- ปีดับคนดังPosted 16 hours ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 2 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 3 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 4 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 7 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
มหิดล เชิดชูศิษย์เก่านักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวภาพ และพันธุวิศวกรรม รับรางวัล “มหิดลทยากร”
ทุกปี สมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีการมอบรางวัล “มหิดลทยากร” ให้แก่ศิษย์เก่าดีเด่น มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้มีคุณธรรมและจริยธรรมแห่งวิชาชีพ สร้างผลงานดีเด่น เป็นแบบอย่างต่อสังคมและประเทศชาติ ทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ โดยปี 2566 ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วัฒนาลัย ปานบ้านเกร็ด ศิษย์เก่าคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับรางวัลมหิดลทยากร ด้วยความเชี่ยวชาญทางสาขาเทคโนโลยีชีวภาพ มีผลงานทางงานวิจัยและวิชาการมากมายเป็นที่ยอมรับ ทั้งในด้านการวิจัยที่เป็นการสร้างองค์ความรู้และเผยแพร่ทั้งในระดับชาติ และนานาชาติ รวมถึงการนำผลงานวิจัยไปประยุกต์ใช้ในเชิงพาณิชย์ พัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้แก่องค์กรสถาบันการศึกษา องค์กรภาครัฐและภาคเอกชน
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วัฒนาลัย ปานบ้านเกร็ด สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาชีววิทยา และปริญญาโท สาขาจุลชีววิทยา จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ต่อมาได้รับทุนจากองค์การ UNESCO ไปทำวิจัยโดยใช้ระยะเวลา 1 ปี ในสาขา Microbial Technology ที่มหาวิทยาลัยโอซาก้า หลังจากนั้น ได้รับทุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นศึกษาในระดับปริญญาเอก และได้รับปริญญา Doctor of Engineering จากมหาวิทยาลัยโอซาก้า ซึ่งอาจารย์ศึกษาต่อในสาขาพันธุวิศวกรรมโดยมีการตัดต่อ DNA และเพิ่มปริมาณการแสดงออกของยีนเพื่อปรับปรุงสายพันธุ์จุลินทรีย์ ซึ่งเป็นศาสตร์ใหม่ในแวดวงวิทยาศาสตร์ในขณะนั้น หลังจากสำเร็จการศึกษาได้กลับมารับราชการที่ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญในการร่วมก่อตั้งภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่การร่วมจัดทำหลักสูตรเทคโนโลยีชีวภาพทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก จัดทำคู่มือการใช้ห้องปฏิบัติการ จัดหาอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ จนปัจจุบันสาขาเทคโนโลยีชีวภาพเป็นสาขาที่สำคัญ เพราะเป็นศาสตร์ที่บูรณาการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์นอกจากนี้ ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพได้รับการประเมินระดับดีเยี่ยมหลายปีติดต่อกันจากการประเมินคุณภาพผลงานวิจัยเชิงวิชาการจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
ทั้งนี้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วัฒนาลัย ยังผลิตผลงานวิจัยในสาขาจุลชีววิทยาและอณูชีววิทยามากมาย โดยมีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการมากกว่า 100 เรื่อง และมีผลงานที่ได้รับการจดสิทธิบัตรผลงานวิจัยในประเทศญี่ปุ่น 3 เรื่อง และได้ทำงานบริการวิชาการ เพื่อให้งานวิจัยต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ได้ ผลงานที่โดดเด่นในด้านการวิจัยทางการแพทย์ร่วมกับภาคเอกชน ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพประชาชน ได้แก่ การเป็นหัวหน้าทีมในการวิจัยและสนับสนุนในการสร้างสายพันธุ์เพื่อผลิตวัคซีนป้องกันโรคไอกรนชนิดไร้เซลล์ตัวแรกของประเทศไทย ซึ่งภาคเอกชนได้พัฒนาต่อยอดผลิตเป็นวัคซีนรวมป้องกันโรคไอกรน คอตีบ และบาดทะยัก (TdaP) ได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข นำไปผลิตเชิงพาณิชย์และจัดจำหน่ายไปทั่วโลก นับว่าเป็นวัคซีนที่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันและมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคไอกรนแบบครบวงจร และยังมีการทำงานวิจัยที่มีประโยชน์ต่อวงการอุตสาหกรรมอยู่หลายครั้ง เช่น งานวิจัยที่ได้ทำร่วมกับภาคเอกชน เพื่อพัฒนาเป็นอาหารเสริมเชื้อจุลินทรีย์โปรไบโอติก โดยได้อนุญาตให้ใช้เชื้อ Pediococcus pentosaceus รหัส P7 เพื่อนำไปใช้สร้างผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพ
นอกจากนี้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วัฒนาลัยยังทำหน้าที่เป็นประธานอนุกรรมการความปลอดภัยทางชีวภาพด้านจุลินทรีย์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และเป็นคณะกรรมการเทคนิคด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ มีส่วนสำคัญในการจัดทำคู่มือประเมินความปลอดภัยในการใช้จุลินทรีย์ดัดแปลงพันธุกรรมของประเทศ ทั้งในระดับห้องปฏิบัติการและระดับอุตสาหกรรม ร่วมทำหน้าที่ตรวจสอบ กำกับดูแลและควบคุมในการนำสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมและผลิตภัณฑ์ เช่น จุลินทรีย์ เอนไซม์ มาเป็นส่วนหนึ่งในขั้นตอนของการผลิต เช่น ในแวดวงอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมการเกษตร หรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ เป็นต้น ให้เป็นไปตามมาตรฐาน และยังทำหน้าที่ตรวจเยี่ยมเพื่อประเมินความปลอดภัยของโรงงานที่มีการใช้จุลินทรีย์ดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์เป็นอาหารคนหรืออาหารสัตว์ ปัจจุบันยังเป็นกรรมการอาหารของคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข คณะอนุกรรมการด้านวิชาการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อร่วมให้ความรู้ในด้านวิชาการ ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับอาหารและการปฏิบัติงานที่ปลอดภัยในการใช้เชื้อจุลินทรีย์ที่มีระดับความเสี่ยงต่างๆ
ด้วยผลงานทางด้านวิชาการและวิจัยมากมายเป็นที่ประจักษ์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วัฒนาลัย ปานบ้านเกร็ด ได้รับโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ พ.ศ. 2545 และยังได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย อาทิ รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาวิจัย พ.ศ. 2560 รางวัล Osaka University, Global Alumni Fellow พ.ศ. 2562 และในปี พ.ศ. 2566 จะเข้ารับรางวัล “มหิดลทยากร” เนื่องในโอกาสครบรอบ “55 ปี วันพระราชทานนาม 136 ปี มหาวิทยาลัยมหิดล” วันที่ 2 มีนาคม 2567 ณ มหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วัฒนาลัย ปานบ้านเกร็ด กล่าวปิดท้ายว่า “รู้สึกภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับรางวัลมหิดลทยากร เป็นรางวัลที่ทรงคุณค่า อาจารย์ได้ใช้ความสามารถและสติปัญญา ทำงานสุดความสามารถ ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล คือ ปัญญาของแผ่นดิน”
You must be logged in to post a comment Login