วันอังคารที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

โคกหนองนาโมเดลป่าชายเลนแหลมสิงห์ แนวร่วมฟื้นชีวิต คืนวิถีธรรมชาติ วิถีชุมชน

On May 24, 2024

โคกหนองนา แนวคิดการจัดการพื้นที่ทางการเกษตร ซึ่งเป็นการผสมผสานของเกษตรทฤษฎีใหม่ร่วมกับภูมิปัญญาท้องถิ่นให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพธรรมชาติที่มีอยู่ในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งเป็นการจัดการสภาพแวดล้อมที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติให้เกิดความยั่งยืนเอื้อต่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในชุมชน

ภาพโดยทั่วไปมักจะชินตากับนิยาม “โคกหนองนาโมเดล” บนผืนพื้นนาแห้งแล้งขาดแหล่งน้ำที่เอื้อต่อการเกษตร แต่เมื่อภาพตรงหน้าเป็นบ่อกุ้งร้างเวิ้งว้างไร้ชีวิตชีวา ผลพวงปัญหาความเสื่อมโทรมของพื้นที่จากการเกิดโรคระบาดในกุ้งที่นิยมเลี้ยงตามๆกันทั้งระบบนายทุนและชาวบ้าน กระทั่งราคาตกและประสบภาวะขาดทุนในที่สุด

พระปลัดสาธิต สุจิณโณ วัดบางสระเก้า ตำบลบางสระเก้า อำเภอแหลมสิงห์ รู้และเข้าใจปัญหาที่ชาวบ้านต้องเผชิญเล่าให้ฟังว่า“เดิมชุมชนแถบนี้มีรากฐานมาจากสมัยอยุธยา อาชีพเดิมทำนาข้าว ป่าจากไว้มุงหลังคา สร้างบ้าน มาเปลี่ยนเป็นนากุ้งในปี 2528 เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิศาสตร์ตามการเวลา ส่งผลที่ดินเสียหายเสื่อมโทรม ประกอบกับเกิดปัญหาน้ำยกตัว ดินไหลลงคลองทำให้ชาวบ้านไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้นับตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา พอมาถึงยุคนี้ชาวบ้านเจอปัญหาเรื่องกฎหมายทับซ้อนพื้นที่ที่ชาวบ้านเคยทำกินกันมา ขาดเอกสารสิทธิ์แสดงความเป็นเจ้าของแม้จะอยู่อาศัยมานาน ทำให้ไม่สามารถปรับปรุงพื้นที่ทำกินนั้นๆ ได้ ชาวบ้านพยายามต่อสู้ว่าเขาอยู่มานานตั้งแต่ปู่ย่าตายาย  จึงมาริเริ่มจัดกระบวนการกันใหม่ภายใต้กรอบของกฏหมายให้ชาวบ้านในพื้นที่อยู่ได้และมีที่ดินทำกิน”

ภูมิศาสตร์ที่แปลงสภาพพื้นที่จากนาข้าวเป็นนากุ้งไปเกือบร้อยละ 80 สภาพแวดล้อมของป่าชายเลนเสื่อมโทรม สัตว์ทะเลลดน้อยลง ทำให้การประกอบอาชีพได้น้อยลง รายได้ของชาวแหลมสิงห์จึงน้อยลงไปด้วย ประกอบกับพื้นที่ป่าทับซ้อนกับพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน ตามกฏหมายป่าสงวนแห่งชาติและมติครม.ป่าชายเลนอนุรักษ์ 2543 ประกอบกับการประกาศ คสช.ที่ 64/2557 เกี่ยวกับการปราบปรามหยุดยั้งการบุกรุกทำลายป่า ให้ดำเนินการกับผู้บุกรุกป่าชายเลน  ชาวบ้านตกเป็นผู้ต้องหาเป็นจำนวนมาก ทั้งไม่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ทำกินในพื้นที่นั้นได้

“10 ปีที่แล้ว ชาวบ้านยังมีรายได้จากพื้นที่บ่อกุ้ง แต่เมื่อคสช.เกิดขึ้น ชาวบ้านไม่สามารถนำเครื่องจักรเข้ามาซ่อมแซมบ่อได้บ่อก็จะพัง น้ำก็จะท่วม เลยไม่สามารถเลี้ยงอะไรได้ หาพออยู่พอกินได้นิดๆ หน่อยๆ ถ้าแก้ปัญหาพวกนี้ได้ก็จะขจัดความยากจนได้ ชาวบ้านก็จะสามารถมีรายได้เพิ่มขึ้น”นายธาวิต สุขสิงห์ ประธานวิสาหกิจชุมชนตำบลบางสระเก้า

ซึ่งปัญหานี้กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไขภายใต้กรอบกฏหมายที่เกี่ยวข้อง โดยความพยายามของภาคประชาชนในพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานรัฐทุกภาคส่วนเพื่อให้เขาเหล่านั้นสามารถประกอบสัมมาชีพในพื้นที่นี้ได้อย่างยั่งยืน

รวมกลุ่มพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจใหม่

ปัญหาดังกล่าวยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน นายวิสุทธิ์ ประกอบความดี รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรีและ นางสาวรัศมินท์ พฤกษาทร นายอำเภอแหลมสิงห์ ได้ดำเนินการหารือกับทาง ผอ.สำนักทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 ระยอง ถึงแนวทางที่จะช่วยชาวบ้าน

จากการติดตามโครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข โดยใช้แนวทางเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง(SEDZ : Sufficiency Economy Development Zones) การส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการท่องเที่ยว อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี ระหว่างวันที่ 20-22มีนาคม 2567

นางสาวรัศมินท์ พฤกษทร นายอำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า แนวทางการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้ชาวบ้านทำกินบนพื้นที่นั้นได้ ด้วยการดำเนินการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงขึ้น  ปัจจุบันมีสมาชิกเข้าร่วมโครงการ 408 ครัวเรือน ซึ่งสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ ได้นำที่ดินของตนเองเข้าร่วมโครงการเพื่อจะพัฒนาบ่อกุ้งหรือพื้นที่ให้สามารถประกอบอาชีพทำมาหากินได้โดยไม่บุกรุกป่าชายเลนเพิ่มเติม โดยปักหมุดในพื้นที่ทุกแปลง ตามผู้ที่เคยอยู่มาก่อนกม.ป่าไม้เข้าจริงๆ ไม่ใช่นายทุนเข้ามาใหม่

การขับเคลื่อนแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ จังหวัดจันทบุรี ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายจัดทำข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) จัดพิธีทอดผ้าป่าระดมทุนจัดตั้งกองทุนและหางบประมาณในการจัดหาเครื่องจักรกลเพื่อใช้ปรับปรุงพัฒนาบ่อกุ้งและงบประมาณในการติดตามประเมินผลและขยายพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง

จากบ่อกุ้งร้าง สู่ โคกหนองนา น้ำเค็ม

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติป่าชายเลน

การพัฒนาพื้นที่ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ โดยยึดหลัก บวร โดยมีผู้นำศาสนาเป็นศูนย์รวมใจในการพัฒนาพื้นที่ให้ยั่งยืน  พระปลัดสาธิต สุจิณโณ ได้ให้แนวคิดกับคณะกรรมการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง(SEDZ) ตำบลบางสระเก้า อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรีว่า การจัดกระบวนการปรับปรุงพื้นที่ใหม่ครั้งนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนสูงสุด ให้กำหนดชัดเจนลงไปว่า พื้นที่ไหนจะเป็นเขตอนุรักษ์ เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีไว้บำบัดอากาศ แหล่งออกซิเจนของชุมชน พื้นที่ส่วนไหนจะเป็นส่วนที่ชาวบ้านใช้ทำมาหากิน ประมาณคนละ1- 2 ไร่ ให้มีรายได้และมีชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากนั้นกันเขตพื้นที่สาธารณะเพื่อใช้เป็นศูนย์การเรียนรู้ โดยให้สมาชิกในกลุ่มวิสาหกิจฯ ดูแลกันเอง จ้างกันเองในราคาถูกและร่วมกันไม่ให้เกิดการบุกรุกทำลายสิ่งแวดล้อม  ทั้งกันเขตพื้นที่สำหรับพัฒนาถนนให้เกิดความสะดวกมีไฟฟ้าประปาได้ในอนาคต พื้นที่ตรงนี้จะสร้างรายได้ทั้งเลี้ยงกุ้งเลี้ยงปลาแบบธรรมชาติ และจะประมวลผลทุกปีว่าชาวบ้านมีรายได้พอที่จะเลี้ยงชีพเลี้ยงครอบครัวตัวเองไหม”

ด้านนายธาวิต สุขสิงห์ ประธานวิสาหกิจชุมชน ตำบลบางสระเก้า อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี  เล่าว่าการบริหารจัดการในพื้นที่เน้นให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โครงการนี้เกิดขึ้นมาเพื่อพัฒนาพื้นที่ให้พ้นน้ำ ชาวบ้านสามารถใช้พื้นที่สร้างรายได้เพื่อการดำรงชีวิต เราไม่ได้เน้นจะต้องได้รายได้มาก แค่พออยู่พอกินไม่เบียดเบียนธรรมชาติ อยู่กับธรรมชาติได้และพื้นที่ในการจัดสรรทั้งหมด ชาวบ้านยินดีและกันพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้เป็นสาธารณะประโยชน์

“ชาวบ้านที่อยู่ในกลุ่มวิสาหกิจฯเราก็จะให้เขาสมัครเป็นผู้พิทักษ์ป่าขึ้นตรงกับกรมป่าไม้ชายเลนของกรมทรัพยากรธรณีจะร่วมเป็นเจ้าหน้าที่ป่าที่เรากันไว้ 400 กว่าไร่ ให้เข้าไปกินได้ หาสัตว์น้ำได้ แต่ร่วมกันอนุรํกษ์ไม่ให้มีการตัดไม้ เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืนต่อไป”

“วางแผนไว้ว่าบ่อกว่า 200 บ่อชายน้ำเค็ม จะทำเลียนแบบโคกหนองนา โดยเน้นเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปู เลี้ยงปลาแบบปลอดสารพิษ ไม่เลี้ยงระบบนายทุน อาทิ ปล่อยปู 500 ตัว 2 เดือนชาวบ้านจับปู รายได้วันละ 1000-2000 บาท กลุ่มวิสาหกิจฯจะเป็นตัวกลางในการรับซื้อผลผลิตจากสมาชิกเพื่อจะนำไปส่งจำหน่ายทางตำบลหนองซิ่ม อำเภอแหลมสิงห์ ซึ่งมีโฮมสเตย์ รายได้ส่วนหนึ่งเข้ากลุ่มไว้ซื้อปู พันธุ์กุ้ง โดยสมาชิกต้องทำบัญชีรายรับรายจ่ายเพื่อดูว่าใน 1 ปีมีรายได้และการลงทุนเท่าไร”

นอกเหนือจากการสร้างงานสร้างรายได้ให้ชุมชน ทางกลุ่มวิสาหกิจฯ วางแผนไว้ว่า ในส่วนพื้นที่ป่าจะทำทางเดินศึกษาธรรมชาติ 400 กว่าไร่ และฟื้นฟูระบบน้ำให้เป็นแหล่งอาศัยของตัวอ่อนสัตว์น้ำ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีธรรมชาติในชุมชน ซึ่งมีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์สมกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนต่อไป  กินปู ดูเหยี่ยว เที่ยวธรรมชาติ ต้องมาที่…อำเภอแหลมสิงห์


You must be logged in to post a comment Login