- “ทักษิณ” ยังมีมนต์ขลังPosted 23 hours ago
- อย่าไปอินPosted 4 days ago
- ปีดับคนดังPosted 5 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 6 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 1 week ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 1 week ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 2 weeks ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 2 weeks ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 2 weeks ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
เครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาสังฆะเพื่อสังคม ห่วงรัฐบาลแก้ไข พ.ร.บ. เหล้า
เครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาสังฆะเพื่อสังคมทั้ง 9 ภาค ห่วงรัฐบาลแก้ไข พ.ร.บ. เหล้า ไม่เห็นด้วยใน 6 ประเด็น เหตุสร้างผลกระทบทั้งปัญหาสุขภาพ อุบัติเหตุ ความรุนแรง ก่อภาระโรคเพิ่ม ชี้ได้ไม่คุ้มเสีย รัฐจ่ายค่ารักษาจากน้ำเมามากกว่าเพิ่มรายได้ให้รัฐ
วันที่ 20 พ.ค. 2567 พระครูสุวรรณโพธิวรธรรม เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ทอง จ.จันทบบุรี กล่าวว่า ในนามของเครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาสังฆะเพื่อสังคมทั้ง 9 ภาค มีความความห่วงใยผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ในประเด็น 1.ยกเลิกห้ามขายวันพระ 2.ขยายเวลาขาย 11.00 – 24.00 น. โดยไม่หยุดพักช่วงบ่าย 3.โฆษณาได้โดยไม่จำกัด 4.ลดราคา ชิม แจก ให้รางวัลชิงโชค 5.ขายในออนไลน์ได้ 6.ดื่ม-ขายในสถานที่ราชการ สนามกีฬาที่จัดแข่งกีฬา งานดนตรี งานประเพณี โดยเฉพาะการยกเลิกห้ามขายวันพระ และให้ดื่มในงานประเพณีทางศาสนา เช่น การจัดงานบวช งานศพ เพราะจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ความรุนแรง อุบัติเหตุ ฆ่ากันตาย ให้เกิดขึ้นกับคนไทยมากกว่าผลดี ทั้งนี้ จากการสำรวจผ่านสื่อโซเชียลที่มีข่าวการทะเลาะและฆ่ากันตายในการจัดงานบวช ระหว่างปี 2559-2652 พบว่า มีเหตุทะเลาะวิวาท เกิดความรุนแรงในงานบวชนาค 50 งาน มีคนตาย 30 ศพ
พระครูสุวรรณโพธิวรธรรม กล่าวต่อว่า ภายหลังมี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 จำนวนผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีแนวโน้มลดลง ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2550 มีคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 18 ล้านคน หรือ 30.02% การสำรวจครั้งล่าสุดปี 2564 คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงเหลือ 15.9 ล้านคน หรือ 28% ขณะที่สัดส่วนอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วง 7 วันอันตรายของเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ มีแนวโน้มลดลง จาก 37.8% ในช่วงปีใหม่ปี 2551 ลดเหลือ 25.6% ในช่วงปีใหม่ปี 2565 และช่วงสงกรานต์ ลดลงจาก 35.5% ในปี 2551 ลดเหลือ 24.2% ในช่วงสงกรานต์ปี 2564
“เครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาได้ร่วมขับเคลื่อนผลักดันให้มีกฎหมายควบคุมน้ำเมามาตั้งแต่เริ่มต้นเริ่มจากผลักดันให้มีครัวครอบสีขาวปลอดยาเสพติด เหล้า บุหรี่ การพนัน เมื่อ 18 ปีที่แล้ว ด้วยเห็นผลกระทบจากสิ่งเสพติดที่เป็นตัวทำลายครอบครัวคนไทย เมื่อมีพ.ร.บ.เหล้า แล้ว จากข้อมูลสถิติผลกระทบจากน้ำเมาลดลงเห็นได้ชัดเจน โดยเฉพาะการจะยกเลิกห้ามขายวันพระใหญ่ ยิ่งไม่เห็นด้วยเพราะคนดื่มก็ได้พักร่างกาย ฉุกคิด ไม่ดื่มต่อเนื่องจนเป็นคนติดสุราเรื้อรัง” พระครูสุวรรณโพธิวรธรรม กล่าว
พระครูสุมณฑ์ธรรมธาดา เจ้าอาวาสวัดคลองกระจง เจ้าคณะตำบลคลองจง จ.สุโขทัย กล่าวว่า ช่วงก่อนมีพ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คนไทยมีการดื่มเหล้ามากเป็นอันดับ 5 ของโลก เนื่องจากไม่มีกฎหมายควบคุม และเป็นภาระโรคที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษามากมาย ทั้งนี้ นโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ต้องการการแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับนี้ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว หวังรายได้เข้าประเทศเพิ่มขึ้น แต่เมื่อเทียบกับอุบัติเหตุที่จะเพิ่มมากขึ้น มีการบาดเจ็บ เสียชีวิต ถือว่าไม่คุ้มเพราะเป็นค่าใช้จ่ายจากภาระโรคที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
ด้านพระครูอมรชัยคุณ (หลวงตาแชร์) เจ้าคณะตำบลสีคิ้ว เขต 1 เจ้าอาวาสวัดสุชัยคณาราม จ.นครราชสีมา กล่าวว่า พระสงฆ์ทั้งประเทศได้ร่วมกันขับเคลื่อนงานลด ละ เลิกเรื่องเหล้ากันมานาน กว่าจะผลักดันสำเร็จมีกฎหมายรับรอง ถือเป็นความสุขที่สงบเย็นของชุมชน สังคม นโยบายที่คณะสงฆ์วางไว้มีหลักการดีอยู่แล้ว คนที่เข้ามาบริหารประเทศควรเห็นความสำคัญของความสุขความเจริญของบ้านเมืองเป็นหลัก รัฐบาลควรวางนโยบายที่เป็นความสงบสุขของคนหมู่มาก ไม่ใช้หวังจะเอาเงินหรือผลประโยชน์อย่างเดียว ทั้งนี้ หวังว่ารัฐบาลคงจะไม่ทำลายศิลปวัฒนธรรม และกฎหมายบ้านเมืองที่ดีอยู่แล้ว ทั้งนี้ เครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาสังฆะเพื่อสังคมทั้ง 9 ภาค ประกอบด้วย 1.พระครูสุวรรณโพธิวรธรรม ภาคตะวันออก 2.พระครูปริยัติสุวัฒนาภรณ์ ภาคตะวันตก 3.พระครูภัทรธรรมคุณ ภาคกลาง 4.พระครูสมุห์วิเชียร คุณธมฺโมภาคเหนือตอนบน 5.พระครูสุมณฑ์ธรรมธาดา ภาคเหนือตอนล่าง 6.พระครูโพธิวีรคุณ ภาคอีสานตอนบน 7.พระครูอมรชัยคุณ ภาคอีสานตอนล่าง 8.พระมหาบวร ปวรธมฺโม ภาคใต้ตอนบน 9.พระครูศาสนกิจจาทร ภาคใต้ตอนล่าง
You must be logged in to post a comment Login