วันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2567

ต้องยึดหลักธรรม 4 ประการ

On June 20, 2024

คอลัมน์ : สำนักข่าวพระพยอม         

ผู้เขียน : พระพยอม กัลยาโณ

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่  20 มิ.ย.  67)

ช่วงนี้เรื่องผัวๆเมียๆ มักจะออกมาแฉ ทะเลาะเบาะแว้ง ขัดแย้งกัน ทำให้ลูกๆคงไม่มีความสุข ถ้าพ่อแม่ทะเลาะกัน การที่ได้อยู่เป็นสามีภรรยาควรจะอยู่ด้วยหลักธรรม 4 ประการ ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ข้อแรก สัจจะ ขอให้มีความจริงใจต่อกัน อย่าเล่นไม่ซื่อจนกระทั่งไว้ใจกันไม่ได้ เพราะสัจจะทำให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ ไว้วางใจ ในความจริงใจต่อกัน 2.ทมะ คือ ข่มจิต ข่มใจ เหมือนลิ้นกับฟันกระทบกัน จะไปเอาลิ้นออก ฟันออก มันก็ไม่ถูก มันต้องอยู่ให้มันกลมกลืน โดยไม่ต้องมีคำว่า กระทบกระทั่ง ยิ่งดีใหญ่

3.ขันติ คือ ความอดกลั้น อดทน อย่างชนิดที่เรียกว่า ทนที่สุด บางคนอยู่กันไม่ทันจะทนเลย ชอบพูดคำว่า เหลือทนต่อกัน เพราะฉะนั้น หลักธรรม 4 ประการ ขันติ แล้วก็จาคะ คือ ต้องสลัดอารมณ์ร้าย อารมณ์เสีย ออกจากใจบ้าง ใครอารมณ์ไม่ดีเข้ามาอยู่ในใจอยู่บ่อยๆ อีกฝ่ายหนึ่งคงจะรับไม่ได้ ต้องเกิดการหย่าร้างกันขึ้น ตอนนี้คู่สามีภรรยารู้สึกจะมีข่าวทุกวัน คนดี คนไม่ดัง พังกันไปแถบๆ

มีหลัก 4 ข้อ นั้นแล้ว  พระพุทธเจ้าตรัสว่า หลักธรรม 4 ข้อนี้ ทำให้อยู่กันมั่นคง ยั่งยืน ยังมีต่ออีกหมวดหนึ่ง ถ้าเกิดต้องอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข ครองเรือนอย่างมีความสุข คือ 1.ต้องมีความขยันหาทรัพย์ทั้ง 2 คน ทั้งสามี ทั้งภรรยา ยิ่งมีลูกยิ่งช่วยหาทรัพย์ ไม่ผลาญทรัพย์อย่างเดียวนี่ ต้องเรียกว่า สวรรค์รำไรเลย สุขกับการหาทรัพย์ได้ มีทรัพย์ 2.ใช้ทรัพย์เป็น ใช้ทรัพย์ให้เกิดคุณ เกิดประโยชน์ ไม่ให้เป็นทุกข์ เป็นโทษ เป็นเวร เป็นภัย

3.เกิดเป็นคนที่เรียกกันว่า หาทรัพย์ได้ ใช้ทรัพย์เป็น ไม่ใช้อย่างสุรุ่ยสุร่าย ถ้ามีเพื่อนดีๆ มีกัลยาณมิตร มีเพื่อนที่มีจิตใจโอบอ้อมอารี จะเป็นฝ่ายญาติหญิง ญาติชาย มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ สุดท้าย ประพฤติตนไม่มีโทษ ไม่ยอมตกอยู่ในสภาพ เรียกกันว่า ประพฤติตนได้ดีงาม ข้อ 4 สำคัญประพฤติตนไม่มีโทษ ไม่มีใครมาโจษให้เป็นจำเลย อยู่กันสบาย อย่างนี้เขาเรียกว่า ทั้งอยู่กันมั่นคง  ยั่งยืน และมีความสุข

ขออย่าลืมหลักธรรมเหล่านี้ คู่สามีภรรยาทั้งหลายจะได้ไม่ต้องเป็นข่าวออกมาหน้านิ้วคิ้วขมวด ระบายความเจ็บปวด ความทุกข์ อย่างชนิดที่เรียกกันว่า น้ำตาไหล เสียงเครือกันให้รู้สึกเจ็บปวด เป็นทุกข์ เพราะไม่มีหลักสุขนั่นเอง

เจริญพร


You must be logged in to post a comment Login