วันพุธที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

สสส.ชวนเด็กใช้เวลา 150 วันปิดเทอมให้คุ้มค่ากับกิจกรรมสร้างสรรค์

On March 4, 2024

ในแต่ละปี เด็กและเยาวชนจะมีวันหยุดรวมๆแล้ว 150 วัน และช่วงเวลาที่มีวันหยุดมากที่สุดคือปิดเทอม ปัจจุบันเด็กในเมืองกลับต้องใช้ช่วงเวลาวันหยุดยาวไปกับการเรียนพิเศษ จะดีหรือไม่ถ้าวันหยุดปิดเทอมเด็กๆจะมีเวลาได้เรียนรู้กิจกรรมนอกห้องเรียน เพื่อการพัฒนาทักษะชีวิตในด้านต่างๆ หรือแม้กระทั่งการหารายได้พิเศษให้กับตนเอง ด้วยการค้นหาที่แพลตฟอร์ม “ปิดเทอมสร้างสรรค์”

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า “ปิดเทอมสร้างสรรค์” ในปีนี้เราจัดขึ้นมาเพื่ออยากให้เด็กมีพัฒนาการที่สมวัยในทุกมิติ ทั้งทางร่างกาย จิตใจ สังคม และมิติทางด้านจิตวิญญาณภายใน ผ่านทางโรงเรียนซึ่งโรงเรียนส่วนมากจะเน้นที่วิชาการ เราเห็นว่ายังมีเวลาอื่นอีกที่เด็กอยากจะเรียนรู้ ทั้งวันหยุด วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ หรือปิดเทอมที่คำนวณแล้วจะมีประมาณ 150 วัน แล้วถ้าถามว่าใน 150 วันเด็กอยู่บ้านแล้วทำอะไรหรือจะให้อยู่บ้านเฉยๆ ซึ่งช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่เขาสามารถเรียนรู้ในมิติอื่นๆได้นอกเหนือจากการติวหนังสือ เด็กบางคนได้ใช้เวลา 150   วันหมดไปกับการเรียนหนังสือ ตรงนี้จึงอยากให้เป็นเวลาทางเลือก ให้เขาได้ใช้ชีวิต เรียนรู้กิจกรรมนอกห้องเรียน หรือบางส่วนต้องไปฝึกประสบการณ์ด้านอาชีพ เราเลยต้องมาทำกิจกรรมเหล่านี้ เพราะที่ผ่านมามีเด็กส่วนหนึ่งต้องการแต่หาไม่ได้ ขณะที่หน่วยราชการเห็นปัญหานี้ก็พยายามจัดกิจกรรม แต่กลับพบว่าไม่มีคนมา เพราะว่าทั้งสองฝั่งไม่มาเจอกัน ไม่มีระบบ Matching ทาง สสส.ได้เริ่มโครงการนี้มาถึง 10 ปี มาทำให้ทั้งฝ่ายมาเจอกัน

ปัจจุบันเรามีแพลตฟอร์มที่ชื่อ “ปิดเทอมสร้างสรรค์.com” ที่หน่วยงานต่างๆจะเข้ามาโพสต์กิจกรรม ด้วยการเราไปเชิญหน่วยงานที่มีกิจกรรรมมาเข้าร่วมในช่วงปิดเทอม เมื่อเด็กๆเข้ามาเห็นกิจกรรม แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในวันนี้คือ มีเด็กบางส่วนเข้าไม่ถึงกิจกรรม เช่น เด็กชายขอบ ซึ่งจะได้เฉพาะคนที่มีศักยภาพเราจึงต้องกระจายการจัดกิจกรรมไปทั่วทุกภูมิภาค และมีอีกเรื่องที่เพิ่มเติมเข้ามาคือ เรื่องอาชีพ ที่ต้องฝึกทักษะ ซึ่งทาง สสส.ได้เห็นความสำคัญของการฝึกทักษะอาชีพ เพราะเด็กบางคนไม่ได้อยากได้ปริญญาแล้วแต่เขาอยากได้ทักษะอาชีพ จึงได้มีการจัดกิจกรรมฝึกทักษะอาชีพ ที่น้องจะได้ฝึกงานจริงและได้เงินเข้ามา ซึ่งตรงกับความต้องการของด้านผู้ประกอบการต่างๆ จึงกลายเป็นว่าทุกฝ่ายสมประโยชน์กันหมด ทั้งเด็ก คนจัดงาน แฟลตฟอร์ม ชุมชน

ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า สำหรับการฝึกงาน เช่น งานขาย แคชเชียร์ จะทำให้เด็กได้มีประวัติการทำงานมีประสบการณ์ เอาไว้ไปยื่นเวลาที่ต้องการศึกษาต่อ และในอีกหลายกิจกรรมเราจะมีใบประกาศฯให้กับเด็กที่ร่วมกิจกรรม

นอกจากนี้ทักษะเด็กไทยที่จะเป็นต้องรู้คือ 1. ทักษะเรื่องสุขภาพ เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวที่สุด ต้องรู้ว่า อะไรดี ไม่ดี 2. ทักษะการใช้ชีวิต การคบเพื่อน การเข้าถึงสื่อที่สร้างสรรค์และไม่สร้างสรรค์ ทักษะเรื่องการเงิน หรือทักษะชีวิตที่เรียนรู้จากของจริงและในปีนี้เราจะมีกิจกรรมที่หลากหลายมากขึ้น

ส่วนกลุ่มเด็กที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือกลุ่มเด็กที่อยู่ระหว่างกลุ่มเด็กคนรวยและคนจน คือกลุ่มเด็กที่อยู่ตรงกลางของสองกลุ่มนี้ ซึ่งเราจะต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ จึงเป็นเหตุให้เราต้องการกิจกรรมไปยังตามภูมิภาคต่างๆ ซึ่งคาดการณ์ว่าในอนาคตจะมีการขยายกิจกรรมที่กว้างขวางมากขึ้นในหลายๆจังหวัดที่มีศักยภาพ  และสามารถให้คนทุกกลุ่มวัยเข้าร่วมได้ และในอนาคตเราจะต้องให้กลุ่มที่ด้อยโอกาสสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้

ในปีนี้ สสส. จึงสานพลังภาคีเครือข่ายทั้ง 4 ภูมิภาค โดยมี 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ อุตรดิตถ์ กรุงเทพฯ นครราชสีมา ยะลา พร้อมหน่วยจัดการ ประสานงานและขับเคลื่อนกิจกรรมในอีก 25 จังหวัด รวมถึงภาคีภาครัฐ เอกชน ประชาสังคมกว่า 500 องค์กร ที่มีแหล่งเรียนรู้รวมกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ รวมกันจุดประกายให้เด็กและเยาวชนได้ใช้เวลาว่างอย่างสร้างสรรค์ในช่วงวันวันหยุดและปิดเทอม ผ่าน www.ปิดเทอมสร้างสรรค์.com ที่รวบรวมข้อมูลเพื่อนำเสนอพื้นที่และกิจกรรมต่าง ๆ ให้เด็กและผู้ปกครองเลือกเข้าร่วมกิจกรรมตามที่สนใจ

“แพลตฟอร์ม ปิดเทอมสร้างสรรค์.com ทำหน้าที่เชื่อมองค์กรและเด็ก ๆ มาเจอกันแล้ว จับคู่กันตามความสนใจ เพื่อให้วันว่างสร้างโอกาสมหาศาลที่เด็กจะได้เรียนรู้อย่างอิสระ สร้างสรรค์ สร้างฝัน สร้างทักษะชีวิต หาอาชีพเสริมสร้างรายได้ ซึ่งสำคัญไม่แพ้การเรียนในระบบการศึกษา และยังลดปัญหาเด็กติดหน้าจอมือถือ ลดความเสี่ยงที่จะไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด หรืออันตรายอื่น ๆ ปีนี้ สสส. และภาคีเครือข่าย เพิ่มความพิเศษให้กับโครงการปิดเทอมสร้างสรรค์ด้วยการกำหนดแนวคิด “ปิดเทอมสร้างสรรค์ กิจกรรมฉ่ำเว่อ” มีเป้าหมายเปิดพื้นที่กิจกรรมในแหล่งเรียนรู้ ในชุมชนให้เด็ก ๆ เข้าถึงพื้นที่กิจกรรมที่ปลอดภัยได้ภายใน 15 นาที เนื่องจากการสำรวจในปีที่ผ่าน ๆ มา พบหนึ่งปัญหาที่สำคัญคือ สถานที่จัดงานไกลบ้าน ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายการเดินทาง หรือกรณีเด็กเล็ก ผู้ใหญ่จะต้องพาไป ทำให้เด็กบางกลุ่มเข้าไม่ถึงพื้นที่กิจกรรม สสส. จึงเพิ่มการเข้าถึง ลดอุปสรรคด้านค่าใช้จ่าย สร้างพื้นที่เรียนรู้ในชุมชนต่าง ๆ ให้เด็กเข้าถึงกิจกรรมสร้างสรรค์ได้มากกว่าปีที่แล้ว” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว

นางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว (สำนัก4 ) สสส. กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมที่เพิ่มทักษะด้านการเงินของเด็กและเยาวชน นอกจากการฝึกงานในสถานประกอบการที่เข้าร่วมแล้ว เรายังมีหน่วยงานที่เข้ามาเป็นภาคีปิดเทอมสร้างสรรค์ประจำคือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งที่ทั้งศูนย์เรียนรู้และ work shop ที่จะฝึกเด็กและเยาวชนให้มีทักษะด้านการเงิน ส่วนนี้เป็นการเพิ่มทักษะการเงิน ส่วนการหารายได้พิเศษ หรือฝึกอาชีพ หรือฝึกงานเพื่อเรียนรู้จักตนเองว่าตนถนัดกับการทำงานด้านไหน ด้านหอการค้าไทยและหอการค้าในจังหวัดต่างๆเข้าร่วมกิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์ ซึ่งหมายถึงในจังหวัดนั้นๆเขามีการรวมตัวกันทั้งภาครัฐและเอกชน และกลุ่มนักกิจกรรมกว่า 20   จังหวัดที่ร่วมมือกัน จะช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้กับเยาวชนที่สนใจจะทำงานพิเศษ ซึ่งเด็กและเยาวชนจะรู้ว่ามีงานมีกิจกรรมใดที่ใกล้บ้านตนเอง นอกจากนี้ยังมีอีกส่วนหนึ่งที่จะส่งข้อมูลมายังทางเว็บไซต์ของกิจกรรมสร้างสรรค์ ภายในเว็บจะมีการแบ่งกิจกรรมอย่างชัดเจน เช่น การฝึกงาน  เด็กๆที่เข้ามาในเว็บไซต์สามารถเลือกหมวดหมู่กิจกรรมที่ตนเองสนใจได้

นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัญหาและความต้องการของเด็กกรุงเทพฯ คือ 1. การเข้าถึงพื้นที่กิจกรรมสร้างสรรค์ หรือพื้นที่เรียนรู้แบบไม่เสียค่าใช้จ่ายยังมีจำกัด 2. ความเหลื่อมล้ำ เมื่อพื้นที่เรียนรู้ต้องเสียค่าใช้จ่าย จึงมีบางกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ กทม. เชื่อว่าหากมีพื้นที่ให้เด็ก เยาวชนได้เข้าร่วม ได้แสดงศักยภาพฟรีมากขึ้น เขาจะไม่เอาเวลาไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด กัญชา บุหรี่ไฟฟ้า หรืออะไรที่ไม่ดี โดยหลายสำนักของ กทม. อาทิ สำนักการศึกษา สำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว สำนักพัฒนาสังคม ทำกิจกรรมให้เด็กได้ใช้เวลาว่างอย่างสร้างสรรค์ โดยเฉพาะช่วงปิดเทอม อาทิ ร่วมกับภาคเอกชนเปิดให้เด็กและเยาวชนฝึกอาชีพ ศึกษาดูงานในบริษัทตามความสนใจ เพิ่มจำนวนห้องสมุดให้เด็กเข้าถึงโอกาสเรียนรู้มากขึ้น ในวันที่ 31 มี.ค.2567 มีงานหนังสือในสวน ที่รวมการเรียนรู้และนโยบายด้านการศึกษาของ กทม.ทั้งหมดให้ผู้สนใจเข้าร่วมที่สวนเบญจกิตติ เดือน พ.ค. ก่อนเปิดเทอม จัดเทศกาลกีฬาให้เด็กและครอบครัวได้ร่วมออกกำลังกายและใช้เวลาอย่างสร้างสรรค์ สร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวและชุมชน นอกจากนี้ กทม. ยังแสวงหาความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายเพิ่มเติม เพื่อให้มีพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็ก กทม.มากขึ้นจากปัจจุบัน 200 พื้นที่ เป็น 1,000 พื้นที่


You must be logged in to post a comment Login