วันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

สสส.- สถาบันยุวทัศน์ฯ จับมือศูนย์การเรียน 6 แห่ง สร้างความรอบรู้สุขภาพ ลดปัจจัยเสี่ยงบุหรี่ เหล้า พนัน ยาเสพติด

On February 27, 2024

สสส.- สถาบันยุวทัศน์ฯ จับมือสถานศึกษาขั้นพื้นฐานประเภทศูนย์การเรียน 6 แห่ง สร้างความรอบรู้สุขภาพ ลดปัจจัยเสี่ยงบุหรี่ เหล้า พนัน ยาเสพติด หลังพบเด็กนอกระบบการเรียนสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงถึง 32% สูงกว่าเด็กในระบบมากกว่าเท่าตัว

วันที่ 27 ก.พ. 2567 ที่โรงแรมทีเคพาเลซ สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาทางวิชาการเรื่อง “กระบวนทัศน์ใหม่ : ขับเคลื่อนงานสุขภาพของเยาวชนการศึกษานอกระบบ” พร้อมพิธีลงนามความร่วมมือกับสถานศึกษาขั้นพื้นฐานนอกระบบประเภทศูนย์การเรียน ตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 สำหรับการขยายโอกาสและพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพสำหรับเยาวชนการศึกษานอกระบบ

นายพิทยา จินาวัฒน์ กรรมการบริหารแผน คณะที่ 1 (สสส.) เปิดเผยว่า สสส. มีเป้าหมายลดอัตราการมีพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพของเด็กและเยาวชนครอบคลุมทุกกลุ่มทั้งในระบบโรงเรียน และการศึกษานอกระบบ แต่ยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงกลุ่มเด็กและเยาวชนการศึกษานอกระบบ สสส. จึงขยายการทำงานขับเคลื่อนสุขภาวะของเด็กและเยาวชนการศึกษานอกระบบ โดยนำร่องกับสถานศึกษาขั้นพื้นฐานนอกระบบประเภทศูนย์การเรียน ตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 จำนวน 6 แห่ง ครอบคลุมการจัดการศึกษาทั้งเยาวชนนอกระบบทั่วไปในสถานประกอบการ และที่อยู่ในความดูแลของกระบวนการยุติธรรมและสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน มีเด็กรวม 600 คน เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีความรู้ ความตระหนักและมีพฤติกรรมที่ดีในประเด็นบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า ยาเสพติด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการพนัน

“อัตราการสูบบุหรี่ของเด็กและเยาวชนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง จากผลสำรวจการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบในเยาวชนไทย ปี 2565 ภายใต้โครงการ Global Youth Tobacco Survey ขององค์การอนามัยโลก พบเด็กและเยาวชนอายุ 13-15 ปี สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 5.3 เท่า จาก 3.3% ในปี 2558 เพิ่มเป็น 17.6% ในปี 2565 รวมถึงการกลยุทธ์การตลาดของบริษัทบุหรี่ทำให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าได้ง่ายยิ่งขึ้น” นายพิทยา

นายเมธชนนท์ ประจวบลาภ ผู้อำนวยการสำนักกิจกรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ยท. กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือเพื่อพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพสำหรับเยาวชนการศึกษานอกระบบ ร่วมกับสถานศึกษาขั้นพื้นฐานนอกระบบประเภทศูนย์การเรียนครั้งนี้ ได้วางแผนการขับเคลื่อนงานอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ การพัฒนาบุคลากรทางการศึกษานอกระบบ การพัฒนายกระดับความรอบรู้ด้านปัจจัยเสี่ยงสุขภาพของเด็กและเยาวชน โดยร่วมกับคณาจารย์แขนงวิชาการศึกษานอกระบบ สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ทำการวิจัยและพัฒนาหลักสูตร กิจกรรมเรียนรู้ และจัดทำคู่มือแนวทางการจัดกิจกรรมด้านปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพสำหรับเด็กและเยาวชนการศึกษานอกระบบให้สอดคล้องกับบริบทและแบบแผนการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน เพื่อให้สามารถถ่ายทอดความรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางสุขภาพของตนเองและส่งผลต่ออัตราการบริโภคบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้าน้อยลง

“เมื่อปี 2566 ยท. ได้ทำวิจัยเรื่องแนวทางการพัฒนาสื่อการเรียนรู้เพื่อสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยาสูบของเด็กและเยาวชนในระบบการศึกษาและการศึกษานอกระบบ  พบข้อมูลน่าสนใจว่าเด็กและเยาวชนที่ศึกษานอกระบบมีอัตราการบริโภคบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้าสูงถึง 32% ในขณะที่เด็กและเยาวชนในระบบอยู่ที่ 15% ทั้งนี้ เป็นเพราะมีข้อจำกัดด้านการเข้าถึงในการรณรงค์ให้ความรู้ หรือจัดกิจกรรมการเรียนรู้เหมาะสม มีความเป็นอิสระ กำกับและพึ่งพาตนเองสูง บางคนประกอบอาชีพหรืออยู่ในสถานประกอบการ ดังนั้นกิจกรรมการรณรงค์และส่งเสริมความรอบรู้ด้านปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ จึงควรถูกออกแบบให้เหมาะสมกับลักษณะเฉพาะของเด็ก” นายเมธชนนท์ กล่าว


You must be logged in to post a comment Login