วันพุธที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

“กสศ.”ผนึก “ม.หอการค้าไทย- ม.ชิคาโก” วิจัยพัฒนานโยบายยกระดับทุนมนุษย์ไทยเพื่อยุติความเหลื่อมล้ำตั้งแต่ปฐมวัย

On June 10, 2024

กสศ. ม.หอการค้าไทย ม.ชิคาโก ร่วมวิจัยพัฒนานโยบายยกระดับทุนมนุษย์ไทยเพื่อยุติความเหลื่อมล้ำตั้งแต่ปฐมวัย

ศ.ดร.เจมส์ เจ เฮคแมน  เสนอแนะประเทศไทยว่า  การลงทุนส่งเสริมการเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยให้แก่ผู้ปกครอง มีความคุ้มค่า  สามารถช่วยให้เด็กที่เติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่มีรายได้น้อย มีโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิตและลดปัญหาความยากจนของเด็กลงได้  มีหลักฐานยืนยันความสำเร็จจากหลายประเทศ ขณะที่กสศ.     และม.หอการค้าเปิดผลวิจัย การพัฒนาการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครองผ่านการเยี่ยมบ้านและให้คำแนะนำ ใน 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ พบว่า ส่งผลให้เด็กมีทักษะหรือพัฒนาการดีอย่างมีนัยยสำคัญ

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2567  กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)   มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย    และ Center for Economics of Human Development, University of Chicago   โดย Professor James J. Heckman   ริเริ่มความร่วมมือ ในข้อตกลงทางวิชาการเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาและพัฒนาทุนมนุษย์  เพื่อช่วยให้ประเทศไทยมีเครื่องมือทางนโยบายและข้อเสนอนโยบายในการพัฒนาทุนมนุษย์ได้อย่างรวดเร็วที่สุด และเริ่มต้นตั้งแต่แรกเกิด จนถึงวัยแรงงาน

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) กล่าวว่า  ประเทศไทยกำลังอยู่ในสถานการณ์ความท้าทายสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ  เราก้าวเป็นสังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) และอัตราเด็กเกิดใหม่ลดลงต่ำกว่าปีละ 500,000 คนเท่านั้น  รวมทั้งจากข้อมูลเด็กและเยาวชนที่ไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษาใน 77 จังหวัดทั่วประเทศปี 2566  พบว่าช่วงอายุระหว่าง 3-5 ปี มีจำนวนถึง 317,024 คน  ที่ยังไม่ได้เข้าสู่การพัฒนาที่เหมาะสม ซึ่งเป็นสัญญาณที่น่าเป็นห่วงว่า ถ้าเราต้องการพัฒนาประเทศโดยใช้รากฐานของการพัฒนาคนเป็นตัวตั้ง ไม่ควรปล่อยให้เด็กปฐมวัยจำนวนมากขาดการพัฒนาที่เหมาะสมอีกต่อไป

ดร.ไกรยส ระบุว่า ความร่วมมือระหว่าง 3 องค์กรในครั้งนี้ เป็นระยะเวลา 5 ปี   มุ่งเน้นนำองค์ความรู้ประสบการณ์ผลงานวิจัยที่ดีที่สุด พัฒนาเด็กไทยที่เกิดน้อยลงทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลไกสำคัญของการเลี้ยงดู  การช่วยเหลือครอบครัวที่ต้องการการสนับสนุนอย่างเต็มที่  จะช่วยให้ประเทศไทยมีเครื่องมือทางนโยบายและมีข้อเสนอเชิงนโยบายในการพัฒนาทุนมนุษย์ได้อย่าวรวดเร็วที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้ และเริ่มตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งนอกจากการพัฒนาด้วยเครื่องมือที่เหมาะสมแล้ว  จะมีกลไกการประเมินการทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความเข้าใจว่า บทเรียนที่เรานำมาจากต่างประเทศหากจะมาใช้ในประเทศไทยควรจะต้องทำอย่างไร บนเงื่อนไขอะไร การสนับสนุนแบบไหน ที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย

“ หนึ่งในหัวใจสำคัญของการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่เป็นมีการพูดถึงมานานในประเทศไทยและระดับนานาชาติคือการเลี้ยงดู บทบาทของครอบครัว บทบาทของการเลี้ยงดูที่ส่งเสริมพัฒนาการอย่างเหมาะสมและทันเวลา  ความร่วมมือครั้งนี้ จะนำมาสู่แนวทางการกำหนดนโยบาย และมาตรการในการพัฒนาการเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยในบริบทของประเทศไทย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครอบครัวที่เป็นครอบครัวยากจน ครอบครัวแหว่งกลาง ซึ่งเป็นครอบครัวที่มีปัญหาต่างๆ  และจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่”

ปัญหาทางสังคมของผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 80 มีรากฐานมาจากช่วงวัยเด็กก่อนอายุ 5 ปี ดังนั้นการระบุเด็กที่มีความเสี่ยงตั้งแต่วัยเด็ก (ช่วงก่อนอายุ 5 ปี) และส่งเสริมการเลี้ยงดูให้แก่ครอบครัวเพื่อพัฒนาทักษะ และพฤติกรรมเชิงบวกในช่วงปฐมวัย จะช่วยป้องกันปัญหานี้ได้

“การลงทุนส่งเสริมการเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยให้แก่ผู้ปกครอง มีความคุ้มค่า เป็นแนวทางสำคัญในการพัฒนาทักษะ และแก้ไขปัญหาสังคมที่สามารถส่งผลต่อเด็กทั้งในรุ่นปัจจุบันและรุ่นถัดไป    อีกทั้งสามารถช่วยให้เด็กที่เติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่มีรายได้น้อย มีโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิตและลดปัญหาความยากจนของเด็กลงได้”

ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.วีระชาติ กิเลนทอง  ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย | RIPED มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  กล่าวถึงผลการวิจัยร่วมกับกสศ. ในโปรแกรมการพัฒนาการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครองผ่านการเยี่ยมบ้านด้วยหลักสูตร Reach Up (home visiting parenting program) ที่วิจัยกับ  494 ครอบครัว   ใน 6 พื้นที่ทั่วประเทศ  มีการเยี่ยมบ้านได้ทั้งหมด 15,785 ครั้ง คิดเป็น 32 ครั้งต่อคนมีผู้เยี่ยมบ้านทั้งหมด 119 คน โดยส่วนใหญ่เป็นครูปฐมวัยในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ร้อยละ 64) อีกส่วนหนึ่งเป็นอาสาสมัครสาธารณสุข หรือ อสม. (ร้อยละ 28) ส่วนที่เหลือเป็นอาสาสมัครในชุมชน (ร้อยละ 8) ผลการประเมินหลัก พบว่า เด็กปฐมวัยที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมการพัฒนาการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครองผ่านการเยี่ยมบ้าน (parenting home visiting) มีทักษะหรือพัฒนาการดีกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ การเยี่ยมบ้านหนึ่งครั้งสามารถช่วยให้เด็กปฐมวัยมีพัฒนาการดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ดีเมื่อนำผลการประเมินหลักของไทยไปเปรียบเทียบกับผลของโครงการที่ใช้หลักสูตร Reach Up ภายใต้โครงการChina REACH ซึ่งเริ่มต้นวิจัยกับเด็กยังมีอายุไม่ถึงหนึ่งขวบ (11 เดือน)และยังไม่เข้าเรียน รวมทั้งเป็นกลุ่มทดลองที่มีฐานะยากจนมากกว่าการวิจัยในประเทศไทย พบว่า กิจกรรมการเยี่ยมบ้านเป็นเครื่องมือที่สามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านทุนมนุษย์ (human capital) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากนำไปใช้กับเด็กปฐมวัยที่ด้อยโอกาสมากและเริ่มต้นตั้งแต่อายุน้อย

รองศาสตราจารย์ ดร.วีระชาติ  กล่าวว่า พ่อแม่และผู้เลี้ยงดูถือเป็นบุคคลสำคัญที่สุดในช่วงก่อนวัยเรียน แต่จะสามารถอบรมเลี้ยงดูเด็กได้อย่างเต็มที่และมีคุณภาพ ก็ต่อเมื่อมีความรู้ ทัศนคติและมีความเข้าใจในวิธีการปฏิบัติที่เหมาะสมกับเด็ก ดังนั้น นอกเหนือจากการเข้าถึงบริการระบบสุขภาพ การศึกษา และสวัสดิการสังคมขั้นพื้นฐานแล้ว พ่อแม่และผู้เลี้ยง ดูจึงควรได้รับคำแนะนำ การช่วยเหลือ และการสนับสนุน ทั้งในด้านความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการเด็กและแนวทางการเลี้ยงดูเด็กผ่านการพัฒนาการอบรมเลี้ยงดู (parenting program)

สำหรับ หลักสูตร Reach Up เป็นแนวทางการพัฒนาการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครองผ่านการเยี่ยมบ้าน (home  visiting parenting program)  โดยใช้หลักการทั่วไปของการเลี้ยงลูกเชิงบวก (positive parenting) ที่เน้นการกระตุ้นพัฒนาการเด็กปฐมวัย (psychosocial stimulation) และการสร้างปฏิสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างแม่และเด็ก (positive mother-child interaction) ผ่านการสนทนากับเด็ก (conversing) การบอกชื่อสิ่งของหรือการกระทำ (labeling) การเล่นกับเด็ก (playing) สามารถช่วยส่งเสริมพัฒนาการเด็กได้อย่างมีนัยสำคัญ ในขณะเดียวกัน การทดลองในภาคสนามก็ชี้ให้เห็นว่า การพัฒนาการอบรมเลี้ยงดู (parenting) ที่ได้ผลมักจะอยู่ในรูปของกิจกรรมที่เน้นการให้กำลังใจ (positive reinforcement) ทั้งเด็กและผู้ปกครอง และเน้นการสาธิต (demonstration) การทำกิจกรรมร่วมกับเด็ก โดยผู้เยี่ยมบ้าน (home visitor) จะสาธิตการทำกิจกรรมร่วมกับเด็ก ส่งเสริม และให้คำแนะนำแก่ผู้ปกครอง


You must be logged in to post a comment Login