- แก่อย่างไม่มีคุณค่าPosted 14 hours ago
- “ทักษิณ” ยังมีมนต์ขลังPosted 2 days ago
- อย่าไปอินPosted 5 days ago
- ปีดับคนดังPosted 6 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 7 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 1 week ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 1 week ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 2 weeks ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 2 weeks ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 2 weeks ago
UNHCR สานต่อความร่วมมือ “โครงการรอมฎอนนี้เพื่อพี่น้องและทานประจำปีซะกาต ปีที่ 7” ผ่านแนวคิดโต๊ะอาหารรอมฎอนเพื่อผู้ลี้ภัย
ปัจจุบันสงครามและความรุนแรงส่งผลให้มีผู้พลัดถิ่นทั่วโลกเพิ่มขึ้นกว่า 114 ล้านคน จำนวนนี้รวมถึงพี่น้องชาวมุสลิม ประกอบด้วยเด็กกำพร้า แม่เลี้ยงเดี่ยว หญิงหม้าย และผู้สูงอายุที่ถูกบังคับให้ลี้ภัยออกจากบ้านของตนเอง นอกจากนั้น ในปี พ.ศ. 2566 UNHCR ได้ออกประกาศภาวะฉุกเฉินถึง 43 เหตุการณ์ใน 29 ประเทศ ซึ่งถือเป็นจำนวนสูงสุดในรอบหลายทศวรรษ
“Ramadan Table” โต๊ะอาหารเย็นหลังละศีลอดเป็นเหมือนพื้นที่รวมใจของบ้านและครอบครัวในเดือนรอมฎอน เป็นที่ซึ่งทุกคนมารวมตัวและแบ่งปันเวลาอันมีค่าร่วมกัน เนื่องจากครอบครัวผู้พลัดถิ่นและผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสนั้น UNHCR จึงมีแนวคิดให้ “โต๊ะอาหารรอมฎอนเพื่อผู้ลี้ภัย” เป็นเหมือนศูนย์กลางของการรณรงค์ ในการรับบริจาคทานซะกาตหรือซอดาเกาะห์เพื่อให้ผู้ลี้ภัยสามารถเข้าร่วมโต๊ะอาหารรอมฎอนเพื่อผู้ลี้ภัย ของทุกท่านได้ไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ใดก็ตาม
“ในเดือนรอมฎอนซึ่งเป็นเดือนอันศักดิ์สิทธิ์ ยังมีผู้ลี้ภัยจำนวนมากเผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหารอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน” คุณบาบาร์ บาลอช โฆษกประจำภูมิภาคเอเชีย สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) กล่าว “ในเวลาสำคัญเช่นนี้ การสนับสนุนของพันธมิตทุกภาคส่วนเพื่อการทำงานด้านมนุษยธรรมนั้นมีความจำเป็นอย่างที่สุด”
สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ได้ริเริ่ม “โครงการรอมฎอนนี้เพื่อพี่น้องและทานประจำปีซะกาต” ขึ้นในประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2561 ร่วมกับ สำนักจุฬาราชมนตรี เพื่อสร้างการรับรู้และการระดมทุนทานประจำปีซะกาตและซอดาเกาะห์ ซึ่งเป็นการบัญญัติขึ้นตามหลักศาสนาอิสลามเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ตกอยู่ในความทุกข์ยาก และมอบความคุ้มครองแก่ผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นชาวมุสลิมทั่วโลก
“ในเดือนรอมฎอนอันประเสริฐ อิสลามบัญญัติให้มุสลิมถือศีลอดเพื่อได้รู้รสชาติของความหิวความกระหาย ความอดอยากยากแค้นที่มีอยู่ในสังคมมนุษย์ ดังนั้นความเมตตา ความเห็นอกเห็นใจ ด้วยการช่วยเหลือและการแบ่งปัน จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเกิดขึ้นจากผู้ถือศีลอดทุกคน” ผศ.ดร.อับดุลเลาะห์ หนุ่มสุข ผู้แทนจุฬาราชมนตรี กล่าว “ปีนี้เป็นปีที่ 7 สำนักจุฬาราชมนตรีร่วมสนับสนุนโครงการระดมทุนระดับโลกของ UNHCR เพื่อที่จะแบ่งเบาภาระของครอบครัวพี่น้องผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมที่ต้องพลัดถิ่นซึ่งต้องอยู่ไกลบ้านและคนที่พวกเขารัก การบริจาคเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนสำหรับ UNHCR เพื่อช่วยชีวิตและช่วยเหลือครอบครัวที่เปราะบางซึ่งส่วนใหญ่จัดอยู่ในหมวดซะกาตอย่างน้อย 4 จาก 8 หมวดที่กล่าวถึงในคัมภีร์อัลกุรอาน ให้ได้มีที่พักพิง อาหารอุ่น ๆ สำหรับละศีลอด น้ำสะอาด และอนาคตที่ดีและปลอดภัยยิ่งขึ้น”
“ในขณะที่พวกเราเตรียมต้อนรับเดือนรอมฎอนอันศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยหลายล้านคนได้รับผลกระทบหนักที่สุด ท่ามกลางวิกฤติความขัดแย้ง ความไม่มั่นคงทางอาหาร และภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมถึงงบประมาณและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่ไม่เพียงพอ ผู้ลี้ภัยสามในสี่ทั่วโลกไม่สามารถเข้าถึงปัจจัยขั้นพื้นฐาน ครอบครัวผู้ลี้ภัยไม่มีอาหาร ไม่มีที่พักพิง มีหนี้สินเพิ่มมากขึ้น หรือเด็กๆไม่ได้เข้าเรียนเนื่องจากไม่มีค่าเดินทาง” อาจารย์ซากีย์ พิทักษ์คุมพล นักวิชาการ กล่าว “เนื่องจากสถานการณ์ฉุกเฉินมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปี 2567 และจำนวนผู้พลัดถิ่นที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 130 ล้านคนภายในสิ้นปีนี้ ความช่วยเหลือเกื้อกูลพี่น้องผู้ลี้ภัยนั้นสำคัญอย่างยิ่ง”
ในการรับบริจาคทานประจำปีซะกาต UNHCR ทำงานร่วมกับมูลนิธิทาบาห์ องค์กรชั้นนำทางศาสนา และได้ขยายการรับรองระดับโลกจากนักวิชาการศาสนา (นักฟัตวา) มากถึง 17 ท่าน จากสถาบันศาสนา อิสลามมากกว่า 16 แห่งทั่วโลกเช่น อียิปต์ เยเมน โมร็อกโก มอริเตเนีย รวมถึงประเทศไทย เพื่อรับรองหน่วยงานว่ามีคุณสมบัติในการรับทานซะกาตและสามารถมอบความช่วยเหลือนี้โดยตรงแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากสงคราม ได้แก่ผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นชาวมุสลิม ให้พวกเขาได้มีอาหารที่พอเพียง น้ำสะอาดไว้ใช้และดื่ม ที่พักพิงที่ปลอดภัย และเงินสมทบช่วยเหลือ
“ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยมีความเชื่อมั่นในการสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อสังคมไทยและรับผิดชอบต่อสังคมโลก เรายังคงสนับสนุน UNHCR อย่างต่อเนื่องเพราะสถานการณ์ของผู้ลี้ภัยนั้นรุนแรงขึ้นอย่างมาก” ดร. ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการและผู้จัดการ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย กล่าว
“ในเดือนรอมฎอน บ้านและโต๊ะรับประทานอาหารของเราเป็นสถานที่แห่งความสุขที่ครอบครัวมารวมตัวกัน แต่สำหรับผู้ลี้ภัยมักไม่มีโอกาสเช่นนั้น เงินบริจาคของทุกท่านจะสนับสนุนแนวคิดเรื่องโต๊ะอาหารรอมฎอนเพื่อผู้ลี้ภัยท่ำคัญนี้ให้เกิดขึ้น และช่วยครอบครัวผู้พลัดถิ่นให้สามารถซื้ออาหาร น้ำ และที่พักพิงที่จำเป็นได้”
ภายใต้การระดมทุนผ่านโครงการฯ ปีที่ผ่านมา UNHCR สามารถมอบความช่วยเหลือแก่ครอบครัวผู้ลี้ภัยไปแล้วมากกว่า 1.5 ล้านคน ใน 21 ประเทศทั่วโลก เช่น อัฟกานิสถาน อิรัก ปากีสถาน บังคลาเทศ มาเลเซีย เยเมน และไนจีเรีย เป็นต้น แต่ด้วยจำนวนผู้พลัดถิ่นที่มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ สื่อคือสิ่งสำคัญที่จะช่วยสร้างความรับรู้และการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้จริง ในปีที่ 7 นี้ บริษัท ทีวีบูรพา กรุ๊ป จำกัดร่วมกับ UNHCR ในการเพิ่มความช่วยเหลือในด้านต่างๆทั้งด้านสื่อ การจัดกิจกรรม และการลงพื้นที่จริง
“เพราะเราเชื่อในพลังของคนที่จะเปลี่ยนแปลงโลกนี้ได้ เราจึงเชื่อมั่นในการทำงานร่วมกันกับ UNHCR และให้สื่อของเราช่วยผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นที่เป็นเพื่อนมนุษย์ เป็นพี่น้องร่วมโลกเดียวกัน” คุณกฤษณพล พงศ์ธนาวรานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีวีบูรพา กรุ๊ป จำกัด กล่าว “ชีวิตผู้ลี้ภัยถูกพลัดพรากจากกันด้วยความขัดแย้งและภัยพิบัติทางธรรมชาติ พวกเขาเผชิญกับความหิวโหยและความไม่มั่นคง เนื่องจากเป้าหมายของเราคือการมุ่งทำธุรกิจที่เป็นมิตร ปลอดภัย และยั่งยืนแก่สังคม เราจึงขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในสนับสนุนให้ผู้ลี้ภัยได้มีโอกาสรับความช่วยเหลือภายใต้แนวคิดโต๊ะอาหารรอมฎอนเพื่อผู้ลี้ภัย (Ramadan Table) โดยจะเราจะจัดกิจกรรมและสนับสนุนการทำงานด้านต่างๆของ UNHCR ตลอดปี ซึ่งสามารถติดตามได้ทุกช่องทางของทีวีบูรพา กรุ๊ป”
ท่ามกลางสถานการณ์โลกรอบด้านที่ส่งผลให้ผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมต้องเผชิญวิกฤตอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน “โครงการรอมฎอนนี้เพื่อพี่น้องและทานประจำปีซะกาต” จะช่วยให้ UNHCR ทำงานด้านมนุษยธรรมได้อย่างยั่งยืน และนำทานซะกาตทั้งหมด 100% ไปช่วยเหลือผู้พลัดถิ่นและผู้ลี้ภัย และให้พวกเขาได้มีโอกาสมีที่พักพิงที่ปลอดภัย อาหาร น้ำ หลังละศีลอด และการช่วยเหลือที่จำเป็นต่อชีวิตอย่างไม่ขาดตอน
ในเดือนรอมฎอนอันศักดิ์สิทธิ์นี้ โปรดแบ่งปันพื้นที่ความโอบอ้อมอารีของโต๊ะอาหารรอมฎอนเพื่อผู้ลี้ภัย ของคุณกับครอบครัวผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นจากสงครามและความรุนแรงทั่วโลก ร่วมบริจาคทานของท่านได้ที่เว็บไซต์ www.unhcr.org/th
You must be logged in to post a comment Login