วันพุธที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

เตือนภัยเมื่อบุหรี่ไฟฟ้าแปลงร่างเป็น “Toy pod บุหรี่ไฟฟ้าตุ๊กตา”

On March 21, 2024

พ่อแม่ อึ้ง! เมื่อบุหรี่ไฟฟ้าแปลงร่างเป็น “Toy pod บุหรี่ไฟฟ้าตุ๊กตา” ยกขบวนตัวการ์ตูน ของเล่นสุดฮิตผลิตเป็นบุหรี่ไฟฟ้ารุ่นใหม่ จับการตลาดการ์ตูนเพื่อเล็งตลาดเด็ก พบลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้าบนสื่อออนไลน์ อื้อ!  ชี้รัฐต้องบังคับใช้กฎหมายต่อเนื่องจริงจัง เพื่อปกป้องเด็กจากการตลาดล่าเหยื่อนี้

วันที่ 21 มี.ค. ผศ.ดร.ศรีรัช ลาภใหญ่ ผู้จัดการโครงการศึกษาพัฒนาขยายผลการเฝ้าระวังและจัดการความรู้ผลิตภัณฑ์เสี่ยงสุขภาพ เปิดเผยว่า ธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้าได้ปรับเปลี่ยนรูปโฉมของสินค้าบุหรี่ไฟฟ้ารุ่นใหม่ให้ห่างไกลจากบุหรี่มวน โดยใช้การตลาดการ์ตูน ปรับรูปร่างหน้าตาจากบุหรี่ไฟฟ้าแบบเดิม มาเป็นบุหรี่ไฟฟ้า Gen 5 ‘toy pod’ หรือบุหรี่ไฟฟ้าตุ๊กตา ที่ผลิตเลียนแบบตุ๊กตา ของเล่น ตัวการ์ตูนฮิต อาร์ตทอย ทำเหมือนกล่องขนม ขวดน้ำผลไม้ ไปจนถึงเครื่องเขียน ชนิดเลียนแบบได้เหมือนสมจริงทั้งรูปร่างหน้าตา ขนาด และสีสัน และมีขนาดเล็ก ซึ่ง toy pod ใช้นิโคตินปรับโครงสร้างหรือนิโคตินสังเคราะห์ทำให้สูบง่ายไม่ระคายคอ มีนิโคตินสูง 3-5% สูบได้นานถึง 8,000-15,000 พัฟฟ์

ผศ.ดร.ศรีรัช กล่าวต่อว่า toy pod จะผลิตเลียนแบบตัวการ์ตูนตุ๊กตายอดฮิต โดราเอมอน Super Mario โปเกม่อน บางรุ่นเลียนแบบอาร์ตทอยชื่อดังอย่างตุ๊กตา Molly ตุ๊กตา plush หรือตัวการ์ตูนเจ้าหญิงดิสนีย์ บางรุ่นสร้างตัวการ์ตูนขึ้นมาเองเป็น brand character เช่น การ์ตูนโจรสลัด โดยขายสินค้าผ่านการผจญภัยของตัวการ์ตูนและเหล่าสมุน บางรุ่นทำเหมือนของเล่นเลโก้ และผลิตออกมาเป็นคอลเลคชั่นคล้ายของสะสม แต่ละชุดมี 10-12 ตัว มีชื่อเรียกแต่ละชุด มีสีแตกต่างกันเพื่อบอกรสชาติ กลิ่นหอม รสชาติผสมผสานกันทั้งผลไม้ ความเย็น และลูกกวาด เช่น รสแตงโม พีช มิ้นท์

“เป็นที่น่าตกใจที่การตลาดล่าเหยื่อเด็กนี้ประสบความสำเร็จ จากการมีข่าวว่ามีการระบาดในกลุ่มนักเรียนระดับประถม ล่าสุดพบเด็ก ป.1 (6 ขวบ) พกบุหรี่ไฟฟ้า ดังนั้นพ่อแม่ ครูและโรงเรียน ควรต้องคอยเฝ้าระวังบุหรี่ไฟฟ้าแปลงร่างเหล่านี้ที่เป็นอันตรายต่อเด็ก เพราะ toy pod ออกแบบช่วงปากสูบให้กลมกลืนไปกับตัวตุ๊กตา จนอาจไม่ทราบว่านี่คือบุหรี่ไฟฟ้า หากนำมาวางปนกันกับของเล่น อาจแยกไม่ออกว่าอันไหนคือของเล่นจริง อันไหนคือบุหรี่ไฟฟ้า” ผศ.ดร.ศรีรัช กล่าว

ผศ.ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า การตลาดล่าเหยื่อของธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้าที่ไร้จริยธรรมนี้ นอกจากจะพัฒนาบุหรี่ไฟฟ้าให้เย้ายวนเด็กอายุเล็กลงเรื่อยๆ ยังพัฒนาสถานที่ และส่งเสริมการขาย ในสื่อโซเชียลที่ถูกใจและตรงกับวิถีชีวิตของเด็กๆ ด้วย จากรายงานการเฝ้าระวังการตลาดบุหรี่ไฟฟ้าในสื่อออนไลน์ช่วงม.ค.-ก.พ. ปี 2567 โดย น.ส.กนิษฐา ไทยกล้า พบว่า มีผู้ฝ่าฝืนกฎหมายลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้าในสื่อออนไลน์จำนวนมากถึง 309 บัญชีรายชื่อ มีการโพสต์ 605 ครั้ง ส่วนใหญ่ 66.7% เป็นผู้ขายรายเก่าที่ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์มาก่อนปี 2567 รองมาคือ 33% เป็นผู้ขายรายใหม่ที่ลงทะเบียนใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ปี 2567 โดยลักษณะการขายส่วนใหญ่ 54.4% เป็นผู้ขายย่อย 44.7 ขายส่ง/รับตัวแทนขาย และ 1% รับรีวิว ทั้งนี้ 29.1% ใช้แพลตฟอร์มเอ็กซ์ (ทวิตเตอร์) มากที่สุด รองมาคือ 26.9% เฟซบุ๊ก 17.5% อินสตาแกรม 15.2% เว็บไซต์ 7.4% ไลน์ 3.6% ติ๊กต๊อก และ 0.3% ยูทูบ

ผศ.ดร.นพ.วิชช์ กล่าวอีกว่า กลยุทธ์การตลาดบุหรี่ไฟฟ้าบนสื่นออนไลน์ เน้นโพสต์เพื่อสร้างการรับรู้ถึงตัวผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้า การรักษาลูกค้าด้วยการจัดส่งฟรี แจก แถม และลดราคา จนกระทั้งเกิดการซื้อขาย ส่งถึงบ้าน มีเก็บเงินปลายทาง โดยผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าที่นิยมโพสต์ขายมากที่สุด คือ 89.3% pod รองมาคือ 6.3% ชุดบุหรี่ไฟฟ้าพร้อมสูบ และ 4% เครื่องเปล่า โดยแนวโน้มของการออกแบบผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าเน้นให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ ความชอบของคนรุ่นใหม่ เริ่มมีการรายงานพบตู้กดขายบุหรี่ไฟฟ้า

 “น่าเป็นห่วงมากที่เด็กอาจกำลังตกเป็นเหยื่อการตลาดของบุหรี่ไฟฟ้าบนสื่อออนไลน์ เพราะหากสมองของเด็กตั้งแต่ในครรภ์ถึงอายุ 25 ปี สะสมสารนิโคตินจากบุหรี่ไฟฟ้า จะทำให้เซลล์สมองถูกทำลายได้มาก โดยเฉพาะต่อระบบความจำ ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถจดจ่อกับการเรียน และส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ จังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ ชัก หัวใจล้มเหลวได้ ดังนั้นรัฐบาลไทยต้อง ‘คงมาตรการห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า’ ซึ่งเป็นมาตรการที่ดีที่สุด และยังต้องเร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่องจริงจัง จับกุมผู้กระทำความผิดที่ลักลอบนำเข้าและขายบุหรี่ไฟฟ้าบนสื่อออนไลน์ ที่กำลังเป็นปัญหาในปัจจุบัน เพื่อปกป้องเด็กจากการตลาดล่าเหยื่อนี้”  ผศ.ดร.นพ.วิชช์ กล่าว

“วิกฤตการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า หายนะกำลังคืบคลานทำร้ายลูกหลานไทย สังคมคงอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ จะต้องร่วมพลังกันออกมาส่งเสียงดังๆ บอกรัฐบาล ว่า ‘คนไทยไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า’ ร่วมกันสอดส่องดูแลหากมีสิ่งผิดกฎหมาย ช่วยกันแจ้งเบาะแส สายด่วน สคบ. 1166 และที่สำคัญผู้ปกครองและครูต้องรู้เท่าทันกลยุทธล่าเหยื่อ รู้จักพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า ร่วมแรงร่วมใจทั้งชาติเพื่อปกป้องลูกหลานไทยจากมหันตภัยนี้” ผศ.ดร.นพ.วิชช์ กล่าว


You must be logged in to post a comment Login