วันพฤหัสที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

รองนายกฯ “ภูมิธรรม” เปิดฉาก ‘สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16’

On December 22, 2023

รองนายกฯ “ภูมิธรรม” เปิดฉาก ‘สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16’ ภาคีเครือข่ายประกาศเจตนารมณ์ สร้างความเป็นธรรม 3 มติ ‘สุขภาพจิต-จัดการน้ำ-พัฒนาประชากร’ สสส. ร่วมสานสานพลังขับเคลื่อนระบบสุขภาวะทางจิตเพื่อสังคมไทยไร้ความรุนแรง

เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2566 ณ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการ คอนเวนชันเซ็นเตอร์ กรุงเทพฯ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 พ.ศ. 2566 ภายใต้แนวคิด “ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ โอกาสและความหวังอนาคตประเทศไทย” โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานเปิดงาน พร้อมร่วมกับคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และเครือข่ายสมัชชาสุขภาพทั่วประเทศ ประกาศเจตนารมณ์ “สานพลังหน่วยงาน องค์กรภาคี เครือข่าย ร่วมขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะสู่ความเป็นธรรมด้านสุขภาพและสังคม” ขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 ทั้ง 3 มติ 1. “ระบบสุขภาวะทางจิตเพื่อสังคมไทยไร้ความรุนแรง” พัฒนาระบบสุขภาวะทางจิต เอื้อต่อการมีสุขภาวะทางจิตที่ดีสำหรับทุกคนในประเทศไทย 2. “การส่งเสริมความเข้มแข็งกลไกการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่” 3. “การส่งเสริมการพัฒนาประชากรให้เกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพ” พัฒนาเด็กให้เกิดและเติบโตเป็นทุนมนุษย์ที่มีคุณภาพ รากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ

นายภูมิธรรม กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี นำความปลอดภัย สร้างศักดิ์ศรี และนำความภาคภูมิใจมาสู่ประชาชนไทยทุกคน โดยเฉพาะการสร้างและพัฒนาระบบสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพ สามารถรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินและโรคอุบัติใหม่ รวมถึงสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพในระยะยาวให้เกิดความเท่าเทียมและเป็นธรรมของคนทุกกลุ่ม พร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติเมื่อ ต.ค. 2566 อย่างไรก็ตาม คสช. ที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ยังคงมีบทบาทสำคัญในการดูแลด้านยุทธศาสตร์และนโยบายภายใต้คำว่าระบบสุขภาวะที่ครอบคลุมทั้ง 4 มิติ คือ กาย จิต ปัญญา และสังคม พร้อมด้วยกลไกและเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะ หนึ่งในนั้นคือกิจกรรมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เป็นกระบวนการที่ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมสร้างนโยบายสาธารณะ นำไปสู่การตอบโจทย์แก้ไขปัญหาด้านสุขภาวะและคุณภาพชีวิตให้ประชาชน ในขณะที่ประเด็นหลักของสมัชชาฯ ในช่วง 2 ปีนี้ มติต่าง ๆ มุ่งให้ความสำคัญไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม สอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลที่ยึดเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาของประชาชน

นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า หัวใจสำคัญที่จะเกิดขึ้นจากเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 ตลอดช่วง 2 วันนี้ คือการรับรองฉันทมติและแสดงถ้อยแถลงเพื่อร่วมกันขับเคลื่อน 3 มติ ที่ล้วนเป็นนโยบายสาธารณะที่มุ่งตอบโจทย์ประเด็นปัญหาสำคัญของประเทศ ปลายทางของมติเหล่านี้จะถูกนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อรับทราบและมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปดำเนินการตามบทบาทและหน้าที่ต่อไป กิจกรรมของงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 ช่วงวันที่ 21-22 ธ.ค.นี้ ยังมีไฮไลท์สำคัญอีกมาก อาทิ ปาฐกถาพิเศษ “Institutionalizing Social participation for Health and Well-being” โดย Ms.Saima Wazed ว่าที่ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEARO Regional Director Elect) และประธานมูลนิธิ Shuchona Foundation (SF) ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “สานพลังรับมือสังคมสูงวัย ภารกิจร่วมของทุกคน” โดย นพ.อำพล จินดาวัฒนะ สมาชิกวุฒิสภา การประกาศเจตนารมณ์และพิธีลงนามความร่วมมือ “การลดบริโภคเกลือและโซเดียมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ (NCDs)” ระหว่างหน่วยงาน ภาคี และผู้ประกอบกิจการร้านอาหารด้วย

ดร.ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส) กล่าวว่า สถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิตทั้งระดับโลกและประเทศ มีแนวโน้มสูงขึ้นและรุนแรงขึ้น ด้วยภาวะเศรษฐกิจ โรคระบาด การแข่งขันในสังคม รวมถึงปัจจัยทางชีวภาพและกรรมพันธุ์ ทำให้มีผู้ป่วยซึมเศร้าในไทยกว่า 1.5 ล้านคน ผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มขึ้นจาก 1.3 ล้านคนในปี 2558 เป็น 2.3 ล้านคนในปี 2564 ปัญหาการฆ่าตัวตายมีแนวโน้มสูงตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา ขณะที่การเข้าถึงบริการสุขภาพจิตยังเป็นความท้าทาย บุคลากรด้านสุขภาพจิตมีจำกัดและกระจุกตัวในบางพื้นที่ มีจิตแพทย์เพียง 1.3 คนต่อประชากรแสนคน การจัดการระบบป้องกันความรุนแรงของปัญหาสุขภาพจิตและส่งเสริมสุขภาพจิต เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการ สสส. ยกระดับการทำงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเป็น 1 ใน 7 เป้าหมายยุทธศาสตร์ มุ่งเน้น “การสร้างเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตก่อนที่จะเจ็บป่วย” สสส. ร่วมเป็นส่วนหนึ่งสานพลังสนับสนุนการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพครั้งที่ 16 ระบบสุขภาวะทางจิตเพื่อสังคมไทยไร้ความรุนแรง 4 ด้านสำคัญ 1. การสร้างความตระหนักด้านสุขภาพจิตแก่สาธารณะ 2. ส่งเสริม คุ้มครองสุขภาพจิตถ้วนหน้า 3. ส่งเสริมและให้ความคุ้มครองสุขภาพจิตด้วยนโยบายสาธารณะ 4. การพัฒนาการวิจัยและองค์ความรู้ เพราะ “There is no health without mental health : สุขภาพจะดีไม่ได้ หากขาดสุขภาพจิต”


You must be logged in to post a comment Login