วันอังคารที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

สสส. สานพลังปลุก “เยาวชนภูเก็ต” เป็นนักสื่อสารรุ่นใหม่

On May 30, 2024

ห่วง “บุหรี่ไฟฟ้า” เจาะกลุ่มเด็กและเยาวชน พบสูบเพิ่มขึ้น 5.3 เท่า ใช้อินฟลูฯ โฆษณาผ่านโซเชียลมีเดีย สสส. สานพลังปลุก “เยาวชนภูเก็ต” เป็นนักสื่อสารรุ่นใหม่ รู้เท่าทันพิษภัยบุหรี่ไฟฟ้า ประกาศเจตนารมณ์ร่วมป้องกัน “นักสูบหน้าใหม่” หลังพบในพื้นที่ลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้าเกลื่อนเมือง นศ.สูบบุหรี่ไฟฟ้าถึง 19.2% ซื้อเองผ่านร้านค้า-ออนไลน์

เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2567 ที่หอประชุมพุดพิชญา โรงเรียนเทศบาล 2 บ้านกระทู้ จ.ภูเก็ต โครงการเครือข่ายนักสื่อสารรุ่นใหม่ (New Gen Communicator – NGC) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเทศบาลเมืองกระทู้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต และสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดภูเก็ต จัดงาน “เวทีสาธารณะนักสื่อสารรุ่นใหม่ รู้เท่าทันภัยผลิตภัณฑ์ยาสูบจังหวัดภูเก็ต” โดยมีเด็กและเยาวชนกว่า 200 คน จากสถานศึกษาในจ.ภูเก็ตเข้าร่วมกิจกรรม และร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ในการสื่อสารเพื่อป้องกันนักสูบหน้าใหม่

นายจิรวัฒน์ บุญรักษ์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กล่าวเปิดกิจกรรมว่า ผลิตภัณฑ์ยาสูบเป็นภัยร้ายทั้งตัวผู้สูบเอง รวมถึงคนรอบข้างและสังคมจากควันบุหรี่มือสองทำให้เจ็บป่วยได้เหมือนผู้สูบ สิ่งที่น่ากังวล คือ เด็กและเยาวชนกลายเป็นนักสูบหน้าใหม่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก จากการใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น สำหรับพื้นที่ จ.ภูเก็ต ก็น่าเป็นห่วง เพราะแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเข้ามากว่า 10 ล้านคน ทำให้มีผู้ที่ไม่หวังดีกระทำการผิดกฎหมายลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้า เฉพาะเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา สามารถจับกุมร้านขายบุหรี่เถื่อนและบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงสุราผิดกฎหมายได้ 6 ร้าน ใน อ.เมือง และ อ.กะกู้ มูลค่าความเสียหายกว่า 500 ล้านบาท โดยพบว่ามีการทำกันเป็นกระบวนการ บางสาขาอยู่ห่างจากโรงเรียนเพียง 50 เมตร และบางร้านเปิดอยู่ในย่านตลาด ชุมชนดาวน์ทาวน์ ซึ่งเป็นพื้นที่ย่านเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ต

“สิ่งผิดกฎหมายกำลังเซาะกร่อนบ่อนทำลายสังคมอยู่รอบตัว เป็นชนวนเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ในสังคมตามมา และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเข้าถึงของเด็กและเยาวชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งหาแนวทางหรือวิธีการ เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้ทราบถึงโทษและพิษภัยของผลิตภัณฑ์ยาสูบ โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้า การจัดงานในวันนี้ ถือเป็นการกระตุ้นให้เด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ในสังคมได้รับรู้ และเข้าใจถึงโทษและพิษภัยของผลิตภัณฑ์ยาสูบ และจะร่วมกันในการลดจำนวนนักสูบหน้าใหม่ได้ต่อไป” นายจิรวัฒน์ กล่าว

ด้านนางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า จากผลสำรวจการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบในเยาวชนไทย ปี 2565 โดยกรมควบคุมโรค ร่วมกับ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา สำรวจนักเรียนอายุ 13-15 ปี จำนวน 6,752 คน ในโรงเรียน 87 แห่ง พบว่า 1.เด็กและเยาวชนสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดจาก 3.3% ในปี 2558 เป็น 17.6% ในปี 2565 หรือเพิ่มขึ้น 5.3 เท่า  2.กลยุทธ์ทางการตลาดของอุตสาหกรรมยาสูบ โดยเฉพาะแพลตฟอร์มออนไลน์มุ่งเน้นไปที่เด็กและเยาวชนมากขึ้น มีการพบเห็นโฆษณาและการส่งเสริมการขายทางอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นจาก 27% ในปี 2558 เป็น 48% ในปี 2565 และ 3.นักเรียนมีทัศนคติที่ดีต่อบุหรี่ซอง/บุหรี่ไฟฟ้าที่มีรสชาติ โดย 31.1% เห็นด้วยว่าทำให้สูบง่ายกว่าบุหรี่ธรรมดา และ 36.5% เห็นด้วยว่าจะทำให้เด็กและวัยรุ่นสนใจการสูบมากขึ้น

“ขณะที่สถานการณ์ใน จ.ภูเก็ต ผลสำรวจปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพด้านบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ปี 2566 โครงการสานพลังมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์รณรงค์และจัดการความรู้ ลดปัจจัยเสี่ยงในมหาวิทยาลัยและชุมชน วิทยาเขตภูเก็ต สำรวจนักศึกษา 291 คน พบสูบบุหรี่ 8.5% สูบบุหรี่ไฟฟ้า 19.2% ช่วงอายุที่เริ่มสูบบุหรี่คือ 12-15 ปี มากถึง 5.4 % สูบบุหรี่ไฟฟ้าช่วงอายุ 16-20 ปี สูง 87.5% โดยซื้อเองจากร้านค้า/ร้านค้าออนไลน์ เงินที่จ่ายต่อสัปดาห์คือ 50-200 บาท  โดยมีความตั้งใจเลิกสูบ 64.3%” นางสาวรุ่งอรุณ กล่าว

นางสาวรุ่งอรุณ กล่าวต่อว่า การขับเคลื่อนมาตรการเพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนจากพิษภัยบุหรี่ไฟฟ้า คือ 1.คงมาตรการห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าและควรลงนามในพิธีสารว่าด้วยการขจัดการค้าผลิตภัณฑ์ยาสูบผิดกฎหมายขององค์การอนามัยโลก เพื่อยกระดับการควบคุมและปราบปรามบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมาย  2.บังคับใช้กฎหมายห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะการดำเนินคดีจับปรับ การห้ามโฆษณาและจำหน่ายในแพลตฟอร์มออนไลน์ 3.สร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนสื่อสารรณรงค์ เผยแพร่ข้อมูล/ข้อเท็จจริงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ รู้เท่าทันกลยุทธ์อุตสาหกรรมยาสูบ และเพิ่มภูมิคุ้มกันในการป้องกันการสูบบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชน

ด้านนางสาวยศวดี ดิสสระ ผู้อำนวยการโครงการนักสื่อสารรุ่นใหม่ รู้เท่าทันภัยผลิตภัณฑ์ยาสูบ กล่าวว่า ปัจจุบันมีเด็กและเยาวชนเป็นนักสูบหน้าใหม่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้า จากการสำรวจนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาและระดับปริญญากว่า 2,000 คน พบว่า 1 ใน 3 หรือกว่า 30% เคยใช้บุหรี่ไฟฟ้าอย่างน้อย 1 ครั้ง นักศึกษาในมหาวิทยาลัยกว่า 60% มีอุปกรณ์บุหรี่ไฟฟ้า ขณะที่บริษัทบุหรี่มีกลยุทธ์การตลาดโดยพัฒนารูปแบบบุหรี่ไฟฟ้าให้เข้าถึงกลุ่มเด็กและเยาวชนมากขึ้น ทั้งรูปแบบที่พกพาสะดวก ทันสมัย น้ำยาที่มีกลิ่นและรสชาติหลากหลาย การโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์หรือใช้ Influencerในโซเชียลมีเดีย ทุกภาคส่วนจึงต้องร่วมกันขับเคลื่อนงานเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนตกเป็นเหยื่อ


You must be logged in to post a comment Login