- อย่าไปอินPosted 2 days ago
- ปีดับคนดังPosted 3 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 4 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 5 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 6 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 2 weeks ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
เปิดใจหมอศัลยกรรมยูโรวิทยา คว้ารางวัล “มหิดลทยากร” ประจำปี 2566
รางวัล “มหิดลทยากร” เป็นรางวัลเชิดชูเกียรติบุคคลที่เป็นศิษย์เก่าดีเด่น มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้มีคุณธรรมและจริยธรรมแห่งวิชาชีพ สร้างผลงานดีเด่น เป็นแบบอย่างต่อสังคมและประเทศชาติ ทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ จัดโดย สมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ สำหรับรางวัล “มหิดลทยากร” ประจำปี 2566 มีผู้เข้ารับรางวัลจำนวนทั้งสิ้น 10 ท่าน
ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์กฤษฎา รัตนโอฬาร 1 ใน 10 ท่าน ผู้ได้รับรางวัล “มหิดลทยากร” สำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตร์บัณฑิตจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี พ.ศ.2512 ซึ่งอาจนับว่าเป็นบัณฑิตรุ่นแรกของมหาวิทยาลัยมหิดลก็ได้ เพราะมหาวิทยาลัยพึ่งได้รับพระราชทานนามใหม่ เปลี่ยนชื่อจากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยมหิดลในปีนั้น ต่อจากนั้นท่านไปศึกษาต่อชั้นคลินิกที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิตเมื่อปี พ.ศ.2514 ท่านเป็นแพทย์ฝึกหัดและแพทย์ประจำบ้านศัลยศาสตร์ที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และได้รับการบรรจุเป็นอาจารย์สาขาศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เมื่อปี พ.ศ.2518 และมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานตามลำดับ อาทิ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าสาขาวิชาศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ 2 วาระ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ 2 วาระ นายกสมาคมศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ 2 วาระ และรองประธานราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย
ในระหว่างที่ท่านดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ปี พ.ศ.2547-2555 ท่านได้นำพาภาควิชาฯ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง พัฒนาและก้าวหน้าอย่างมากมาย โดยบริหารภาควิชาฯ เชิงกลยุทธ์และนำไปสู่การจัดดำเนินการตามแผนกลยุทธ์ที่สำคัญต่าง ๆ หลายอย่าง อาทิ การจัดตั้งหน่วยแพทยศาสตร์ศึกษาทางศัลยศาสตร์ การพัฒนาระบบฐานข้อมูลการวิจัย การจัดตั้ง Surgical Service Excellent Center ฯลฯ เป็นต้น ท่านได้เป็นผู้ปรับปรุงโครงสร้างของภาควิชาฯ ขึ้นใหม่ โดยเฉพาะทางด้านศัลยศาสตร์ทั่วไป เนื่องจากได้เล็งเห็นว่างานทางด้านศัลยศาสตร์มีความก้าวหน้ามาก อาจารย์แพทย์ควรจะมีความรู้ความสามารถในเชิงลึกให้มากขึ้น และมีความชำนาญทางด้านใดด้านหนึ่งเป็นพิเศษ จึงได้ตั้งสาขาวิชาขึ้นใหม่ ได้แก่ ศัลยศาสตร์ทั่วไป (ระบบทางเดินอาหาร) ศัลยศาสตร์ตับ ตับอ่อน และทางเดินน้ำดี ศัลยศาสตร์หลอดเลือดและปลูกถ่ายอวัยวะ ศัลยศาสตร์เต้านมและต่อมไร้ท่อ ศัลยศาสตร์อุบัติเหตุและเวชบำบัดวิกฤตทางศัลยกรรม ท่านได้ปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนทั้งในระดับก่อนและหลังปริญญา สนับสนุนการทำงานวิจัยและงานทางวิชาการต่าง ๆ ฯลฯ ในปัจจุบันนี้ถึงแม้ท่านเกษียณอายุราชการไปแล้วแต่ท่านยังไม่หยุดทำงาน ยังคงใช้ความรู้ความสามารถในการสั่งสอนลูกศิษย์ที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ตลอดจนร่วมช่วยในกิจกรรมต่าง ๆ ของคณะฯ อยู่สม่ำเสมอ และยังคงดำรงตำแหน่งในองค์กรวิชาชีพหลายแห่ง อาทิเช่น อุปนายกแพทย์สมาคมแห่งประเทศไทยฯ เลขาธิการสมาคมพัฒนาอนามัยแห่งประเทศไทย ที่ปรึกษาสมาคมศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะแห่งประเทศไทยฯ และกรรมการที่ปรึกษาของคลินิกศูนย์การแพทย์พัฒนา เป็นต้น
ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์กฤษฎา รัตนโอฬาร บอกกล่าวถึงผลงานที่โดดเด่นและภาคภูมิใจในช่วงที่ท่านได้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน ระหว่างปี พ.ศ.2541-2548 นั้น ท่านเห็นว่าก่อนหน้านี้การทำการวิจัยในคนไม่ค่อยได้มีระเบียบกติกาเข้มงวดนัก โดยเฉพาะในด้านการคุ้มครองและการปฏิบัติต่ออาสาสมัครวิจัย ในช่วงก่อนที่ท่านจะทำหน้าที่นี้ไม่นาน ได้เริ่มมีการกำหนดกติกาสากลเกี่ยวกับการทำวิจัยในคน เรียกว่า International Conference on Harmonization: Good Clinical Practice (ICH/GCP) ซึ่งท่านเคยมีโอกาสเข้าศึกษาอบรมมาก่อน จึงได้เล็งเห็นว่ากติกาสากลนี้มีความสำคัญมาก งานวิจัยในคนต่อไปถ้าไม่ดำเนินการตามกติกาสากลนี้ ยากที่จะได้รับการยอมรับ ตลอดจนการตีพิมพ์เผยแพร่ ท่านจึงนำมาปรับปรุงวิธีการดำเนินการของคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคนของคณะฯ จัดทำวิธีดำเนินการมาตรฐาน (Standard Operating Procedure) จัดฝึกอบรม ICH/GCP ให้อาจารย์ในคณะฯ หลายครั้ง ท่านได้ร่วมกับกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคนของสถาบันการแพทย์อื่น จัดตั้งชมรมจริยธรรมการวิจัยในคนแห่งประเทศไทย และเป็นวิทยากรเผยแพร่ระเบียบการทำวิจัยที่ถูกต้องให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ในสถาบันต่าง ๆ ตลอดจนให้ความช่วยเหลือสถาบันที่จะจัดตั้งคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน อีกทั้งยังมีส่วนนำไปสู่การออกข้อบังคับแพทย์สภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2544 หมวดว่าด้วยการศึกษาวิจัยและการทดลองในมนุษย์ ทำให้งานวิจัยในคนของประเทศไทยได้เป็นที่ยอมรับเป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ยังมีงานที่ท่านภาคภูมิใจอีกหลายอย่าง อาทิเช่น การมีส่วนร่วมงานวางแผนครอบครัว โดยเฉพาะการทำหมันชาย และการทำหมันชายแบบเจาะ (Non-scalpel vasectomy) ซึ่งได้สร้างชื่อเสียงให้แก่โรงพยาบาลรามาธิบดีมาก ในฐานะเป็นผู้ริเริ่มดำเนินการ ตลอดจนให้การอบรมฝึกสอนจนเป็นที่แพร่หลาย และประเทศไทยประสบความสำเร็จในเรื่องการวางแผนครอบครัวเป็นที่ยกย่องชมเชยจากนานาชาติ งานอีกชิ้นที่ท่านภูมิใจคือ การที่มีโอกาสร่วมเป็นผู้วิจัยยา Phosphodiesterase 5- inhibitor (Sildenafil) Phase 3 ซึ่งเป็นโครงการวิจัยขนาดใหญ่ มีผู้ร่วมวิจัยหลายประเทศทั่วโลก และประเทศไทยเป็น 1 ในไม่กี่ประเทศในแถบเอเชียที่ได้เข้าร่วมการทำวิจัยนี้ การวิจัยประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี นำไปสู่การค้นพบที่ยิ่งใหญ่ คือ ยารับประทานรักษาภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศของผู้ชาย (Erectile Dysfunction) ที่ได้ผลดีเยี่ยม ซึ่งไม่เคยมียารับประทานชนิดใดที่รักษาได้มาก่อน การค้นพบยาตัวนี้มี impact ต่อมาอีกมากมาย อาทิเช่น การพัฒนาความรู้เรื่องสุขภาพเพศชาย (Men’s Health) และชายสูงอายุ (Aging Male) เป็นต้น ท่านอาจารย์กล่าวว่าท่านได้อานิสงส์จากการเข้าร่วมเป็นผู้วิจัยในโครงการนี้เป็นอย่างมาก ท่านได้เรียนรู้ระเบียบและวิธีการทำวิจัยในคนที่ได้มาตรฐานอย่างเข้มข้น เปิดโลกทัศน์ของการทำงานวิจัย และได้นำความรู้นี้มาใช้ เมื่อท่านได้ดำรงตำแหน่งรองคณบดีฝ่ายวิชาการและประธานคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคนของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ในโอกาสต่อมาภายหลังจากเสร็จสิ้นงานวิจัยชิ้นนี้ไปแล้วไม่นาน
ท้ายสุด ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์กฤษฎา รัตนโอฬาร ได้ฝากแนวคิดในการทำงานว่า คนเราจะต้องมี passion คือความรักงาน ความหลงใหล ความอยากที่จะทำงาน และทำหน้าที่ให้ดีที่สุดด้วย ต้องมีการพัฒนาตนเองและเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เพราะความรู้ไม่มีวันสิ้นสุด หมั่นประเมินตนเองอยู่เสมอว่าตัวเราบกพร่องส่วนใด ก็นำไปแก้ไขส่วนนั้น นอกจากนั้นท่านได้เน้นย้ำในเรื่อง ความซื่อสัตย์กับงานในหน้าที่ โดยเฉพาะด้านคุณธรรมและจริยธรรมซึ่งนับว่าเป็นสิ่งสำคัญ และต้องเป็นผู้ให้มากกว่าเป็นผู้รับเสมอ ชีวิตจะมีแต่ความสุข
สำหรับรางวัล “มหิดลทยากร” ประจำปี 2566 จะเข้ารับรางวัล เนื่องในโอกาสครบรอบ “55 ปี วันพระราชทานนาม 136 ปี มหาวิทยาลัยมหิดล” ในวันที่ 2 มีนาคม 2567 ณ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
You must be logged in to post a comment Login