้อแนะนำในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขององค์การอนามัยโลก ในจำกัดควบคุมสถานที่วันเวลาดื่มขาย เพื่อลดการเข้าถึง ซึ่งประเทศไทยเรามีมาตรการที่ดี แต่ขาดความจริงจังและต่อเนื่องในการบังคับใช้ และขาดประสิทธิภาพ แต่รัฐบาลชุดนี้ได้เปิดช่องทางขยายเวลามากขึ้น ยิ่งเพิ่มปัญหามากกว่าจะเพิ่มรายได้ พวกเราไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว เพราะความไม่พร้อมของกลไกของรัฐที่จะต้องมารับผิดชอบ ทั้งฝ่ายหมอ พยาบาล กู้ภัย รวมทั้ง ภาคธุรกิจที่ได้ประโยชน์ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ จากความสูญเสีย  โดยย้ำว่า เมื่อแก้ปัญหาหนึ่งแล้วไม่ควรไปสร้างปัญหาอีกมากมายตามมา

อนึ่ง คณะกรรมธิการฯ ได้รับฟังและแลกเปลี่ยนโดยเฉพาะประเด็นเมาแล้วขับ ปัญหาเสียงดังรำคาญ ปัญหาเด็กเยาวชน วัยรุ่น และความรุนแรงต่างๆ และรับข้อเสนอความห่วงใยจากภาคประชาสังคมไปพิจารณาบรรจุในรายงานต่อไป


You must be logged in to post a comment Login