วันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

“ยิ่งดื่มนาน สมองยิ่งเสี่ยง ดื่มไม่ขับ”: จับตาขยายเวลาสถานบันเทิงถึงตี4

On December 20, 2023

หมอประชา แนะยิ่งดื่มมากยิ่งทำลายสมอง เสี่ยงตาย-พิการ ด้าน ผอ.สคอ.หวั่นรัฐขยายเวลาสถานบันเทิงถึงตี4 ส่งผลเกิดอุบัติเหตุมากขึ้น ร่วมณรงค์ “ยิ่งดื่มนาน สมองยิ่งเสี่ยง ดื่มไม่ขับ” ลดอุบัติเหตุ ลดตาย-พิการในช่วงปีใหม่  ที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) และภาคีเครือข่าย แถลงข่าว “ยิ่งดื่มนาน สมองยิ่งเสี่ยง ดื่มไม่ขับ” ปีใหม่ 2567 เน้นย้ำรณรงค์ช่วงเทศกาลสำคัญ ที่โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ

ขับเร็ว-ดื่มแล้วขับ ยังเป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุ

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า “ดื่มแล้วขับ” เป็นสาเหตุหลักของอุบัติเหตุทางถนน โดยเฉพาะช่วงเทศกาลผลการตรวจแอลกอฮอล์ในเลือดของกลุ่มผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนน พบว่า มากกว่า 50% พบแอลกอฮอล์ในเลือด ดื่มไม่ขับ และลดใช้ความเร็ว เป็นเรื่องที่ทุกคนป้องกันได้ เพื่อฉลองปีใหม่นี้อย่างปลอดภัย และมีความสุข สสส. ได้ผลิตสปอตโฆษณา 2 เรื่อง รณรงค์ให้ผู้ขับขี่ตระหนักถึงอันตราย ลด ละ เลิกพฤติกรรมดื่มแล้วขับ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไม่ประมาท ให้เห็นผลเสียของแอลกอฮอล์ต่อการขับขี่ที่ผลกระทบต่อสมอง และส่งผลต่อการขับขี่ จึงได้พัฒนาแคมเปญ ดื่มไม่ขับ : ดื่มเหล้าเมาถึงสมอง สื่อสารผลเสียของแอลกอฮอล์ ที่ส่งผลต่อสมอง ทำให้ตอบสนองช้าลง ตัดสินใจเบรกรถไม่ทัน และกะระยะในการขับขี่ผิดพลาด

ที่ผ่านมา สสส. ร่วมกับคเรือข่ายสร้างความปลอดภัยทางถนน พัฒนาเครือข่ายตำบลสุขภาวะ รณรงค์ป้องกันปัญหาอุบัติเหตุทางถนนเข้มข้นใน 189 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใน 35 อำเภอ 20 จังหวัด เครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับร่วม 100 เครือข่าย ทั่วประเทศ ร่วมรณรงค์ในพื้นที่ หนุนเสริมตรวจแอลกอฮอล์ในผู้ขับขี่ทุกรายที่ประสบอุบัติเหตุ และไม่สนับสนุนการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับเด็กและเยาวชน และเครือข่ายสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) ที่มีอยู่ทั่วประเทศ เพิ่มความเข้มข้นช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดที่มีการจัดกิจกรรมฉลองปีใหม่ หรือพื้นที่อำเภอเสี่ยง และพื้นที่ท่องเที่ยวเน้นมาตรการดูแลเรื่อง ดื่มไม่ขับ-ไม่ขับเร็ว-สวมหมวกนิรภัย

ด้าน นายวิทยา จันทร์เสนะ ผู้อำนวยการกองบูรณาการความปลอดภัยทางถนน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า สถิติอุบัติทางถนนจากศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) รายงานว่า ปีใหม่ 2566 ตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค. 2564 – 4 ม.ค. 2566 เกิดอุบัติเหตุรวม 2,440 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 317 ราย ผู้บาดเจ็บ 2,437 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับเร็ว 37.5%  ดื่มแล้วขับ 25.49% ตัดหน้ากระชั้นชิด 18.69% ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดคือรถจักรยานยนต์ 82.11% รถกระบะ 5.56% รถเก๋ง 3.24% ศปถ. ได้มีแนวทางดำเนินการป้องกันลดอุบัติเหตุทางถนน 1. กำหนดเป็น “วาระแห่งชาติ” บูรณาการร่วมขับเคลื่อนในพื้นที่อย่างจริงจัง ต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยใช้แผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2565 – 2570 เป็นกรอบดำเนินงาน 2. ระดับพื้นที่ใช้กลไก ศปถ.จังหวัด ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เน้นมาตรการชุมชน มาตรการทางสังคม อาทิ เคาะประตูบ้าน ด่านชุมชน ด่านครอบครัว ป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยง 3. จังหวัดร่วมกับตำรวจภูธรจังหวัด บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด จริงจัง และต่อเนื่อง ควบคู่กับการรณรงค์ให้มีความตระหนัก สร้างจิตสำนึก รับผิดชอบต่อสังคม 4. ทุกภาคส่วนบูรณาการข้อมูลอุบัติเหตุทางถนน 5. เสริมสร้าง ปลูกฝัง สร้างความตระหนักรู้ และจิตสำนึกอย่างจริงจัง เกิดวัฒนธรรมความปลอดภัย

ยิ่งดื่มสมองยิ่งพัง หมอประชาแนะ ดื่มไม่ขับ หลับที่บ้านดีกว่า

นพ.ประชา กัญญาประสิทธิ์ “หมอประชาผ่าตัดสมอง” ศัลยแพทย์ระบบประสาทและหลอดเลือดสมอง รพ.เชียงใหม่ราม กล่าวว่า 84% ของประชากรทั่วโลกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้สูญเสียความสามารถการตัดสินใจ ความมีเหตุผล การควบคุมการเคลื่อนไหว  สูญเสียความสามารถการรับรู้ มองเห็น ได้ยิน และความจำ ยิ่งดื่มยิ่งส่งผลต่อสมอง และเสี่ยงอุบัติเหตุสูง ทั้งนี้ระดับแอลกอฮอล์ในเลือด 0.01-0.05% ทำให้เริ่มตื่นตัว 0.03 – 0.12% โดพามีน (Dopamine) เริ่มหลั่งจะรู้สึกสดชื่น มีความมั่นใจ รู้สึก Relax สดใส  0.08 – 0.25% เริ่มกดสมองส่วนต่างๆ เช่น กดสมองส่วนหน้าเกิดการยั้งคิด กดสมองส่วนทรงตัวทำให้ทรงตัวไม่ได้ กดสมองส่วนที่แปลประสาทตาทำให้ตาเบลอ กดสมองส่วนที่ใช้พูดก็จะพูดช้า กดสมองส่วนที่ทำให้ตัดสินใจส่งผลให้ให้ตัดสินใจผิดพลาดได้ง่ายดาย 0.18 – 0.30% สับสน ความจำเริ่มเสื่อมลง มากกว่า 0.25% จะเริ่มซึมเริ่มหลับ มากกว่า 0.35% ก็ทำให้โคม่า  และมากกว่า 0.45%ทำให้เสียชีวิตได้ 

“ทุกครั้งที่ดื่มสมองจะถูกกด โดยเฉพาะในส่วนที่แปลภาพถูกกด แปลภาพออกมาก็เบลอและส่วนที่ใช้ในการตัดสินใจถูกกดทำให้ตัดสินใจได้ไม่ดี สมองส่วนควบคุมการทรงตัวก็ควบคุมไม่ได้ เลยทำให้เกิดอุบัติเหตุ ซึ่งนำมามาซึ่งความสูญเสียทุกครอบครัวและนำปสู่ความพิการจากอุบัติเหตุซึ่งเป็นผลมาจากแอลกอฮอล์กดสมอง นี่คือระยะแรก และระยะต่อไปถ้าดื่มไปนานๆจะทำให้สมองเสื่อมเป็นอัลไซเมอร์ เส้นเลือดสมองแตก ควบคุมความดันไม่ได้ ทำให้เกิดอัมพาตจากโรคหลอดเลือดสมอง เพราะฉะนั้นปีใหม่นี้ ขอกล่าวว่า ดื่มไม่ขับ หลับที่บ้านดีกว่า” นพ.ประชา กล่าว

หวั่นขยายเวลาเปิด-ปิดสถานบันเทิง มั่นใจยอดอุบัติเหตุพุ่ง

นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.)  กล่าวว่า ปีใหม่หรือเทศกาลต่างๆมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องเตรียมความพร้อมทั้งตัวรถ ตัวคนขับและสภาพเส้นทาง ที่เป็นปัจจัยสำคัญมากที่สุด คือ ตัวคน อยากให้ทุกคนเตรียมความพร้อมให้ดี เนื่องจากว่า หลายปีที่ผ่านมาเราพบว่า  คนทำงานเลิกจากทำงานรีบเดินทาง ไม่ได้พักผ่อน ท้ายสุดไปเสียหลักลงข้างทางก่อนถึงบ้าน ดังนั้นการเตรียมความพร้อมทางร่างกายเป็นเรื่องที่สำคัญมาก โดยเฉพาะก่อนเดินทาง 3-5 วัน อยากจะแนะนำว่า งดตั้งวงดื่มโดยเด็ดขาดสำหรับคนขับ เพราะว่าบางคนก่อนเกิดเหตุจะวงดื่มและเกิดเหตุก่อนเดินทาง ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดการหลับใน

นอกจากนี้เรายังพบว่าในปัจจุบันทุกเช้าเรายังพบว่าคนที่ดื่มแล้วขับยังมาขับรถอยู่ นั่นแปลว่า บนถนนนั้นยังมีความเสี่ยง ต้องใช้ความระมัดระวังจะดีที่สุด ดังนั้นก่อนจะถึงเทศกาล เราควรมีการวางแผนการเดินทาง และให้ 1 ครอบครัวช่วยกันดูแลเฉพาะนักดื่ม แม่ ภรรยา ลูกออกมาทำหน้าที่เตือนนักดื่มได้แล้ว และถ้าท่านยังดื่มควรจะต้องฟังเสียงคนรอบตัว

ส่วนการขยายมาเวลาสถานบันเทิง นายพรหมมินทร์  กล่าวว่า ถ้านำเอาสถิติตัวเลขที่เราทำงานมาหลายปีมาประกอบ ตนเชื่อว่าจะส่งผลกระทบในเชิงที่จะทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้นแน่นอน เนื่องจากการทำงานผ่านมาเราพบว่า การเกิดอุบัติเหตุในช่วงห้าโมงเย็น จะพีคสุดในช่วงสองทุ่มถึงตีสอง และจะลงลงในช่วงประมาณตีห้า ซึ่งตรงนี้คือเรื่องปกติที่เคยเกิด นั่นแปลว่า เมื่อเวลาการดื่มมีมากขึ้นการเกิดอุบัติเหตุจึงมีมากขึ้น หลังจากนี้เมื่อขยายเวลาถึงตีสี่ เราจะคำนวณจากฐานตัวเลขเดิม จะเข้าใจได้ว่าตัวเลขการเกิดอุบัติเหตุจะไม่หยุดที่ตีห้าแล้ว มันจะไปอยู่ที่เจ็ดโมงเช้าอย่างน้อย ดังนั้นกลุ่มเสี่ยงจะต้องระมัดระวังตัวเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นเด็กนักเรียน พระที่ออกบิณฑบาต ตลอดจนคนที่ออกกำลังกายตอนเช้าๆ พ่อค้าแม่ค้าที่ออกไปจ่ายตลอดคนกลุ่มนี้ต้องระวังตัวเพิ่ม

ทั้งนี้ ทาง สคอ. ได้สื่อสารประชาสัมพันธ์ และรณรงค์สร้างความรู้ ความตระหนักแก่ประชาชนผู้ขับขี่อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ก่อนเทศกาล และช่วงเทศกาล โดยผลิตสื่อฯ และชุดข้อมูลการเฝ้าระวังป้องกัน ลดอุบัติเหตุทางถนนสนับสนุนภาคีเครือข่ายทั้งรัฐ และเอกชน กระจายไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ เป็นกรอบ และแนวทางทำงานในพื้นที่ตามนโยบายศปถ. อีกทั้งเทศกาลปีใหม่นี้ได้วางแผนลงพื้นที่ติดตามกรณีอุบัติเหตุใหญ่ที่เกิดช่วงเทศกาลปีใหม่  โดยใช้ข้อมูลจาก ศปถ. ที่รายงานการเกิดอุบัติเหตุรายวัน จัดทำเป็นคลิปวิดีโอสะท้อนผลกระทบ ปัญหา สาเหตุ และข้อเสนอแนวทางแก้ไขขับเคลื่อนในระดับนโยบาย สู่การปฏิบัติให้เกิดความปลอดภัยทางถนนในอนาคต

“ สิ่งที่น่ากังวล คือ ความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มขึ้น จากการอนุญาตให้เปิดสถานบริการได้ถึงตี 4  ขอให้ผู้เกี่ยวข้องยึดมั่นในเงื่อนไขตามกฎกระทรวงมหาดไทย และนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการห้ามขายคนอายุต่ำกว่า 20 ปี – คนเมา ตรวจแอลกอฮอล์คนขับก่อนกลับ หากเกิน 50 mg% จัดที่พักคอย หากไม่รอให้ติดต่อเพื่อนหรือ ญาติพากลับ หรือจัดหารถส่งลูกค้า จะช่วยลดผลกระทบความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนได้” ผอ.สคอ. กล่าวสรุป


You must be logged in to post a comment Login