วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

สสส. ผนึกกำลัง กทม. เดินหน้าประกาศโรงเรียนปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า

On June 21, 2024

สถาบันยุวทัศน์ฯ สสส. ผนึกกำลัง กทม. 109 โรงเรียนมัธยมศึกษาสังกัด กทม. เดินหน้าประกาศโรงเรียนปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ชูแนวคิด “บุหรี่ไฟฟ้า ฟิน จน ตาย” เนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลก ปี 2567 ชี้รัฐบาลจะลดจำนวนผู้ใช้ยาเสพติดได้ ต้องเริ่มต้นจากประตูบานแรกของยาเสพติด

เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2567 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) ประกาศเจตนารมณ์โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครปลอดบุหรี่บุหรี่ไฟฟ้าและสิ่งเสพติด พร้อมปล่อยขบวนรถรับจ้างสาธารณะร่วมรณรงค์กรุงเทพมหานครปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลก ประจำปี 2567 โดยมีผู้บริหารสถานศึกษา บุคลากรทางการศึกษาและนักเรียนแกนนำจากโรงเรียน 109 โรง รวมกว่า 400 คน ร่วมประกาศเจตนารมณ์ หวังลดจำนวนอัตราการสูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชน พร้อมสนับสนุนแกนนำนักเรียนร่วมกันสร้างสุขภาวะที่ดีในกลุ่มนักเรียนโรงเรียนสังกัดกทม.

ดร.วิลาวัลย์ ธรรมชาติ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า รศ.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่ฯ กทม. ได้มีนโยบายประกาศให้โรงเรียนในสังกัด 437 โรง มีแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันและควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า น้ำยา หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ไฟฟ้า มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยสถานศึกษาและสำนักงานเขตทุกแห่งจะต้องดำเนินการ 5 มาตรการ ได้แก่ 1.สถานศึกษาทุกแห่งต้องเป็นสถานศึกษาปลอดบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งต้องจัดให้มีการติดป้ายประกาศหรือประชาสัมพันธ์อย่างชัดเจน 2.ให้สถานศึกษาตรวจสอบสิ่งของที่นักเรียนนำมาใช้ในสถานศึกษา รวมถึงบริเวณโดยรอบ เพื่อป้องกันการพกพาบุหรี่ไฟฟ้ามาใช้ในสถานศึกษา 3.ให้สำนักงานเขตตรวจตราเข้มงวดไม่ให้มีการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้ารอบสถานศึกษา ชุมชน และในพื้นที่ต่าง ๆ โดยมอบหมายให้ฝ่ายเทศกิจ ฝ่ายการศึกษา และฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล บูรณาการร่วมกันบังคับใช้กฎหมาย 4.ให้โรงเรียนจัดทำกล่องสำหรับใส่บุหรี่ไฟฟ้า (Dropbox) ที่ตรวจยึดได้จากนักเรียน และจัดทำบัญชีรายชื่อพร้อมส่งมอบบุหรี่ไฟฟ้าให้สำนักงานเขต และ 5.ให้ศูนย์บริการสาธารณสุขเป็นผู้ให้ความรู้หรือคำปรึกษา ตรวจเยี่ยมสถานศึกษา พร้อมให้การช่วยเหลือบำบัดรักษาการติดบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้าของนักเรียน

ด้าน นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า รัฐบาลและนายกรัฐมนตรี มีนโยบายเร่งด่วนเพื่อลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติด ระยะ 1 ปี โดยออก 10 มาตรการเร่งด่วน ซึ่งหนึ่งในมาตรการสำคัญที่เป็นการทำงานต้นน้ำ คือ มาตรการที่ 5 การป้องกันยาเสพติดไม่ให้เกิดผู้เสพติดรายใหม่ เพราะแม้ว่าหน่วยงานภาครัฐจะมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง แต่หากปล่อยให้เกิดผู้ใช้ยาเสพติดรายใหม่อย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้การบังคับใช้กฎหมายมีความยากลำบาก ขณะที่ภาครัฐต้องสูญเสียงบประมาณสำหรับบำบัดรักษาหรือการฟื้นฟู ดังนั้นการป้องกันไม่ให้เกิดผู้เสพรายใหม่ จึงเป็นหนทางในการแก้ไขปัญหายาเสพติดตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งต้องถอยหลังไปให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาจากสิ่งเสพติดที่จำหน่ายอยู่ตามร้านสะดวกซื้อ ซึ่งก็คือ “บุหรี่” รวมถึงบุหรี่ไฟฟ้า ที่ลักลอบจำหน่ายอย่างผิดกฎหมาย เพราะงานวิจัยทางการแพทย์หลากหลายประเทศได้ยืนยันตรงกันว่า “บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า เป็นประตูบานแรกสู่ยาเสพติด” หากสมองของเด็กและเยาวชนคุ้นเคยกับสิ่งเสพติดเหล่านี้แล้ว ก็ย่อมมีโอกาสพัฒนาไปใช้ยาเสพติดอื่น ๆ ได้เช่นกัน

นพ.พงศ์เทพ กล่าวต่อว่า ข้อมูลจากกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับ ยท. สำรวจพฤติกรรมทางสุขภาพของเด็กและเยาวชนที่อยู่ในศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน และสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน 39 แห่งทั่วประเทศ จำนวน 300 คน ปี 2566 พบมีอายุเฉลี่ย 17 ปี เคยสูบบุหรี่มวน 95.4% ในจำนวนนี้สูบทุกวัน 84.5% และเคยสูบบุหรี่ไฟฟ้า 79.3%  ในจำนวนนี้สูบทุกวัน 30.5% เมื่อจัดลำดับสารเสพติดที่ใช้ พบว่า 80.7% เริ่มใช้ “บุหรี่มวนเป็นสารเสพติดชนิดแรก” และในจำนวนนี้  76¬% พัฒนาไปสู่การใช้ยาเสพติดอื่น ๆ  โดยยาเสพติดที่นิยมมากที่สุดคือ ยาเสพติดประเภทออกฤทธิ์ผสมผสาน กัญชา กระท่อม 45.1% รองลงมาคือ ยาเสพติดประเภทกระตุ้นประสาท ยาบ้า (แอมเฟตามีน) ไอซ์ ยาอี 40.5% ยาเสพติดประเภทกดประสาท ฝิ่น มอร์ฟีน เฮโรอีน สาระเหย 8.9% และยาเสพติดประเภทหลอนประสาท เช่น แอลเอสดี (LSD) เห็ดขี้ควาย สารระเหย 5.5%

“เนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลกปีนี้ สสส. และภาคีเครือข่าย อยากให้เป็นจุดเริ่มต้นของหน่วยงานทุกภาคส่วน เข้ามามีส่วนร่วมรณรงค์และขับเคลื่อนให้เกิดการเลิกสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งนอกจากจะสามารถสร้างสุขภาพที่ดีให้กับประชาชนชาวไทยได้แล้ว ยังสามารถลดปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการใช้ยาเสพติดในอนาคตได้อีกด้วย” ผจก. กองทุน สสส. กล่าว

นายณัฐพงศ์ ดิษยบุตร รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม. มีความร่วมมือที่ดีกับ สสส.   และ ยท. ในการผลักดันให้นักเรียนในโรงเรียนมีส่วนร่วมต่อการแก้ไขปัญหาการสูบบุหรี่ไฟฟ้า เพราะต้องยอมรับว่าการพัฒนาให้แกนนำนักเรียนมาเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา จะมีความเข้าใจที่ดีกับกลุ่มเพื่อน และได้รับความสนใจจากกลุ่มเพื่อนที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้า แม้ว่ากลุ่มเพื่อนจะไม่เลิกสูบบุหรี่ไฟฟ้าในทันที แต่การสื่อสารเชิงบวกเหล่านี้จะมีส่วนทำให้มีโอกาสประสบความสำเร็จในการลดนักสูบหน้าใหม่ เพราะเป็นความหวังดีจากเพื่อนหรือคนรุ่นเดียวกัน โดยต้องยอมรับว่าปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนมีความรุนแรงอย่างมาก กทม. ก็ต้องดำเนินการทุกมาตรการเพื่อยกระดับสุขภาพของเด็กและเยาวชนให้แข็งแรง โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายจริงจังที่ กทม. มีอำนาจโดยรอบสถานศึกษาและการคงไว้ซึ่งมาตรการการห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าต่อเด็กและเยาวชน

นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการ ยท. กล่าวว่า การประกาศเจตนารมณ์โรงเรียนสังกัด กทม. ปลอดบุหรี่บุหรี่ไฟฟ้าและสิ่งเสพติด มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะเป็นการให้สถานศึกษาร่วมกับประกาศเจตนารมณ์แล้ว จะยังมีการสร้างองค์ความรู้และพัฒนาศักยภาพให้เกิดแกนนำบุคลากรทางการศึกษาและแกนนำนักเรียน 400 คน ที่จะร่วมกันสื่อสารภัยอันตรายจากบุหรี่ไฟฟ้า โดยจะสนับสนุนมาตรการโรงเรียนปลอดบุหรี่ของกระทรวงสาธารณสุข และตามประกาศแนวทางปฏิบัติของกทม. และได้จัดให้มีพิธีปล่อยขบวนรถรับจ้างสาธารณะ 50 คัน ที่จะร่วมวิ่งรณรงค์สร้างการรับรู้ รวมถึงจัด Road Show นิทรรศการ “บุหรี่ไฟฟ้า ฟิน จน ตาย” ในโรงเรียนของ กทม. นำร่อง 10 โรง เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับเด็ก เยาวชน และประชาชนตื่นรู้ถึงผลกระทบจากการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าอีกด้วย ทั้งนี้ผู้ที่สนใจอยากเลิกสูบบุหรี่ หรือบุหรี่ไฟฟ้า สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่สายเลิกบุหรี่ 1600 หรือศูนย์บริการสาธารณสุขทั่วทั้ง 50 เขต ของกทม.


You must be logged in to post a comment Login