วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

สสส.-ภาคีโคแฟค-กทม. เปิดเวทีสัมมนาวันตรวจสอบข่าวลวงโลก 67

On April 2, 2024

ปี 66 ไทยขึ้นอันดับ 1 เอเชีย มิจฉาชีพโทร-ส่งข้อความหลอกคนไทย 79 ล้านครั้ง พุ่งสูงขึ้น 18%  สสส.-ภาคีโคแฟค-กทม. เปิดเวทีสัมมนาวันตรวจสอบข่าวลวงโลก 67 ชวนใช้เครื่องมือดิจิทัล ตรวจสอบข่าวเช็คให้ชัวร์ก่อนเผยแพร่ สร้างพื้นที่สื่อออนไลน์ปลอดภัย สานพลังสังคมสร้างสุขภาวะที่ดี

เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2567 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีโคแฟค ประเทศไทย และกรุงเทพมหานคร (กทม.) จัดงาน “สัมมนาระดับชาติเนื่องในโอกาสวันตรวจสอบข่าวลวงโลก 2567 (International Fact-Checking Day 2024)” ภายใต้หัวข้อ “Cheapfakes สู่ Deepfakes: เตรียมรับมืออย่างไรให้เท่าทัน” เนื่องจากเครือข่ายองค์กรตรวจสอบข่าวสากล (International Fact Checking Network – IFCN) กำหนดให้วันที่ 2 เมษายนของทุกปีเป็น “วันตรวจสอบข่าวลวงโลก” หวังกระตุ้นให้คนทั่วโลกตื่นตัว ตรวจสอบข้อมูลบนโลกออนไลน์ก่อนส่งต่อ และเข้าใจอันตรายที่เกิดขึ้นจากข่าวลวง

โดย นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า  จากรายงานประจำปี 2566 ของ ฮูสคอลล์ (Whoscall) แพลตฟอร์มระบุตัวตนสายเรียกเข้าที่ไม่รู้จักและป้องกันสแปม พบว่า ปี 2566 คนไทยโดนหลอกจากสายโทรเข้าและส่งข้อความหลอกลวง 79 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มี 66.7 ล้านครั้ง คิดเป็นเพิ่มขึ้น 18% โดยเฉลี่ยคนไทย 1 คน ได้รับ      เอสเอ็มเอสหลอกลวง 20.3 ข้อความ ถือว่าไทยถูกหลอกลวงมากเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย รองลงมาคือ ฟิลิปปินส์ และฮ่องกง ทั้งนี้ งานสัมมนาระดับชาติฯ ที่จัดขึ้น สสส. หวังสร้างความเข้าใจต่อสาธารณะในประเด็นการตรวจสอบข้อมูลก่อนเชื่อหรือแชร์ด้วยเครื่องมือดิจิทัล ประเด็นการใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างสร้างสรรค์ และรณรงค์ให้สังคมตระหนักถึงการตรวจสอบข้อมูล นำไปสู่การสร้างสังคมสุขภาวะให้ยั่งยืนของประเทศไทยต่อไป

“สสส. วางเป้าหมายพัฒนานิเวศสื่อสุขภาวะที่ส่งผลต่อค่านิยมและพฤติกรรมการใช้สื่อเพื่อ        สุขภาวะ เสริมทักษะรู้เท่าทันสื่อ และให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้เกิดสื่อสุขภาวะและปกป้องผู้ใช้สื่อออนไลน์ทุกช่วงวัย จากผลการดำเนินงานของ โคแฟค ประเทศไทย ที่สสส. ร่วมผลักดันสนับสนุนให้          โคแฟคเป็นพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงบนสื่อออนไลน์ ตั้งแต่ปี 2563-2567 โคแฟค ได้บริการตรวจสอบข่าวลวง 7,672 บทความ ช่วยปกป้องคนไทยไม่ให้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพผ่านการอบรมตรวจสอบข้อมูลกว่า 5,000 คน สสส. มุ่งหวังให้ทุกคนเป็นพลเมืองเท่าทันสื่อ มีความสามารถในการตรวจสอบข่าวได้ด้วยตนเอง จนมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังตรวจสอบข้อมูล  และเปิดพื้นที่ให้ทุกคนมาช่วยกันตรวจสอบข่าวลวงได้ โดยเชื่อว่า “Everyone is a fact checker”   นพ.พงศ์เทพ กล่าว

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทช่วยให้การใช้ชีวิตของคนในปัจจุบันสะดวก รวดเร็ว และง่ายขึ้น ไม่ว่าจะด้านการทำธุรกรรมทางการเงิน  หรือการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ต้องการ ทุกคนสามารถเป็นผู้ผลิตและเผยแพร่ข้อมูลบนโลกออนไลน์ได้ง่ายๆ แต่ความเสี่ยงต่อการถูกหลอก สร้างความเข้าใจผิด ความเกลียดชัง ถูกหลอกให้ลงทุนและโอนเงินออกจากบัญชี ก็เกิดขึ้นให้เห็นทุกวัน กทม. ให้ความสำคัญการป้องกันภัยคุกคามจากออนไลน์ทุกรูปแบบ จึงร่วมกับ สสส. เร่งสร้างการรับรู้ภัยอันตรายที่เกิดจากข่าวลวง ข่าวปลอม ซึ่งเครือข่าย “โคแฟค ประเทศไทย” จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ให้คนในสังคมได้ตรวจสอบข้อมูลข่าวหลอกลวงที่เกิดขึ้นร่วมกัน และขยายผลความรู้ความเข้าใจเพื่อให้ประชาชนเตรียมรับมือได้อย่างเท่าทัน

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค (ประเทศไทย) กล่าวว่า คนไทยถูกมิจฉาชีพใช้ชีพเฟคหลอกลวงมากกว่าดีฟเฟค สอดคล้องกับสถิติศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รายงานว่า ตั้งแต่ 1 มี.ค. 2565-15 มี.ค. 2567 มีประชาชนแจ้งความออนไลน์มากกว่า 400,000 คดี สูงสุด 3 ประเภทที่มักโดนหลอก ได้แก่ 1.ถูกหลอกให้ซื้อสินค้าหรือบริการ (ไม่เป็นขบวนการ) 2.หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน 3.หลอกให้กู้เงิน ปีนี้ โคแฟค จึงบูรณาการภาครัฐและเอกชนอบรมสร้างทักษะการตรวจสอบข้อมูลในยุคเอไอทั่วประเทศมีผู้เข้าร่วม 2,500 คน และสร้างคอนเทนต์ในอินฟลูเอนเซอร์สายตรวจสอบข่าว และพัฒนาให้เกิดศูนย์ตรวจสอบข่าวลวงภูมิภาคกว่า 7 แห่ง อาทิ อีสานโคแฟค มหาวิทยาลัยบูรพา สามจังหวัดชายแดนใต้ และจะเปิดรับภาคีใหม่มาทำกิจกรรมตรวจสอบข่าวและสร้างพลเมืองทุกคนให้เป็น fact-checker ต่อไป  และสุดท้ายขอชวนประชาชนทุกคนฝึกตรวจสอบข่าวเช็คให้ชัวร์ก่อนเผยแพร่ ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ โดยเฉพาะในยุคปัญญาประดิษฐ์ เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวง สามารถเข้าใช้งานได้ที่เว็บไซต์ cofact.org


You must be logged in to post a comment Login