วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

หมอรามาฯ เผย วัยรุ่นสูบบุหรี่ไฟฟ้า 53% มีภาวะเสี่ยงซึมเศร้า

On June 17, 2024

ทั่วโลกพบปัญหาสุขภาพจิตในวัยรุ่นที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า หมอรามาฯ เผย วัยรุ่นสูบบุหรี่ไฟฟ้า 53% มีภาวะเสี่ยงซึมเศร้า เปิดผลสำรวจนักศึกษา 18 สถาบัน พบ เยาวชนสูบบุหรี่ไฟฟ้า เสี่ยงซึมเศร้าเพิ่ม 1.8 เท่า สูบทั้งบุหรี่ไฟฟ้า บุหรี่มวน เสี่ยงเพิ่ม 2.3 เท่า เหตุ “นิโคติน” ตัวการก่อพิษต่อสมอง ทำเซลล์ประสาทอักเสบ ชี้ทางแก้ ต้องบังคับใช้กฎหมายคุมบุหรี่ไฟฟ้าเข้มงวด เพิ่มมาตรการด้านสาธารณสุขแก้ปัญหาในกลุ่มเยาวชน

เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. ที่โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) จัดแถลงข่าว ‘ปัญหาสุขภาพจิตในวัยรุ่นที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า’ เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้านอกจากอันตรายต่อปอด หัวใจ สมอง แล้วยังส่งผลต่อสุขภาพจิต เพิ่มความเสี่ยงต่อมีอาการซึมเศร้า ความวิตกกังวล ส่งผลกระทบกับการเรียนรู้และคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชน

โดย รศ.นพ.ชัยยศ คงคติธรรม หัวหน้าสาขาวิชาประสาทวิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้า ถือเป็นยาพิษทำลายสมองเด็ก เพราะเด็กวัยรุ่นเป็นช่วงอายุหนึ่งที่สำคัญต่อการพัฒนาของสมอง ที่ระบบสารสื่อประสาทที่จำเป็นต่อการพัฒนาของสมองในช่วงวัยนี้จะถูกรบกวนโดยตรงจากสารนิโคตินที่พบในบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้า โดยนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าเป็นนิโคตินสังเคราะห์ที่ผลิตขึ้นมาสามารถเติมและเพิ่มในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าได้สูงกว่าบุหรี่มวนถึง 10-100 เท่า นิโคตินสังเคราะห์มีคุณสมบัติที่เหนือกว่านิโคตินธรรมชาติ คือ ไม่ระคายคอทำให้เสพได้มาก ดูดซึมได้เร็วกว่าภายใน 7-10 วินาที

“ผลงานวิจัยพบความสัมพันธ์ระหว่างการสูบบุหรี่ไฟฟ้ากับประสิทธิภาพการทำงานของสมองลดลงทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เช่น ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถจดจ่อกับการเรียนหรือการทำงาน ความจำหรือการตัดสินใจแย่ลงกว่าคนที่ไม่สูบ โดยเด็กที่เคยสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มที่ประสิทธิภาพการทำงานของสมองลดลงมากกว่าเด็กที่ไม่เคยสูบถึง 3-4 เท่า ส่วนผู้ใหญ่ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มที่ประสิทธิภาพการทำงานของสมองลดลงมากกว่าคนที่ไม่เคยสูบ 2 เท่า” รศ.นพ.ชัยยศ กล่าว

รศ.ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า จากรายงานทั่วโลกพบสถานการณ์โรคซึมเศร้าในวัยรุ่นมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับการเริ่มมีการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า จากการศึกษาในไทย โดยใช้ข้อมูลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 6 (พ.ศ. 2562-2563) ในกลุ่มอายุ 10-19 ปี จำนวน 4,237 คน พบความสัมพันธ์ระหว่างการสูบบุหรี่ไฟฟ้ากับภาวะซึมเศร้า พบรุ่นที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ากว่าครึ่งหรือ 53% มีภาวะเสี่ยงโรคซึมเศร้า เกิดจากนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าที่มีการแต่งกลิ่นรสชาติ เป็นสารเสพติดเป็นพิษต่อสมองโดยเฉพาะเด็กและวัยรุ่น เมื่อเข้าสู่สมองทำให้เกิดการอักเสบของเซลล์ประสาทในส่วนที่เกี่ยวกับภาวะซึมเศร้า ปัญหาการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในวัยรุ่น และปัญหาโรคซึมเศร้า ถือเป็นภัยคุกคามของระบบสาธารณสุข นำไปสู่ปัญหาสังคมตามมา ดังนั้นทุกฝ่ายต้องช่วยกันจัดการปัญหาอย่างจริงจัง การรณรงค์ให้ความรู้เรื่องบุหรี่ไฟฟ้าที่ถูกต้องกับประชาชนโดยใช้ช่องทางสื่อสารที่เหมาะสม ทันสมัย เข้าถึงได้ง่ายมีความจำเป็น ร่วมกับการยืนยันในนโยบายห้ามจำหน่าย ห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด

นางสาวอัจฉรา ประจงจีบ วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดพิษณุโลก เปิดเผลผลการวิจัย เรื่อง ‘ความสัมพันธ์ระหว่างการใช้บุหรี่ไฟฟ้า การสูบบุหรี่ทั้งแบบไฟฟ้าและแบบมวนร่วมกัน กับความเครียดทางจิตใจในเยาวชนเขตภาคเหนือของประเทศไทย’ ตีพิมพ์ในวารสาร Tobacco Induced Diseases ปี 2567 กลุ่มตัวอย่าง 3,424 คน อายุ 15-24 ปี ใน 18 สถาบันการศึกษา พบว่า ผู้ที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าในปัจจุบัน (ใช้ในระยะเวลา 30 วันที่ผ่านมา) มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้าและภาวะวิตกกังวลมากกว่าผู้ที่ไม่ได้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า 1.80 เท่า และ 1.70 เท่า ตามลำดับ และผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าร่วมกับบุหรี่มวนในปัจจุบันมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้าถึง 2.3 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ใช้บุหรี่ทั้ง 2 ชนิด ซึ่งผลการวิจัยนี้เน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการบังคับใช้กฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพ และการเพิ่มมาตรการด้านสาธารณสุขในการแก้ไขปัญหาจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชน

รศ.ดร.พญ.รัศมี โชติพันธุ์วิทยากุล จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีความสัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้า จากงานวิจัยในวัยรุ่นสหรัฐอเมริกา 14,285 คน พบผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มความเสี่ยงต่ออาการซึมเศร้าเมื่อเทียบกับผู้ไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้าเลย 1.82 เท่า ความคิดฆ่าตัวตาย 1.55 เท่า วางแผนฆ่าตัวตาย 1.62 เท่า และพยายามฆ่าตัวตาย 1.75 เท่า นอกจากนี้ บุหรี่ไฟฟ้ายังเพิ่มความเสี่ยงต่อการใช้สารเสพติดอื่นๆ ด้วย ซึ่งเป็นเหตุของความผิดปกติทางจิตอื่นๆ เพิ่มเติม โดยเกิดกลไกการเปลี่ยนแปลงในสมอง จิตใจ และสังคม เมื่อสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่ประกอบด้วย นิโคติน ซึ่งเป็นสารเสพติดออกฤทธิ์แบบกระตุ้น จะส่งผลต่อสารสื่อประสาทในสมอง ได้แก่ โดพามีน และเซโรโทนิน ซึ่งมีหน้าที่สำคัญต่อการควบคุมอารมณ์ ความรู้สึก

“เมื่อนิโคตินเข้าสู่สมองภายในไม่กี่วินาที ฤทธิ์การกระตุ้นของนิโคติน ทำให้หัวใจทำงานมากขึ้น มีเลือดไปเลี้ยงสมองมากขึ้นทำให้รู้สึกสดชื่น ตาตื่น ไม่ง่วงนอน ขณะเดียวกันก็กระตุ้นให้โดพามีนซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ทำให้เกิดความรู้สึกตื่นเต้น ฟิน หลั่งออกมาในปริมาณมากกว่าภาวะปกติที่ได้จากการทำกิจกรรมสันทนาการอื่นๆ ดังนั้นไม่กี่วินาทีหลังสูบบุหรี่ไฟฟ้าจะส่งผลให้รู้สึกโล่ง โปร่ง สดชื่น เสมือนหนึ่งคลายเครียด แต่เมื่อฤทธิ์ของนิโคตินหมดลง สารสื่อประสาทโดพามีน และฤทธิ์การกระตุ้นสมองและร่างกายกลับสู่ภาวะปกติ ทำให้รู้สึกอารมณ์ตก หงุดหงิด และมีอาการเศร้าได้” รศ.ดร.พญ.รัศมี กล่าว

รศ.ดร.พญ.รัศมี กล่าวว่า กลไกที่เกี่ยวข้องกับจิตใจและสังคม อธิบายได้จากความรู้สึกสดชื่นทำให้เกิดภาพจำในจิตใจว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้า ทำให้สดชื่น คลายเครียด จึงทำให้เกิดการเสพติดในระดับจิตใจ นอกจากนี้การสูบบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนที่มาพร้อมกับภาพจำที่ทำให้ตนเองรู้สึกดีในระดับสังคม เช่น มีกลุ่มเพื่อนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าด้วยกัน ได้รับการยอมรับ หรือเข้าใจว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าทำให้เท่ ทำให้เกิดการเสพติดในระดับสังคม บุหรี่ไฟฟ้านอกจากอันตรายต่อปอด หัวใจ สมอง แล้วยังส่งผลต่อสุขภาพจิต เพิ่มความเสี่ยงต่อมีอาการซึมเศร้า ความวิตกกังวล การฆ่าตัวตาย อาการคล้ายสมาธิสั้น หงุดหงิด ส่งผลกระทบกับการเรียนรู้และคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนไทยเป็นอย่างมาก ดังนั้นผู้ดูแลเด็กควรมีความรู้ ความเข้าใจในการป้องกันไม่ให้เด็กเริ่มหัดสูบบุหรี่ไฟฟ้าและยาสูบทุกชนิด และรัฐบาลต้องมีการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเร่งด่วนและบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาดต่อผู้ลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้า


You must be logged in to post a comment Login