- อย่าไปอินPosted 1 day ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 4 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
ย้อนเวลาไปเรียนประวัติศาสตร์ในพิธีฮัจญ์
คอลัมน์ : สันติธรรม
ผู้เขียน : บรรจง บินกาซัน
(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 21 มิ.ย. 67)
พีธีฮัจญ์ของมุสลิมในปีนี้เริ่มขึ้นในวันที่ 14 มิถุนายน 2567 ณ เมืองมักก๊ะฮฺ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ถึงแม้จะเป็นศาสนพิธีอันเก่าแก่กว่าสามพันปี แต่เนื่องจากเป็นข้อบังคับสำหรับมุสลิมที่สุขภาพดีมีเงินเพียงพอต้องไปปฏิบัติครั้งหนึ่งในชีวิต จำนวนผู้ไปทำฮัจญ์จึงมากขึ้นทุกปีตามการขยายตัวของประชากรมุสลิม ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ในแต่ละปีมีมุสลิมทุกชนชาติจากทั่วโลกไม่ต่ำกว่าสองล้านคนเดินทางไปทำฮัจญ์ ยกเว้นช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
ฮัจญ์โดยภาษาหมายถึง “การมีเจตนาที่จะไปยังที่แห่งหนึ่ง” เพื่อปฏิบัติศาสนกิจตามรูปแบบ ในเวลาและสถานที่ที่ได้ถูกกำหนดไว้
หากใครมองพิธีฮัจญ์จากการปฏิบัติและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของอับราฮัมผู้ถูกพระเจ้าบัญชาให้สร้างก๊ะอฺบ๊ะฮฺ เราจะรู้ได้ทันทีว่าการไปทำฮัจญ์คือการเรียนรู้และการรักษาวีรกรรมแห่งความศรัทธาในพระเจ้าของบุคคลสำคัญในครอบครัวหนึ่งไว้ในจิตวิญญาณ นั่นคือ ครอบครัวของอับราฮัมที่ประกอบด้วยนางฮาการ์ภรรยาและอิสมาอีลบุตรชาย
อับราฮัมถูกพระเจ้าบัญชาให้สร้างก๊ะอฺบ๊ะฮฺเพื่อเป็นสถานที่สำหรับเคารพสักการะพระเจ้าองค์เดียว เมื่อสร้างเสร็จแล้ว พระเจ้าได้บอกวิธีการเวียนรอบก๊ะอฺบ๊ะฮฺและการละหมาดให้ท่าน แต่หลังจากอับราฮัมและอิสมาอีลจากโลกนี้ไป ผู้คนได้เพิกเฉยและหลงลืมพิธีกรรมดังกล่าวจนถึงขนาดนำรูปเจว็ดมากราบไหว้บูชานานนับพันปี นบีมุฮัมมัดจึงถูกส่งมาเพื่อรื้อฟื้นการทำฮัจญ์และการละหมาดที่ถูกต้องตามประสงค์ของพระเจ้าให้ผู้ศรัทธาปฏิบัติสืบไปจนถึงวันสิ้นโลก
อับราฮัมเป็นผู้มีใจศรัทธาในพระเจ้าองค์เดียวอย่างมั่นคงและเชื่อฟังพระองค์ในทุกกรณีโดยไม่อิดเอื้อน ท่านจึงได้ฉายาจากพระเจ้าว่า “เคาะลีลุลลอฮฺ” (สหายสนิทของพระเจ้า)
โดยคำบัญชาของพระองค์ อับราฮัมได้พานางนางฮาการ์และอิสมาอีลเดินทางจากอียิปต์ไปยังหุบเขาบักก๊ะฮฺและทิ้งภรรยากับลูกน้อยไว้ที่นั่นให้เผชิญชีวิตอยู่ตามลำพัง
ผู้หญิงคนใดถูกสามีทอดทิ้งในลักษณะเช่นนี้ คงสาปแช่งสามีของตัวเองตราบที่ยังมีลมหายใจ แต่เมื่อนางรู้จากอับราฮัมว่าสิ่งที่สามีของนางทำไปเป็นเพราะคำบัญชาของพระเจ้า นางจึงไม่สะทกสะท้านเพราะนางเชื่อมั่นศรัทธาว่าหากพระเจ้าประสงค์เช่นนั้น พระองค์จะคุ้มครองและดูแลนางกับลูกน้อย แต่ถึงจะเชื่อมั่นเช่นนั้น นางก็ไม่นั่งนิ่งรอความช่วยเหลือจากพระเจ้า นางวิ่งเหยาะๆไปมาจากเนินเขาเศาะฟาและมัรฺวะฮฺเจ็ดเที่ยวเพื่อมองหาความช่วยเหลือ ในที่สุด พระเจ้าก็ประทานน้ำซัมซัมให้แก่นางเป็นของขวัญแห่งความเชื่อมั่นศรัทธา บ่อน้ำซัมซัมยังมีน้ำให้ผู้ไปทำฮัจญ์ดื่มกินตั้งแต่นั้นจนถึงทุกวันนี้
ดังนั้น การเดินอย่างรีบเร่งไปมาระหว่างเนินเขาเศาะฟาและมัรฺวะฮฺจึงเป็นส่วนหนึ่งของพิธีฮัจญ์เพื่อระลึกถึงความเชื่อมั่นศรัทธาและไว้วางใจในพระเจ้าของนางฮาการ์
เมื่ออับราฮัมกลับไปเยือนครอบครัวของเขาในหุบเขาบักก๊ะฮฺอีกครั้งหนึ่ง อับราฮัมถูกทดสอบความศรัทธาครั้งใหญ่ที่สุดที่ไม่มีมนุษย์คนใดถูกทดสอบ นั่นคือ พระเจ้าได้บัญชาให้ท่านเชือดอิสมาอีลเป็นการพลีถวายให้พระองค์ นี่เป็นจุดสูงสุดของวีรกรรมแห่งความศรัทธาของสองพ่อลูก มีพ่อคนใดบ้างที่กล้าเชือดลูกของตัวเองในเมื่อสัญชาติญาณแห่งการปกป้องคุ้มครองลูกในตัวมนุษย์สูงถึงขั้นยอมสละชีวิตเพื่อลูกได้ ในขณะเดียวกัน มีลูกคนใดบ้างที่จะยอมให้พ่อเชือดตัวเองโดยรู้ว่าพ่อพาแม่และตัวเองมาทิ้งไว้โดยไม่ได้เลี้ยงดู
แต่ด้วยความศรัทธาในพระเจ้าสุดก้นบึ้งหัวใจ อิสมาอีลกลับบอกอับราฮัมพ่อของตนว่า “หากเป็นประสงค์ของพระเจ้า พ่อจงทำตามคำบัญชาเถิด แล้วพ่อจะพบว่าฉันเป็นผู้อดทน” นี่คือจุดสุดยอดแห่งความศรัทธาของสองพ่อลูกที่ไม่มีมนุษย์คนใดทำได้
เมื่ออับราฮัมเงื้อมีดจะเชือดลูกชายตามคำบัญชาของพระเจ้า พระองค์จึงสั่งให้อับราฮัมนำแกะมาเชือดแทนอิสมาอีล นับแต่นั้นมา การเชือดพลีปศุสัตว์จึงเป็นส่วนหนึ่งของพิธีฮัจญ์และผู้ที่ไม่มีโอกาสได้ไปทำฮัจญ์ก็สามารถระลึกถึงวีรกรรมแห่งความศรัทธาของสองพ่อลูกได้โดยการเชือดสัตว์พลีและแจกจ่ายเนื้อสัตว์ที่เชือดให้แก่คนยากจน
You must be logged in to post a comment Login