วันอังคารที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

รู้หรือไม่ บิทคอยน์เคยเฟ้อยิ่งกว่าเงินเฟียต

On June 11, 2024

คอลัมน์ :โลกอสังหาฯ

ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่  11 มิ.ย.  67)

เป็นที่ทราบกันดีว่าบิทคอยน์มักถูกเปรียบเทียบกับทองคำ ด้วยการอ้างถึงคุณลักษณะการมีอุปทานจำกัด ที่มีเพียงแค่ 21 ล้านเหรียญเท่านั้นที่จะสามารถถูกขุดขึ้นมาได้ ทำให้หลายคนหลงเชื่อว่ามันจะเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับทองคำ อย่างไรก็ดี ความเชื่อนี้อาจจะเป็นเพียงความเข้าใจผิดที่อันตรายและอาจนำไปสู่หายนะทางการเงินของผู้ลงทุนได้ในอนาคต

หากพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน จะเห็นได้ว่าบิทคอยน์และทองคำมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงในเรื่องที่มาของอุปทานอันจำกัด ทองคำเป็นผลผลิตอันยิ่งใหญ่จากกระบวนการสร้างที่กินระยะเวลาเนิ่นนานหลายพันล้านปี การรวมตัวกันของดาวนิวตรอนที่นำไปสู่การระเบิดของซูเปอร์โนวา เป็นเหตุการณ์ครั้งใหญ่ในจักรวาลที่ทำให้เกิดธาตุหนักและกระจายออกไปในอวกาศและสะสมบนดาวเคราะห์และดาวเคราะห์น้อยต่างๆ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของโลกของเรา กระบวนการยาวนานนับพันล้านปีดังกล่าวนี้เองที่เป็นหลักประกันถึงความมีค่า ความหายาก และความน่าเชื่อถือของทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่มีความคงทนถาวรและมีปริมาณอันจำกัดบนโลก

ในทางตรงกันข้าม บิทคอยน์เป็นเพียงโค้ดคอมพิวเตอร์ที่ถูกสร้างขึ้นโดยมนุษย์ การกำหนดอุปทานไว้ที่ 21 ล้านเหรียญเป็นเพียงเงื่อนไขที่ถูกเขียนขึ้นในระดับซอฟต์แวร์เท่านั้น ซึ่งมีโอกาสที่จะผิดพลาดหรือถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาจากฝีมือของนักพัฒนาหรือผู้ไม่หวังดี และนั่นคือสิ่งที่เคยเกิดขึ้นแล้วในปี 2010

ในปี 2010 เพียงหนึ่งปีหลังจากบิทคอยน์เปิดตัว ผู้ไม่หวังดีหรือแฮคเกอร์ได้ค้นพบข้อบกพร่องร้ายแรงในโค้ด (bug) ส่งผลให้เขาสามารถเสกบิทคอยน์ออกมาในบล็อกที่ 74638 ถึง 184,467,440,737.09551616 BTC ซึ่งเมื่อเราเทียบกับจำนวนของบิทคอยน์ที่ถูกขุดออกมาแล้วในตอนนั้น จะมีปริมาณเกือบ 50,000 เท่า หรือราวๆ 5,000,000% ถือว่าเป็นอัตราเฟ้อที่มากกว่าปริมาณเงินดอลล่าที่สหรัฐอเมริกาพิมพ์ออกมาในระยะเวลา 100 ปีมานี้อย่างมหาศาล แต่สิ่งนี้กลับเกิดขึ้นภายในวันเดียวในโลกของบิทคอยน์ แม้สถานการณ์จะถูกแก้ไขอย่างทันท่วงทีด้วยการ fork และแก้ไขธุรกรรมให้เป็นโมฆะ แต่เหตุการณ์นี้ก็ได้เปิดเผยให้เห็นถึงความเปราะบางอย่างร้ายแรงที่แฝงอยู่ในบิทคอยน์ และความผิดพลาดแบบนี้มีโอกาสจะเกิดขึ้นอีกเมื่อใดก็ได้ในอนาคต

คุณสมบัติการไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ (Immutability) ถือเป็นจุดขายสำคัญของบิทคอยน์ โดยหมายถึงธุรกรรมทุกรายการบนบล็อกเชนจะถูกบันทึกอย่างถาวรและไม่อาจแก้ไขได้ อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ในปี 2010 ได้เปิดเผยให้เห็นว่าประวัติธุรกรรมบิทคอยน์ยังคงสามารถถูกแทรกแซงและบิดเบือนได้โดยมนุษย์ ซึ่งขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับหลักการไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างที่อวดอ้าง การที่ธุรกรรมสามารถถูกย้อนกลับหรือแก้ไขได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม รวมถึงการแก้ไขข้อผิดพลาดทางเทคนิค ล้วนเป็นการคลาดเคลื่อนจากปรัชญาพื้นฐานของบิทคอยน์อย่างสิ้นเชิง ทำให้ไม่อาจอ้างคุณสมบัติ Immutability นี้ได้อีกต่อไป

การ fork เพื่อแก้ไขธุรกรรมไม่ได้ถือเป็นเรื่องปกติหรือมาตรฐานในการดำเนินการเครือข่ายบิทคอยน์ ปกติแล้วการ  fork จะใช้เพื่อนำเสนอการปรับปรุงกฎการตรวจสอบบล็อกและธุรกรรมให้เข้มงวดขึ้นเท่านั้น โดยไม่ทำให้บล็อกที่เคยถูกสร้างขึ้นต้องถูกตัดออกจากเครือข่าย นั่นหมายความว่าการใช้กระบวนการ fork ในครั้งนี้เพื่อย้อนกลับธุรกรรม ก็สะท้อนให้เห็นว่าในความเป็นจริง ชุมชนบิทคอยน์ได้ละเมิดหลักการพื้นฐานที่ตัวเองตั้งเอาไว้ ทั้งๆที่ตามหลักแล้วธุรกรรมที่เกิดขึ้นบนบล็อกเชนไม่ควรถูกแก้ไขได้

ลองจินตนาการถึงวันที่นักวิทยาศาสตร์สามารถผลิตทองคำจากห้องปฏิบัติการได้อย่างไม่จำกัดด้วยต้นทุนที่ถูกมาก การค้นพบนั้นจะทำลายมูลค่าของทองคำทันที เพราะหลังจากการค้นพบนี้แล้ว จะไม่มีสิ่งใดที่จะสามารถคืนค่าให้กับความหายากและหนักแน่นของทองคำที่สั่งสมมานับล้านปีได้อีก ในทางตรงกันข้าม บิทคอยน์กลับขาดความหนักแน่นดังกล่าว เนื่องจากสามารถแก้ไขกฎเกณฑ์ได้ตามต้องการแม้ในนามของการอยู่รอด การไม่ยึดมั่นต่อหลักการที่ตั้งไว้ตั้งแต่เริ่มแรกนี้เอง ทำให้คุณสมบัติการไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ (Immutability) ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดขายของบิทคอยน์นั้นไม่น่าเชื่อถืออีกต่อไป นี่คือความต่างระหว่างทองคำและบิทคอยน์

แม้ว่าในกรณีนี้ การแก้ไขจะมีขึ้นเพื่อแก้ปัญหาทางเทคนิคที่ร้ายแรง แต่มันก็ได้เปิดช่องให้เกิดคำถามถึงความเป็นไปได้ที่ธุรกรรมอาจถูกแก้ไขได้ด้วยเหตุผลอื่นๆ ในอนาคต เมื่อเวลาผ่านไป การพัฒนาบิทคอยน์อย่างต่อเนื่องจะนำไปสู่ระบบที่ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจัยนี้ส่งผลให้ความเสี่ยงจากข้อบกพร่องและการโจมตีทางไซเบอร์เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากยิ่งมีการเพิ่มเติมโค้ดที่ซับซ้อนมากขึ้นเท่าใด ระบบโดยรวมก็ยิ่งมีความสลับซับซ้อนและขนาดใหญ่โตมากขึ้นเท่านั้น ด้วยลักษณะดังกล่าว โอกาสที่จะมีช่องโหว่หรือข้อผิดพลาดเกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจย่อมสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามขนาดและความซับซ้อนของระบบที่เพิ่มขึ้น

หากมองไปยังองค์กรระดับโลกที่มีทีมพัฒนาซอฟต์แวร์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ไม่ว่าจะเป็นไมโครซอฟต์ กูเกิล เฟสบุค หรือแอมะซอน ซึ่งมีนักพัฒนาฝีมือดีนับหมื่นนับแสนคน มีงบประมาณในการวิจัยและพัฒนาสูงถึงระดับหลายพันล้านดอลลาร์ มากกว่าทรัพยากรที่บิทคอยน์มีอยู่อย่างมหาศาล แต่กระนั้นก็ยังมีข้อผิดพลาดและช่องโหว่ใหม่ๆ ในผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ของพวกเขาเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นระบบปฏิบัติการ Windows ของไมโครซอฟต์ที่ยังมีช่องโหว่ในความปลอดภัยใหม่ๆ ถูกค้นพบอยู่เป็นประจำ และผู้ใช้งานต้องอัพเดทอยู่เสมอ แม้จะมีการพัฒนามานานหลายสิบปีแล้ว

หรือแม้กระทั่งซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สอย่าง Linux ที่มีนักพัฒนาอาสาสมัครจากทั่วโลกร่วมกันเขียนโค้ดและตรวจสอบคุณภาพ ก็ยังคงเผชิญกับปัญหาช่องโหว่ทางด้านความปลอดภัยอยู่เสมอ โดยในปีที่ผ่านๆมาตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา เฉลี่ยแล้วจะมีช่องโหว่ความปลอดภัยใน Linux Kernel ถูกรายงานถึง 250-450 รายการต่อปี

จากตัวอย่างเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นข้อเท็จจริงอันโหดร้ายว่า ไม่ว่าจะมีทีมนักพัฒนาที่เก่งกาจเพียงใด ใช้เงินทุนมหาศาลเท่าไหร่ ก็แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่ซอฟต์แวร์ซับซ้อนขนาดใหญ่จะไม่มีข้อบกพร่องหลงเหลืออยู่ การเผชิญกับความเสี่ยงด้านความปลอดภัยนั้นแทบจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นระบบปฏิบัติการหรือแอปพลิเคชันยักษ์ใหญ่ระดับโลก

เมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีทรัพยากรมหาศาล ทีมพัฒนาบิทคอยน์กลับมีขนาดเล็กและงบประมาณจำกัด ด้วยข้อจำกัดนี้ โอกาสที่จะเกิดข้อผิดพลาดในการเขียนโค้ดจึงสูงกว่ามาก อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากข้อบกพร่องดังกล่าวจะมีความรุนแรงเกินกว่าโปรแกรมธรรมดาทั่วไป เนื่องจากบิทคอยน์มีมูลค่าการลงทุนมหาศาลผูกพันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวมเฮดจ์ฟันด์ขนาดใหญ่ กองทุน ETF ที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ หรือนักลงทุนรายย่อยจำนวนหลายล้านรายทั่วโลก ทุกคนต่างคาดหวังและลงทุนกับบิทคอยน์ในฐานะ “ทองคำดิจิทัล” ที่ปลอดภัยและมีอุปทานจำกัด การเกิดข้อผิดพลาดหรือช่องโหว่ขึ้นในระบบจึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ได้เด็ดขาด เพราะจะสร้างความสูญเสียจำนวนมหาศาลให้กับนักลงทุนทุกระดับ ตั้งแต่กองทุนสถาบันยักษ์ใหญ่ไปจนถึงนักเก็งกำไรรายย่อย ความเชื่อมั่นในบิทคอยน์จะพังครืนลงในพริบตา ส่งผลให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินครั้งใหญ่ในระดับโลก

ลองจินตนาการถึงสถานการณ์ที่ในอนาคตมีใครบางคนค้นพบช่องโหว่ใหม่ที่ทำให้สามารถสร้างบิทคอยน์ออกมาได้อีกหลายล้านเหรียญ หรือสร้างเหรียญออกมาได้แบบไม่จำกัด เช่นเดียวกับในปี 2010 แน่นอนว่าเหตุการณ์นี้ย่อมนำไปสู่ความล่มสลายของราคาบิทคอยน์และความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่หายไปในพริบตา

เหตุการณ์ช่องโหว่ที่ทำให้เกิดการสร้างบิทคอยน์จำนวนมหาศาลขึ้นในปี 2010 นั้นถือเป็นหนึ่งในข้อบกพร่องร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของบิทคอยน์ แม้จะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายมากนักในขณะนั้นเนื่องจากบิทคอยน์ยังมีมูลค่าต่ำและผู้ใช้งานน้อยมาก แต่เหตุการณ์ครั้งนี้กลับเปิดเผยให้เห็นถึงความเปราะบางของระบบบิทคอยน์ที่สามารถถูกคุกคามได้จากผู้ไม่หวังดีหรือจากข้อผิดพลาดทางด้านเทคนิค

หากเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันนี้เกิดขึ้นอีกในปัจจุบันหรืออนาคตที่บิทคอยน์มีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ และมีผู้ใช้งานอย่างแพร่หลาย ผลกระทบที่ตามมาคงจะร้ายแรงอย่างประมาณค่ามิได้ ราคาบิทคอยน์อาจพังครืนลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงเช่นเดียวกับการล่มสลายของเหรียญ Luna ในปี 2022 ซึ่งสร้างความเสียหายให้แก่นักลงทุนจำนวนมหาศาล แต่ในกรณีของบิทคอยน์อาจจะยิ่งร้ายแรงกว่านั้น เนื่องจากบิทคอยน์เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดและมีนักลงทุนรายย่อยจำนวนมหาศาล การล่มสลายของบิทคอยน์จึงอาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบการเงินโลกได้

ประเด็นน่ากังวลอีกประการหนึ่งคือการที่ผู้ริเริ่มโครงการบิทคอยน์อย่าง ซาโตชิ นากาโมโต้ ไม่ยอมเปิดเผยตัวตนและหายสาบสูญไปพร้อมกับการถือครองบิทคอยน์จำนวนมหาศาลถึง 1.1 ล้านเหรียญ หากนายซาโตชิเลือกที่จะเทขายบิทคอยน์เหล่านี้ทิ้งพร้อมๆ กัน ย่อมส่งผลกระทบรุนแรงต่อตลาดบิทคอยน์ได้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อย่างไรก็ตาม การที่เขาปิดบังตัวตนและไม่ปรากฏตัวนั้น ทำให้ยากที่จะสืบหาตัวบุคคลมารับผิดชอบหากเกิดเหตุวิกฤตร้ายแรงกับบิทคอยน์ในอนาคต ซึ่งแตกต่างจากสถาบันการเงินและนวัตกรรมทางการเงินอื่นๆ ที่มักจะมีผู้รับผิดชอบชัดเจน การขาดผู้รับผิดชอบที่ชัดเจนนี้ ประกอบกับความเสี่ยงด้านความปลอดภัยจากข้อบกพร่องทางเทคนิคที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ความน่าเชื่อถือและความมั่นคงของบิทคอยน์ในระยะยาวตกอยู่ในสภาวะน่ากังวล การหวังให้บิทคอยน์มีความมั่นคงเทียบเท่าทองคำจริงๆ นั้นจึงอาจเป็นความคาดหวังที่สูงเกินไปและมองข้ามความเสี่ยงที่แฝงอยู่ในตัวบิทคอยน์เสียเลย

ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า คุณสมบัติด้านอุปทานจำกัดของบิทคอยน์นั้นตั้งอยู่บนสมมติฐานที่เปราะบางและมีความเสี่ยงสูง ผู้คนที่หลวมตัวเข้าไปในตลาดจึงต้องตระหนักถึงความจริงที่ว่า มูลค่าของบิทคอยน์สามารถตกลงจนเหลือศูนย์ได้ในชั่วข้ามคืนหากเกิดข้อผิดพลาดแบบเดียวกันเกิดขึ้นอีกในปี 2010

(แปลและเรียบเรียงโดย FC ดร.โสภณ พรโชคชัย)


อ้างอิง

https://neptunemutual.com/blog/analysis-of-the-overflow-bug-in-bitcoin/

https://www.facebook.com/story.php/?story_fbid=991537022534507&id=100050346555986&_rdr

https://www.blockdit.com/posts/60f05feb0ce1ad0d1b3ba7f1

https://pantip.com/topic/36880355


You must be logged in to post a comment Login