วันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

เผยผลสำรวจวันวาเลนไทน์ “ยาเสพติด-สุรา-การพนัน” ต้นเหตุเกิดรักเป็นพิษ

On February 14, 2024

สิ่งที่คนส่วนมากพูดถึงวันวาเลนไทน์ คือความรักที่สวยสดใส แต่ในชีวิตจริงแล้วบางคนกลับมีความรักที่เป็น Love  toxic หรือรักที่เป็นพิษ คือรักที่ทำให้คนคนนั้นไม่มีความสุข แล้วเราจะจัดการความสัมพันธ์ของรักให้เป็นรักที่ไม่เป็นพิษได้อย่างไร

มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เครือข่ายลดปัจจัยเสี่ยง มูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะ (สสส.) จัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในโอกาสวันวาเลนไทน์ ประจำปี 2567 Love is not toxic รักไม่เป็นพิษ โดยมีการเสวนา เรื่อง “สัญญาณเตือน…ก่อนรักเป็นพิษ  และการจัดการความสัมพันธ์”

ในการเสวนาครั้งนี้ “เซียร์” ฑิฆัมพร  ฤทธิ์ธาอภินันท์   ดารา นักแสดง บอกว่า ความรักไม่ได้จำกัดเฉพาะความรักของคนหนุ่มสาว แต่จะเป็นความรัก ความสัมพันธ์ในหลายรูปแบบ เช่น เพื่อนครอบครัว ในอดีตตนเองก็เคย toxic กับคำพูดของคนในกองถ่าย ที่ชอบติเรื่องรูปร่าง การเดินของตนเอง ด้วยคำพูดที่เราไม่ชอบ เช่น หุ่นแบบนี้ต้องอุ้มพระเอกแล้ว ไม่ใช่ให้พระเอกอุ้ม ซึ่งอดีตตัวเองก็ไม่หุ่นผอมบาง เมื่อได้ยินคำพูดแบบนี้ทำให้ไม่สบายใจ แต่คนรอบข้างกลับหัวเราะกับคำพูดเหล่านี้จนทำให้ตนเองไม่อยากไปกองถ่าย ไม่มีความสุข ทำอย่างไรก็ไม่เป็นที่ยอมรับจากพวกเขา ซึ่งเราก็พยายามทำให้เหมือนคนอื่น สุดท้ายเราพบว่า เรารู้สึกไปก็เท่านั้น  เราจะให้ค่ากับคนเหล่านั้นเหรอ ผลงานคือสิ่งที่สะท้อนตัวเรา อะไรที่ปิดความสว่างตัวเรา เราก็เอาออกไป

นั่นคือความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนที่เป็น toxic  ของเซียร์ พอโตขึ้นมามีความรักความสัมพันธ์แบบหนุ่มสาวในช่วงนั้น กลับกลายเป็นความรักที่ถูกควบคุมโดยไม่รู้ตัวเอง พร้อมทำทุกอย่างให้เขา จนเราไม่กล้าที่จะบอกความรู้สึกของตนเอง ไม่มีความคิดเป็นของตนเอง แต่เรากลับคิดว่านั่นคือการเสียสละ เราเลือกจะเติมความสุขของเราจากการทำงานแทนเพื่อเป็นความมั่นคงทางจิตใจ แต่สุดท้ายความรักในครั้งนั้นเขาก็เป็นผู้ที่จะเลือกเดินจากมา หากย้อนมาถ้าเป็นตอนนี้เราอาจจะเป็นคนเลือกเดินออกมาก็ได้

“การสูญเสียตัวตน มันก็ toxic  เหมือนกัน เราจะรู้เท่าทันความรักได้ เราจะต้องรู้ว่าอะไรคือความสุของเรา อะไรคือสิ่งที่ไม่สุข ไม่มีใครบอกเราได้ สำคัญเมื่อรู้ความสัมพันธ์นั้นมันไม่ใช่แล้วกล้าจะเดินออกจากความสัมพันธ์นั้น เมื่อใจไม่สุขอย่าถือสิ่งนั้นนาน” เซียร์ สรุปเรื่องราวของความรักเป็นพิษ

ยาเสพติด-สุรา-การพนัน สัญญาณเตือนรักเป็นพิษ

นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส.  กล่าวว่า เนื่องในวันแห่งความรัก หรือวันวาเลนไทน์ 14 กุมภาพันธ์ สสส. ต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการสานพลังให้ทุกคนอยู่ร่วมในสังคมด้วยความความรักเกื้อกูลกัน จึงถือโอกาสสื่อสารสุข สะท้อนความรักที่งดงามทุกรูปแบบ ในทุกด้าน รวมถึงให้รับรู้และเข้าใจการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ไม่เป็นพิษ (Toxic) รู้สัญญาณเตือนที่อาจจะนำไปสู่การใช้ความรุนแรง ทั้งความคิด คำพูด หรือพฤติกรรมบางอย่าง ที่สำคัญคืออยู่ให้ห่างจากปัจจัยกระตุ้นรักที่เป็นพิษ ทั้งเหล้า ยาเสพติด พนัน ซึ่งเห็นได้จากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ที่เก็บข้อมูลข่าวความรุนแรงในครอบครัวที่เผยแพร่ผ่านสื่อ ปี2565 มีถึง 1,131 เหตุการณ์ เพิ่มจากปี 2564 กว่า 3 เท่า โดยมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นตัวกระตุ้น 347 ข่าว คิดเป็น 30.7% และยาเสพติด 272 ข่าว คิดเป็น 24% ขณะที่เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยงสำรวจเยาวชนอายุ 13-25 ปี 2,000 คน ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบปัจจัยร่วมที่ทำให้คู่รักเปลี่ยนไป อันดับ 1 ยาเสพติด 58.70% การพนัน 48.60% และ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 43.35% โดยเฉพาะการเลียนแบบคนในครอบครัวที่ดื่มแอลกอฮอล์แล้วทำความรุนแรง 7.85% 

นางสาวรุ่งอรุณ กล่าวว่า  ทุกวัยมีความเสี่ยงที่รักจะเป็นพิษ ไม่เฉพาะกับกลุ่มเด็กและเยาวชน ในเรื่องดังกล่าวกลุ่มเยาวชนจะเป็นปัญหาหลักของพวกเขาคือรักครั้งแรก และถ้าเขาไปเจอปัญหาต่างๆเข้ามารุมเร้าอีกทั้งเรื่องปัญหาการพนัน ยาเสพติดหรือแค่การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพียงครั้งเดียว แต่พลาดทั้งชีวิต เป็นเรื่องที่น่าห่วงมาก

ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งที่เรามองข้ามเลยไม่ได้ คือกลุ่มผู้สูงวัย กลุ่มคนชรา กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่น่าห่วง เป็นกลุ่มที่เกษียณแล้ว อยู่กัน 2 คนตายาย ไม่ได้มีครอบครัวอื่นหรือลูกหลานมาดูแล ลูกหลานไม่ได้ใกล้ชิด  ปัญหาหลักของตอนนี้คือ  การพนันที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งตอนแรกอาจจะเล่นเพื่อความบันเทิงความสนุก พอเสียอาจจะทำให้เงินที่เกษียณหมดไป สำหรับกลุ่มวัยทำงานเป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วงคือมีการใช้ความรุนแรงที่มันอาจถึงขั้นเสียชีวิต เพราะด้วยความหุนหันพันแล่น ทำให้คู่รักฆ่ากันเอง ที่เราเห็นเป็นข่าวกันเยอะ

เมื่อพูดถึงวันวาเลนไทน์ส่วนใหญ่เราจะนึกความรักของหนุ่มสาวเป็นหลัก ในส่วนของ สสส.เราอยากเน้นไปที่กลุ่มวัยรุ่น เพราะเรามีความเชื่อที่ว่า กลุ่มวัยรุ่นกลุ่มนี้ถ้ามีภูมิคุ้มกันที่ดีพอ มีข้อมูลที่เพียงพอ เขาจะใช้ภูมิคุ้มกันนี้ได้ตลอดชีวิต เราเลยให้ความสำคัญกับกลุ่มนี้

ที่ผ่านมา การทำงานของ สสส.กับเยาวชนค่อนข้างประสบความสำเร็จ เพราะเราเปิดพื้นที่ให้เขาได้แสดงออกถึงการปกป้อง เป็นผู้ถ่ายทอด เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง เมื่อเยาวชนเข้ามาทำกิจกรรมกับเรา เขาจะได้รับข้อมูลเขาก็จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง และทำให้พฤติกรรมที่เขาเปลี่ยนแปลงมีความมั่นคงมากขึ้น ทำให้เขาเลิกดื่ม เลิกสูบและไม่กลับไปอีก ซึ่งเขาจะได้เห็นจากเคสต่างๆที่มาจากประสบการณ์จริง มาพูดคุยกันจริง ทุกครั้งที่มีคำว่าเกือบแล้วทำให้เขารู้ว่าความจริงแล้วคือเรามีข้อมูลเกือบไม่ครบแต่คิดว่าตัวเองรู้เยอะแล้วเราจะพลาด สิ่งเหล่านี้ทำให้เขานำไปบอกต่อเพื่อนได้ เป็นการดีที่เราให้เยาวชนกับเยาวชนพูดคุยกันเอง  นางสาวรุ่งอรุณ กล่าว

“ในวันนี้ครอบครัวที่อบอุ่นเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ซึ่งครอบครัวอาจดูแลดี แต่เมื่อออกนอกบ้าน มาเจอสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นสิ่งที่ใหญ่ที่สุดในสังคมไทย เช่น เมื่อออกจากบ้านมาเจอโต๊ะพนันฟุตบอล ร้านขายน้ำกระท่อม เด็กจะรู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติ มันก็เปลี่ยนความคิดของเขาแล้ว ฉะนั้นเชื่อว่าสังคมต้องเข้ามาช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุด” นางสาวรุ่งอรุณ กล่าวสรุป

โลกหลายใบต้นตอปัญหารักเป็นพิษ หวั่นวัยรุ่นไม่สมหวังในรักกลายเป็นโรคซึมเศร้า

นางสาวปาลิณี  ต่างสี ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง กล่าวว่า จากการการสำรวจความคิดเห็นเยาวชน 13 – 25 ปี ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 2,000 ตัวอย่างเรื่อง  Love is not toxic รักไม่เป็นพิษ พบว่าพฤติกรรมที่ทำให้รักเป็นพิษคือการนอกใจ 45.55 % การลดทอนคุณค่า 42.85 % ใช้ความรุนแรงทั้งคำพูดและการกระทำ 37.10 % ความคาดหวัง การกดดัน 33.30 % การแสดงความเป็นเจ้าของ 32.20 % ความเงียบ ถามไม่ตอบ 28.80 % ดื่มเหล้า เล่นพนันยาเสพติด 15.75 % ชอบเหวี่ยงชอบวีน 15.10 % โมโหร้าย ทำลายข้าวของ 14.60 % ขึ้นเสียง แสดงอำนาจ ชักสีหน้าใส่ 14.60 % เอาเรื่องส่วนตัวไปเล่าให้คนอื่นฟัง 7.60 % ติดเที่ยวกลางคืน ปาร์ตี้ 6.45 % เอาเปรียบเรื่องเงิน 5.55 % และ อื่น ๆ 0.55 %

ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดความรุนแรง คือ การควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้42.10 % การเลี้ยงดูจากครอบครัว 17.75 % ประสบการณ์ชีวิต 10.70 % พฤติกรรมเลียนแบบจากคนในครอบครัวที่ใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 7.85 % เป็นต้น ส่วนปัจจัยร่วมที่ทำให้คู่รักเปลี่ยนไป คือ ยาเสพติด 58.70 % พนัน 48.60 % เหล้า 43.35 % ติดโซเชียลมีเดีย 39.35 % การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ลงตัว 38.10 % ติดหนี้ 34.30 % เกมส์ 32.25 % อื่นๆ  5.35 %

นางสาวปาลิณี  กล่าวว่า เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมา พบว่ามีการโพสต์ข้อความทางโซเชียลฯ เพื่อระบายปัญหาความสัมพันธ์ของคู่รักมากที่สุด 36.55 % โพสต์เพื่อตำหนิ หรือประชด 35.60 % โพสต์โอ้อวด 14.90 % โพสต์เพื่อเรียกร้องความสนใจของคู่รัก  12.55 % โพสต์อื่นๆ 0.40 %

ทั้งนี้เมื่อเกิดปัญหากลุ่มตัวอย่างเลือกจัดการด้วยการพาตัวเองออกจากความสัมพันธ์ หรือเลิก 42.30 % สร้างพื้นที่ปลอดภัย สบายใจ 34.30 % หากิจกรรมผ่อนคลาย เช่น ธรรมะ เล่นเกมส์ 16.05 % ส่วนคนที่จะปรึกษามากที่สุดคือ เพื่อน 62.05 % พ่อแม่ คนในครอบครัว 21.60 % ครู/ อาจารย์ 9.50 % สื่อออนไลน์ 3.75 % และอื่นๆ 3.10 %

 นางสาวปาลิณี กล่าวต่อว่า สังคมของวัยรุ่นน่าเป็นห่วงเกี่ยวกับเรื่องความสัมพันธ์ที่ Toxic เพราะเป็นสัญญาณเตือนที่อาจจะนำไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้า และการใช้ความรุนแรงระหว่างคู่รัก และเห็นปัจจัยเสี่ยงที่เข้ามาเป็นปัจจัยร่วมที่จะทำให้ความรักเกิดปัญหา ไม่ว่าจะเป็นยาเสพติด พนัน เหล้า ซึ่งพวกเราอาจจะต้อง รับรู้ เข้าใจปัญหา และร่วมกันหาทางออกกับปัญหาเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม การสำรวจพบว่า ยังมีคำพูดดีๆ ที่สามารถฮีลใจ หรือทำให้รู้สึกดีขึ้น คือ เหนื่อยมั้ย 72.20 % สู้ๆนะ คุณโอเคมั้ย 50.70 % รักนะจุ๊บๆ 49.50 % กอดนะ 47.85 % เป็นห่วงนะ 45 % กินอะไรมายัง 38.95 % เงินไม่พอบอกนะ 37.10 % วันหยุดนี้ไปเที่ยวไหนดี 34.75 %  ทำทุกอย่างเพื่อเรานะ 23.30 % และอื่นๆ 0.65 %

สุดท้ายวันวาเลนไทน์จะเป็นการความรักแบบไหนก็ตาม เราจะต้องรู้เท่าทันของความรัก เมื่อรู้ว่าความสัมพันธ์นั้นไม่ได้สร้างความสุข ความภูมิใจในตนเอง เราจะต้องกล้าที่จะเดินออกโดยจะเฉพาะความสัมพันธ์ที่มีเรื่องของยาเสพติด-สุรา-การพนันเข้ามาเกี่ยวข้อง


You must be logged in to post a comment Login