วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

นิราศมุมไบ: สร้างชื่อให้ประเทศไทย

On December 5, 2023

คอลัมน์ :โลกอสังหาฯ

ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่  5 ธ.ค.  66)

ผมไปสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติไทยของเรา แต่ไปแบบสามัญชนที่ประหยัด เรียบง่าย  ตามมาดูกันนะครับ

ในระหว่างวันที่ 23-27 พฤศจิกายน 2566 ผมได้รับเชิญจากสมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินอินเดีย (Institution of Valuers India) ให้ไปประชุม Global Valuation Summit (GVS) ครั้งที่ 2 ณ นครมุมไบ (เดิมชื่อบอมเบย์) โดยมีผู้เข้าร่วมจากหลายประเทศ ทั้งนี้ในการประชุมครั้งแรกเมื่อปีก่อนซึ่งจัดขึ้นที่นครกูวาฮาติ รัฐอัสสัม ผมก็ได้รับเชิญไปเช่นกัน

ผมได้รับเชิญไปบรรยายเรื่อง ESG (Environment, Social, Governance) ซึ่งว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมกับการประเมินค่าทรัพย์สิน ผมก็จัดเตรียมบทนำเสนอของผมไป และเจ้าภาพยังขอร้องให้พูดเรื่องเทคโนโลยีกับการประเมินค่าทรัพย์สิน ซึ่งผมก็ยินดี โดยได้บรรยายทั้ง 2 วันที่จัดงาน (24-25 พฤศจิกายน) และก็ประสบความสำเร็จด้วยดี ได้รับการชื่นชมจากผู้เข้าร่วมและผู้จัดงานรวม 600 คนเศษ

อันที่จริงเมื่อปลายเดือนตุลาคม 2566 หรือ 1 เดือนก่อน ผมก็ได้รับเชิญจากสมาคมผู้ประเมินอีกแห่งชื่อ Practicing Valuers Association of India (PVAI) ซึ่งเป็นสมาคมของผู้ประเมินอีกขั้ว และใหญ่เป็นอันดับ 2 ให้ไปบรรยายในงาน Valuation20 ซึ่งคล้ายคลึงกัน โดยผมไปพูดเกี่ยวกับการประเมินค่าสลัมเพื่อการลงทุนพัฒนาเมือง และก็ได้รับการยอมรับเป็นอย่างดี

ด้วยความยอมรับจากผู้จัดงานและวิทยากรจากประเทศต่างๆ ผมจึงได้ร่วมลงนามก่อตั้งเครือข่ายผู้ประเมินค่าทรัพย์สินนานาชาติจากผลการประชุมเมื่อเดือนตุลาคม และผลการประชุมครั้งนี้ ผมก็อาจได้จัด GVS ในกรุงเทพมหานครในปี 2567 ในนามของมูลนิธิประเมินค่า-นายหน้าแห่งประเทศไทย ซึ่งเชื่อว่าผู้ประเมินค่าทรัพย์สินจากทั่วโลกและโดยเฉพาะจากอินเดีย ชอบประเทศไทยเรามาก

หากคณะกรรมการ GVS ตกลงว่าจะจัดงานประชุมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินโลกในไทยโดยที่ให้ผมในนามทของมูลนิธิเป็นเจ้าภาพ  ก็คงจะได้ผู้รู้จากหลายประเทศมาเข้าร่วมโดยเฉพาะอินเดียก็คงมากันหลายร้อยคน และชาติอื่นๆ ในภูมิภาคของเราด้วย รวมกันแล้วคงเกือบพันคน ซึ่งถือเป็นงานใหญ่ที่ช่วยประชาสัมพันธ์ประเทศไทยของเราได้เป็นอย่างดี และหลังจากนั้นพวกเขาก็คงมาท่องเที่ยวในประเทศไทยของเราอีก 2-4 วัน

ผมไปในนามประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิประเมินค่า-นายหน้าแห่งประเทศไทยที่มีสมาชิกประมาณ 1,500 คน แต่การไปนั้นวิทยากรแต่ละคนก็ออกค่าเครื่องบิน ค่าวีซาและอะไรจิปาถะเอง ผมก็ใช้งบส่วนตัวครับเพื่อองค์กรของเรา  ยังดีที่เจ้าภาพจัดที่พักให้ 3 คืน มีรถรับส่งสนามบิน ก็เลยไม่ต้องลำบาก (ไปกว่านี้) อันนี้ผมไม่ได้ไปแบบราชการที่มีคนจ่ายให้นะครับ

ผมซื้อตั๋วเครื่องบินแบบประหยัดสุดๆ เดินทางถึงมุมไบก็ 5 ทุ่ม กว่าจะถึงโรงแรมและได้นอนก็ราวตี 1 เศษๆ รุ่งเช้าก็เข้าประชุมและบรรยายตอนบ่ายเลย ไม่ได้ไปพักผ่อนก่อนสักวันสองวันนะครับ เพราะการงานก็รัดตัว ขากลับยิ่งหนักใหญ่เครื่องบินมีกำหนดออกจากนครมุมไบตอนเที่ยงคืน 10 นาทีของคืนวันอาทิตย์หรือนับเป็นวันใหม่ของวันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน 2566 แต่เครื่องกลับล่าช้า กว่าจะได้ออกก็เกือบตี 4 ของที่นั่น (ช้าไปเกือบ 4 ตัวโมง) และมาถึงดอนเมืองจริงในเวลา 09:30 น. แทนที่จะเป็นตี 5:45 น.

แต่โชคดีตอนเดินทางไป ผมบอกพนักงานของสายการบินว่าขอนั่งหน้าๆ และติดทางเดิน (เกรงใจคนอื่นที่จะขอทางออกไปห้องน้ำ) เขาจัดให้นั่งที่ 3C คือตั้งแต่ 1-5a..f ทั้ง 5 แถว เขาแทบไม่ให้ใครนั่ง ผมเลยนอนไปตลอดทาง เลยไม่เหนื่อย แต่ขากลับได้ 9d มีแขกตัวใหญ่ๆ นั่งเบียดด้วย แต่ผมก็พยายามนอนเต็มที่เพื่อจะได้ไม่กระปลกกระเปลี้ยเมื่อมาถึง แต่ก็ปรากฏว่ามึนมากเลย แถมท้องใส้ไม่ดี คงอาจเป็นเพราะอาหารอินเดีย ไม่ค่อยถูกปาก

ผมก็ไปสร้างชื่อให้ประเทศชาติของเรา ไปเอง ไม่เป็นภาระใคร


You must be logged in to post a comment Login