วันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

สสส.จับมือเครือข่ายหนุนชุมชนสร้างพื้นที่ปลอดภัยยาเสพติด

On February 21, 2024

ปัญหายาเสพติด-คนติดยา เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อคนในชุมชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นปัญหาที่คนในชุมชนไม่อยากเข้าไปเกี่ยวข้อง จะดีหรือไม่ ถ้าทุกชุมชนสร้างพื้นที่ปลอดภัยยาเสพติด เพื่อป้องกันคนในชุมชนและลูกหลานไม่ให้ตกเป็นทาสของยาเสพติด โดยคนในชุมชนช่วยการออกแบบสร้างพื้นที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่เหมาะกับบริบทของพื้นที่นั้นๆ และให้ภาครัฐและเครือข่ายเข้ามาช่วยสนับสนุนการทำงานให้ขับเคลื่อนไปได้อย่างมั่นคงและถาวร

สร้างพื้นที่ปลอดภัยต้องเน้นรับฟัง ไม่ตัดสิน ไม่ตีตรา มอบโอกาส และสร้างความเข้าใจ

ดร.สมคิด แก้วทิพย์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้  โครงการเครือข่ายภาคประชาชน สร้างพื้นที่ปลอดภัยและสร้างเสริมชุมชนสุขภาวะ กล่าวในงานประชุมสัมมนาแกนนำเครือข่ายภาคประชาชน เพื่อร่วมออกแบบแนวทางการปฏิบัติการป้องกันปัญหายาเสพติด โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ว่า ในอดีตแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดจะเป็นลักษณะ “การใช้อำนาจบังคับ” กล่าวคือ ผู้มีอำนาจทางกฎหมายในการสั่งการ ตรวจเจอแล้วจับ ขณะที่ชุมชนมองว่าปัญหายาเสพติดเป็นเรื่องปัจเจก ที่หากจะแก้ไขต้องแก้ที่บุคคล หรือเรียกว่า “ตัวใครตัวมัน” ขณะที่แนวทางการทำงานของ สสส. ที่ใช้ชุมชนเป็นฐานในการจัดการปัญหายาเสพติดที่รุนแรงขึ้น โดยให้ความสำคัญการสร้างพื้นที่ปลอดภัย ที่ให้ทุกคนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม มีต้นแบบพื้นที่ปลอดภัยจากยาเสพติดที่เห็นภาพชัดเจนคือ ที่สะเมิง จ.เชียงใหม่ ที่ใช้ศิลปะในการสร้างพื้นที่ปลอดภัย หรือเรียกว่า “ศิลปะสื่อสุข” สามารถป้องกันเด็กได้ 40 คน ป้องกันกลุ่มเสี่ยงได้ 30 คน และเปลี่ยนจากผู้เสพให้เลิกได้ 6 คน

ดร.สมคิด  กล่าวว่า เราต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ทุกคนไม่ว่าจะเป็นลูกหลาน ครอบครัว หรือข้าราชการ ให้มีพื้นที่ได้มาพูดคุยกันในรูปแบบทำความเข้าใจกันว่าเรื่องปัญหายาเสพติดไม่ใช่เรื่องปัญหาของบุคคล มันเป็นเรื่องของปัจจัยแวดล้อม เป็นเรื่องของสังคม ที่ผ่านมาสังคมเป็นรูปแบบตัวใครตัวมัน เรื่องของยาเสพติดจึงเป็นผลกระทบจากปัจจัยทางสังคม เพราะฉะนั้นการสร้างพื้นที่กลาง ที่คนทุกคนรู้สึกปลอดภัยและได้มาพบปะกันพูดคุยและเข้าใจกันและอยู่ร่วมกัน

ที่ผ่านมา ผู้ที่ติดยาเสพติดมักถูกสังคมมองว่าเป็นคนเลว เราจึงต้องมีพื้นที่ปลอดภัยเพื่อให้ชุมชนได้เขามาช่วยบำบัด รักษาผู้ที่ติดยา และให้โอกาสในการประกอบอาชีพ และสร้างความภาคภูมิใจและให้เขาเข้ามามีบทบาทในสังคม ปรับเปลี่ยนทัศนะคติของคนในชุมชนที่มีต่อคนติดยา และนี่คือปัจจัยหลักที่ทำให้ชุมชนปลอดภัยประสบความสำเร็จ ซึ่งแต่ละพื้นที่แนวทางการทำงานจะไม่เหมือนกัน แต่เราสามารถแลกเปลี่ยนความรู้แต่ละชุมชนได้

ส่วนปัญหาอุปสรรคใหญ่ที่ต้องใช้เวลานาน คือการปรับทัศนะคติในการทำงานเรื่องยาเสพติด ถ้าเอาเรื่องยาเสพิตดออกหน้าโดยตรงคนจะรู้สึกกลัว ความรุนแรงรู้สึกไม่ปลอดภัยจะเกิดขึ้น ฉะนั้นการจัดระบบความสัมพันธ์กับคนที่มาร่วมกันทำงานทั้งภาครัฐและประชาชนระดับปฏิบัติการ โดยเฉพาะภาครัฐที่มีมิติการทำงานยังไม่สัมพันธ์กับการทำงานที่สวนกับอำนาจทางกฎหมาย และถ้าจะให้งานขับเคลื่อนไปได้ การหนุนเสริมให้พื้นที่ปลอดภัยได้ทำงานแบบเข้าอกเข้าใจกันเป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าบางครั้งมันเป็นการสร้างคามเข้าใจที่ละเอียดอ่อนของคนทำงานมาก

 “การสร้างพื้นที่ปลอดภัยในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างหลายหลาย แต่มีหลักการสำคัญคือ มีพื้นที่ตรงกลาง เน้นรับฟัง ไม่ตัดสิน ไม่ตีตรา มอบโอกาส และสร้างความเข้าใจ มีกลไกที่ช่วยประสาน เชื่อมโยงภายในและภายนอกที่เหมาะสม สิ่งสำคัญที่ทำให้โครงการฯ สำเร็จคือ การเปิดโอกาสให้ชุมชนดำเนินการตามศักยภาพของตัวเอง ทำให้ชุมชนมีอิสระในการดำเนินงานที่สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ดร.สมคิด กล่าว

สสส.หนุนสร้างพื้นที่ปลอดภัย 5 ภูมิภาค ย้ำไม่ทิ้งใครไว้ที่หลัง

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์  ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในงานประชุมสัมมนาแกนนำเครือข่ายภาคประชาชน เพื่อร่วมออกแบบแนวทางการปฏิบัติการป้องกันปัญหายาเสพติด โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ว่า สสส. สนับสนุนโครงการเครือข่ายภาคประชาชนสร้างพื้นที่ปลอดภัยจากยาเสพติดและเสริมสร้างชุมชนสุขภาวะ ร่วมขับเคลื่อนงานป้องกันปัญหายาเสพติดในระดับพื้นที่หมู่บ้านชุมชนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 ทำให้เกิดพื้นที่ต้นแบบที่สามารถสร้างพื้นที่ปลอดภัยจากปัญหายาเสพติด 25 แห่ง ใน 48 จังหวัด ทำให้เกิดแกนนำ ซึ่งเป็นกลไกการขับเคลื่อนงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ทั้งระดับชุมชนหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ภูมิภาค และแกนนำเครือข่าย 5 ภูมิภาค  2,683 คน จากประสบการณ์และบทเรียนการทำงานในพื้นที่ของแกนนำต่าง ๆ นำไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้การจัดการปัญหายาเสพติดไปขยายผลสู่พื้นที่ชุมชนอื่น ๆ ได้

หลักการการขับเคลื่อนงานป้องกันยาเสพติดในชุมชน ต้องมีฐานมาจาก 1. พลังสังคม คือ กลไกภาคประชาชน ถือเป็นส่วนสำคัญของการขับเคลื่อนงาน จึงจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาทักษะและองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อให้มีศักยภาพ และเท่าทันสถานการณ์ปัญหายาเสพติดที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว 2. พลังวิชาการ คือ เครือข่ายวิชาการ เช่น ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) มูลนิธิศูนย์วิชาการสารเสพติด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ต้องพัฒนาข้อมูลเชิงวิชาการ พัฒนาองค์ความรู้ เพื่อนำไปใช้ขยายผลการทำงาน 3.พลังนโยบาย คือ การนำบทเรียนจากการทำงานของกลไกภาคประชาชน และข้อมูลวิชาการ มาพัฒนาสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหายาเสพติดทั้งในระดับพื้นที่และระดับชาติ

นพ.พงศ์เทพ กล่าวว่า ปัญหายาเสพติด คือ โรคสังคมยุคที่ 2 คือโรคที่เกิดจากการแพ้ใจตนเองคือโรคNCDs และมีโรคยุคที่3 โรคสังคมที่ป่วยหนัก คือโรคจากยาเสพติด เป็นโรคที่เกิดในสังคมระบบทุนนิยม ที่แก้ไขได้ยาก ต้องใช้สังคมแก้ เพราะยาเสพติดเป็นงานที่ซับซ้อน

“การเห็นคุณค่าของตัวเอง คือความสุขชนิดหนึ่ง ถ้าคนไม่เห็นคุณค่าตนเอง จะหันไปพึ่งพายาเสพติดในรูปแบบต่าง เช่น ติดเหล้า บุหรี่ ยาเสพติด…การมีชุมชนต้นแบบจะมีการมาแลกเปลี่ยนการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง โดยให้ชาวบ้านมาสื่อสารกันเอง เป็นการเรียนรู้ร่วมกัน พัฒนาร่วมกันเพื่อสร้างสังคมที่เอื้ออาทรโดยไม่ทิ้งใครไว้ที่หลัง”นพ.พงศ์เทพ กล่าวว่า

ด้าน ผศ.ดร.นพ.อภินันท์ อร่ามรัตน์ ประธานมูลนิธิศูนย์วิชาการสารเสพติด และผู้อำนวยการศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การแก้ปัญหาสิ่งเสพติดต้องใช้กลไกและอำนาจรัฐที่มีประสิทธิภาพในการติดตามแก้ไขปัญหาที่มีความต่อเนื่อง โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การเปลี่ยนกรอบความคิดของชุมชนที่มีต่อสิ่งเสพติด ซึ่งโครงการเครือข่ายภาคประชาชนสร้างพื้นที่ปลอดภัยจากยาเสพติดและเสริมสร้างชุมชนสุขภาวะ สนับสนุนโดย สสส. มีเป้าหมายการทำงานคือการสร้างพื้นที่ปลอดภัย และสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยมีกลไกการทำงานคือ 1. ระบบความสัมพันธ์ที่ดี 2. ใช้ความเข้าใจ เปิดใจการการพูดคุย 3. เป็นการจัดการเชิงบวก4.พื้นที่การเรียนรู้ที่พัฒนาคนควบคู่ไปกับการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เยาวชนในรูปแบบที่สร้างสรรค์ การออกแบบเพื่อยกระดับการเรียนรู้ร่วม ทั้งนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาชุดความรู้จากการถอดบทเรียนการทำงานกับชุมชน เพื่อนำไปใช้ขยายพื้นที่ทำงานทั่วประเทศ ตลอดจนการขยายเป็นพื้นที่ปลอดภัยอย่างสร้างสรรค์


You must be logged in to post a comment Login