วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ขี้ทับกันเป็นบาป…!

On March 8, 2024

คอลัมน์ : สันติธรรม

ผู้เขียน : บรรจง บินกาซัน

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 8 มี.ค.  67)  

สัจธรรมมีหนึ่งเดียวและเป็นสิ่งสากลในทุกที่  แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา  สัจธรรมได้ถูกความเชื่อและขนบประเพณีท้องถิ่นปกปิดจนคนมองไม่เห็นและยึดเอาสิ่งที่ปกปิดสัจธรรมเป็นสรณะ

ในสมัยเป็นนักศึกษาปีหนึ่ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  พ.ศ.2514  ผมมีโอกาสร่วมเดินทางไปทำกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนากับสมาคมนิสิตนักศึกษาไทยมุสลิมที่หมู่บ้านเจ๊ะเด็ง ต.โละจูด อ.แว้ง จ.นราธิวาส  ก่อนเข้าไปในพื้นที่ พวกเราชาวค่ายต้องเข้าฟังการบรรยาสรุปเกี่ยวกับผู้คนและวัฒนธรรมที่นั่น  ผมจำได้แม่นว่าผู้บรรยายสรุปให้เราฟังคือท่านศุภโยค พาณิชวิทย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส  คำพูดตอนหนึ่งซึ่งทำให้ผมสะดุดใจก็คือ “คนที่นี่เชื่อว่าขี้ทับกันเป็นบาป”  แต่ผมก็ไม่คิดอะไร

หนึ่งในแผนงานค่ายอาสาตลอดเวลาสามสิบวันในเดือนเมษายนคือการสร้างอาคารเรียนขนาดสี่ห้องและสนามเด็กเล่น  นอกจากนี้แล้ว ยังสร้างส้วมซึมสาธารณะอีกสามห้องที่พื้นเป็นคอนกรีต ผนังและหลังคาเป็นสังกะสี  เช่นเดียวกับส้วมของชาวค่าย

ปีต่อมาในเดือนเดียวกัน  ผมได้มีโอกาสกลับไปติดตามผลงานที่ได้ทำไว้  โรงเรียนและสนามเด็กเล่นข้างโรงเรียนถูกใช้  แต่ส้วมซึมที่เราสร้างไว้ยังใหม่เหมือนเดิม  ไม่มีร่องรอยการใช้งานแต่อย่างใด  ผมจึงเข้าใจคำพูดในคำบรรยายสรุปของท่านผู้ว่าฯก่อนลงพื้นที่  เมื่อถามคนที่นั่นว่าชาวบ้านถ่ายอุจจาระกันอย่างไร  ผมได้คำตอบว่าชาวบ้านจะถือจอบไปในสวนหรือป่าเพื่อขุดหลุมและถ่ายอุจจาระลงไปในหลุม  วันรุ่งขึ้นก็จะเปลี่ยนหลุมถ่ายอุจจาระใหม่

แต่ความเชื่อว่าขี้ทับกันเป็นบาปนี้มาจากไหน?  ไม่ใช่คำสอนและความเชื่อของอิสลามอย่างแน่นอนแม้คนในท้องถิ่นที่นี่เป็นมุสลิมก็ตาม เพราะเมื่อพันปีก่อน ขณะที่อิสลามเป็นอารยธรรมรุ่งเรืองอยู่ในแผ่นดินสเปน ซีเรีย  อิรักและตุรกี  ห้องน้ำห้องส้วมสาธารณะเป็นสิ่งที่มีอยู่อย่างดาษดื่นเพราะอิสลามมีคำสอนว่าความสะอาดเป็นส่วนหนึ่งของความศรัทธา

หลังจบการศึกษาหลายปี  ผมได้มีโอกาสไปยังเมืองเดลฮีซึ่งเป็นเมืองหลวงของอินเดีย  ขณะนั่งรถไปตามถนน  ผมเห็นชาวอินเดียนั่งยองๆเรียงรายถ่ายอุจจาระอยู่ริมถนนและหันหน้ามาทางถนนโดยไม่เคอะเขิน  จึงทบทวนประสบการณ์ในตอนไปทำงานค่ายอาสาพัฒนาเมื่อสบกว่าปีก่อน

กลับมาบ้านได้สักพัก  มีโอกาสได้ดูสารคดีที่ฝรั่งถ่ายทำในอินโดนีเซีย แต่จำไม่ได้ว่าที่ใด  เห็นชาวอินโดนีเซียนั่งเรียงรายถ่ายอุจจาระลงในคลอง  จึงศึกษาค้นคว้าและได้รู้ว่าความเชื่อเช่นนี้เป็นความเชื่อของชาวฮินดู

เมื่อศึกษาไปเรื่อยๆทำให้รู้ว่าศาสนาฮินดูเกิดในอินเดียและแพร่ขยายมายังหมู่เกาะอินโดนีเซียก่อนหน้าศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์และอิสลาม  ศาสนาฮินดูมาลงหลักปักฐานเป็นอาณาจักรที่มีอาณาเขตกว้างขวางครอบคลุมถึงเขมร ลาว ไทยและมาเลเซีย  ด้วยเหตุนี้  ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมและความเชื่อจึงตกทอดมายังผู้คนและฝังรากลึกมาจนถึงปัจจุบัน

เนื่องจากศาสนาฮินดูมีพิธีกรรมต่างๆมากมาย ชาวพุทธศาสนิกจึงซึมซับเราเอาพิธีกรรมต่างๆของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูมาปฏิบัติ   เมื่ออิสลามมายังอินโดนีเซียและกษัตริย์ผู้ปกครองอินโดนีเซียองค์หนึ่งเข้ารับอิสลาม ประชาชนจึงเข้ารับตามด้วย  แต่เนื่องจากอิสลามห้ามเคารพกราบไหว้บูชารูปเคารพเด็ดขาดและมีการปฏิบัติศาสนกิจของตัวเองเป็นการเฉพาะที่ต้องใช้ภาษาอาหรับ  ดังนั้น ภาษาอาหรับจึงเข้ามาแทนที่ภาษาของชาวฮินดู

อย่างไรก็ตาม  ชาวมุสลิมอินโดนีเซียที่ยังสลัดพิธีกรรมในโอกาสต่างๆของชาวฮินดูไม่หลุด เช่น พิธีกรรมขึ้นบ้านใหม่  พิธีแต่งงาน  การทำบุญให้คนตายก็ยังคงปฏิบัติกันอยู่  เพียงแต่เปลี่ยนภาษาในการทำพิธีมาเป็นภาษาอาหรับ

เรื่องขี้ทำให้ผมเข้าใจวัฒนธรรมของเพื่อนมนุษย์ได้เยอะ


You must be logged in to post a comment Login