วันพฤหัสที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

เครือข่ายสตรีพิการฯ เปิดเวทีเอเชียแปซิฟิก ถกปัญหาสิทธิความเท่าเทียมสตรีและเด็กหญิงพิการ

On December 9, 2023

เครือข่ายสตรีพิการฯ เปิดเวทีเอเชียแปซิฟิก ถกปัญหาสิทธิความเท่าเทียมสตรีและเด็กหญิงพิการ พร้อมเรียกร้องรัฐบาลจัดการปัญหา อาชีพและการมีงานทำ-การล่วงละเมิดทางเพศ-การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม อย่างเร่งด่วน

เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.2566เครือข่ายสตรีพิการเอเชียและแปซิฟิก จัดงานสัมมนาสมัชชาสตรีและเด็กพิการภูมิภาค เอเชียและแปซิฟิก หรือ The 1st AP Congress on Women and Girls with Disabilities ครั้งที่ 1 เนื่องในโอกาสวันคนพิการสากล มีสตรีพิการในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เข้าร่วมหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลและคำแนะนำที่เกี่ยวข้องกับเกี่ยวกับเพศสภาพ ความพิการ รวมถึงปัญหาในประเด็นต่างๆ พร้อมหาแนวทางแก้ไขและผลักดันเป็นนโยบายในระดับภูมิภาคร่วมกัน ในงานยังมีการจัดตั้งเครือข่ายสตรีพิการเอเชียและแปซิฟิก เพื่อเป็นศูนย์อำนวยความสะดวกให้ผู้หญิงและเด็กหญิงพิการในการเข้าถึงข้อมูลสิทธิต่างๆ โดยการหารือและรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ มีเครือข่ายรวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กองพัฒนาสังคม UNESCAP สมาคมสตรีพิการแห่งเกาหลีใต้ สมาคมคนพิการเนปาล (DDAN) มูลนิธิเพื่อการพัฒนาสตรีพิการ (WDDF) ประเทศบังคลาเทศ เป็นต้น เข้าร่วมประชุมพร้อมประกาศแถลงการณ์ร่วมกัน ระหว่างวันที่ 8-10 ธันวาคม 2566 ณ โรงแรมปริ้นซ์พาเลซ มหานาค กรุงเทพมหานคร

ผศ.ดร.อรุณี ลิ้มมณี ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหารศูนย์รังสิตด้านกายภาพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สตรีพิการผู้ลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ กล่าวว่า งานนี้จัดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักรู้เรื่องการส่งเสริมสตรีพิการในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เนื่องจากหลายประเทศในภูมิภาคนี้ สตรีพิการยังเข้าไม่ถึงสิทธิหรืออาจเข้าถึงแต่น้อยกว่าผู้ชายในหลายมิติ ดังนั้นหากสตรีพิการในภูมิภาคดังกล่าวมารวมตัวกันในงานสัมมนาที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย จะสร้างการรับรู้ให้กับสังคม สื่อมวลชน รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะให้ความสนใจสตรีพิการมากขึ้น ส่วนปัญหาหลักๆของสตรีพิการในภูมิภาคนี้มีหลากหลายเรื่องตามบริบทของแต่ละประเทศ แต่เรื่องที่เป็นประเด็นร่วมกัน ได้แก่ การเข้าถึงทางการศึกษา สิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ ความเท่าเทียมในการทำงาน การมีส่วนร่วมในศาสนาวัฒนธรรม รวมถึงการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม

ผศ.ดร.อรุณี กล่าวเพิ่มเติมว่า คนส่วนใหญ่อาจคิดว่าสตรีพิการและชายพิการเข้าถึงสิทธิเท่าเทียมกัน แต่แท้จริงแล้วสิทธิยังไม่เท่าเทียมกัน เช่น สิทธิการเข้าถึงทางการเมืองหรือการมีส่วนร่วมทางการเมือง ที่ผ่านมาคนพิการที่ไปนั่งในรัฐสภาในตำแหน่ง ส.ส.และส.ว. ล้วนเป็นผู้ชายทั้งหมด ส่วนหญิงพิการยังไม่สามารถเข้าถึงสิทธินี้ ดังนั้นการผลักดันนโยบายต่างๆถ้าไม่มีสตรีพิการเข้าไปนั่งในรัฐสภาจะผลักดันยาก นโยบายที่ออกมาจะไม่สอดคล้องกับความต้องการของหญิงพิการอย่างแท้จริง

“อยากให้สังคมตระหนักว่าในโลกนี้ยังมีผู้หญิงพิการอยู่และผู้หญิงพิการก็สามารถทำได้หลายอย่าง อยากให้มีการดำเนินการอย่างจริงจังในเรื่องของการส่งเสริมสิทธิป้องกันไม่ให้สตีพิการถูกล่วงละเมิด ทั้งทางกาย ทางจิตใจ และทางอารมณ์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีกลไกที่เป็นหูเป็นตาพิทักษ์สิทธิและเมื่อถูกล่วงละเมิดไปแล้วจะต้องมีกลไกเยียวยาเรื่องความปลอดภัย อย่างไรก็ตามประเด็นการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมเหล่านี้จะถูกยกขึ้นมาให้สังคมวงกว้างรับรู้ในระดับภูมิภาคต่อไป”ผศ.ดร.อรุณี กล่าวทิ้งท้าย

นางสาวอลิสา  ศิวาธร สตรีพิการทางด้านการมองเห็น กรุงเทพมหานคร กล่าวถึงปัญหาการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของผู้หญิงที่พิการทางด้านการมองเห็นว่า สตรีพิการทุกประเภทโดยเฉพาะสตรีตาบอด เมื่อเกิดปัญหาทั้งเรื่องของการถูกล่วงละเมิดทางเพศหรือในประเด็นอื่น จะไม่ได้รับการไว้วางใจจากคนในครอบครัวและคนรอบข้าง เพราะความพิการทำให้ความน่าเชื่อถือลดลง ยิ่งในแง่ของเพศสภาพที่เป็นผู้หญิงพิการเมื่อไปแจ้งความจะต้องเจอคำถามที่ไม่อยากตอบ เช่น รู้ได้อย่างไร มองเห็นหรือไม่ ดังนั้นการเข้าถึงกระบวนการทางยุติธรรมจึงเป็นเรื่องยากทั้งทางด้านกายภาพ และการเข้าถึงข้อมูล รวมถึงทัศนคติของผู้ที่รักษากฎหมาย จึงอยากให้หญิงพิการทุกช่วงวัย ทุกช่วงอายุและทุกประเภทความพิการ ที่มาร่วมประชุมจากหลากหลายประเทศ ร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูล พร้อมร่วมเป็นกระบอกเสียงและช่วยผลักดันเรื่องการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียม

“อยากให้มีพื้นที่ที่สามารถช่วยเหลือกันและกันในกลุ่มสตรีพิการ เมื่อเกิดปัญหาอยากให้ทุกคนช่วย Support พร้อมรับฟังทุกเรื่องทุกปัญหา เมื่อเรามีพื้นที่แห่งการรับฟังของกันและกัน เสียงของเราจะดังมากพอ ไม่ว่าจะผลักดันเรื่องอะไรไปภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเห็นถึงพลังของเราและจะรับฟังมากขึ้น”นางสาวอลิสา กล่าว

นางสาวสือนะ ดีสะเอะ สตรีพิการทางด้านการเคลื่อนไหว ชาวมุสลิม จ.ยะลา กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลแก้ปัญหาสตรีพิการมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเร่งด่วน 2 เรื่อง คือ เรื่องการสร้างอาชีพให้สตรีพิการ เนื่องจากการจ้างงานมีน้อยมากเมื่อเทียบกับอัตราส่วนของคนพิการใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดอบรมสร้างอาชีพเพิ่มศักยภาพให้คนพิการมากขึ้น พร้อมหาตลาดรองรับผลิตภัณฑ์ของคนพิการอย่างยั่งยืน  นอกจากนี้อยากให้มีการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องสิทธิต่างๆ เพื่อให้สตรีพิการมีความรู้พร้อมเรียกร้องสิทธิได้เมื่อเกิดปัญหา เรื่องสุดท้ายเป็นประเด็นการล่วงละเมิดทางเพศ สตรีพิการที่ตกเป็นเหยื่อในพื้นที่ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยได้รับความเป็นธรรม เพราะคนร้ายใช้เงินจ่ายจบในพื้นที่ไม่เคยถูกจับและรับโทษตามกฎหมาย ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยแก้ไข 2 เรื่องนี้อย่างจริงจัง นอกจากนี้สตรีพิการยังมีอุปสรรคในการออกไปทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน เนื่องจากอาคารและสถานที่ไม่เอื้ออำนวยต่อคนพิการ เช่น ไม่มีทางลาดสำหรับคนพิการ อาคารเอนกประสงค์หรือมัสยิดที่มี 2 ชั้น ไม่มีลิฟท์และห้องน้ำสำหรับคนพิการ ทำให้คนพิการไม่สามารถทำกิจกรรมหรือเข้าร่วมการประชุมและไม่สามารถออกมาสู่สังคมได้ เพราะการเดินทางและสถานที่ไม่เอื้ออำนวย จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ช่วยแก้ไขปัญหานี้ด้วย

Ms.Yeni Rosa Damayanti Indonesian Mental Health Association กล่าวว่า ในฐานะประธานสมาคมที่เกี่ยวกับคนพิการทางจิตสังคม ประเทศอินโดนีเซีย รู้สึกยินดีมากที่ได้มาร่วมงานสัมมนาในครั้งนี้และอยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเครือข่ายสตรีพิการในเอเชียและแปซิฟิก ในอินโดนีเซียผู้หญิงพิการมีปัญหาแตกต่างกันออกไป แต่ปัญหาของผู้หญิงพิการทางจิตสังคมส่วนใหญ่ยังไม่มีสิทธิตามกฎหมายพอสมควร อีกทั้งคนพิการกลุ่มนี้ยังถูกจำกัดไว้ให้อยู่ในพื้นที่ควบคุมหรือสถานสงเคราะห์อีกไม่น้อยกว่า 20,000 ราย คนกลุ่มนี้จึงมีความยากลำบากมากในการหางานตามตลาดแรงงานทั่วไป เพราะตามกฎหมายคนที่สมัครงานได้ต้องมีใบรับรองว่าไม่มีความพิการทางจิตสังคม ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญมาก

“อยากเห็นการเริ่มหารือ เรื่องการตระหนักถึงข้อกฎหมายของสิทธิเบื้องหน้ากฎหมายของผู้หญิงพิการทางจิตสังคม เพราะประเด็นนี้ยังไม่มีการพูดถึงและเหมือนถูกลืมไป จึงอยากให้ทุกคนที่มาร่วมงานสัมมนาครั้งนี้ช่วยกันขจัดอุปสรรคต่อสิ่งที่กีดขวางการเข้าถึงสิทธิของผู้หญิงพิการ และขอให้หยุดการเลือกปฏิบัติและหยุดการจำกัดสิทธิและขังคนพิการไว้ในสถานสงเคราะห์” Ms.Yeni กล่าวทิ้งท้าย

Ms.Lyazzat Katayeva วุฒิสภาแห่งสาธารณรัฐคาซัคสถาน กล่าวว่า สมัยก่อนเคยทำหน้าที่เป็นประธานของ สมาคมคนพิการที่เกี่ยวกับสตรีพิการจึงมีเป้าหมายสำคัญคือ ส่งเสริมให้ผู้หญิงพิการมีส่วนร่วมทางการเมือง เพราะเชื่อว่าผู้หญิงพิการมีศักยภาพและมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในระดับนโยบายระดับสูง เมื่อเข้ามาดำรงตำแหน่งในวุฒิสภา จึงผลักดันเรื่องการส่งเสริมสิทธิของผู้หญิงและเด็กหญิงพิการอย่างเต็มที่ ปัจจุบันได้ผลักดันกฎหมายที่ครอบคลุมสิทธิผู้หญิงและเด็กหญิงพิการ จนผ่านร่างกฎหมายถึง 2 ฉบับ และกำลังเสนอกฎหมายเพิ่มเติมในอนาคตเกี่ยวกับการขจัดการใช้ความรุนแรงต่อสตรีรวมถึงสตรีพิการด้วย อย่างไรก็ตามนโยบายที่เราผลักดันในประเทศเกี่ยวกับกฎหมายรวมถึงสิทธิของสตรีละเด็กหญิงพิการ ล้วนเป็นตัวอย่างที่ดีและสามารถที่จะเผยแพร่ให้ประเทศอื่นๆ นำไปใช้ได้ เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้สตรีและเด็กหญิงพิการถูกคำนึงถึง สุดท้ายนี้อยากผลักดันให้ผู้หญิงพิการมีสิทธินั่งในรัฐสภาหรือมีสิทธิในการตัดสินใจด้านนโยบายในทุกประเทศ


You must be logged in to post a comment Login