วันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2567

“สมศักดิ์” ชู “ชุมชนล้อมรักษ์” กุญแจสำคัญแก้ปัญหายาเสพติดแบบยั่งยืน

On June 24, 2024

“สมศักดิ์” ชู “ชุมชนล้อมรักษ์” กุญแจสำคัญแก้ปัญหายาเสพติดแบบยั่งยืน พลิกวิกฤตสู่โอกาส เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย ใช้กลไก พชอ. บำบัด เยี่ยวยา ให้โอกาสกลับตัว สร้างคุณค่า ตอบแทนชุมชน สสส. เดินหน้าเต็มสูบ ชวนภาคีสร้างเสริมสุขภาพ สานพลังสู้ภัยยาเสพติด

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 24 มิ.ย. 2567 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวที “สานพลังชุมชนล้อมรักษ์” พื้นที่เป็นฐานประชาชนเป็นศูนย์กลาง ร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด กรุงเทพมหานคร เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชุมชนทั่วประเทศ และถอดบทเรียน ผสานจุดแข็งของ 6 พื้นที่ภูมิภาค นำมาสู่การบูรณาการทำงานร่วมกัน ขยายประเด็นการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดทั่วประเทศอย่างยั่งยืน

โดย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คนที่ 1 กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลโดยท่านนายกรัฐมนตรี ได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจัง และได้เริ่มปฏิบัติการ Quick Win สกัดกั้นยาเสพติดตามแนวชายแดน การจับกุมและยึดทรัพย์ผู้ค้า จัดการเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง และเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย เข้ารับการบำบัด ลดความรุนแรงจากปัญหาจิตเวชจากยาเสพติด ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการขับเคลื่อน “ชุมชนล้อมรักษ์” (CBTx) ของกระทรวงสาธารณสุข มุ่งให้ความสำคัญกระบวนการการมีส่วนร่วมของชุมชน ใช้ชุมชนเป็นฐาน เพื่อร่วมช่วยเหลือผู้ติดยาเสพติด โดยชุมชนมีส่วนดูแล ฟื้นฟู สนับสนุนผู้ที่ต้องการเลิกยาเสพติด เกิดการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ การจัดเวทีถอดบทเรียนทั้ง 6 ภูมิภาคนี้ จะเป็นโมเดลร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ที่มีเครือข่ายต้นแบบชุมชนล้อมรักของกระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิต (พชอ.) ของกระทรวงมหาดไทย และเครือข่ายชุมชนป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ของ สสส. เพื่อเป็นการพัฒนาแนวทางในการหาทางออกจากปัญหายาเสพติดอย่างมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน

“การสานพลังทั้ง 3 หน่วยงาน เป็นศูนย์กลางในการร่วมกัน เก่งคิด เก่งทำ เก่งประสาน สามารถติดตามผลได้อย่างต่อเนื่อง มีกระบวนการทำงานที่ดึงศักยภาพของบุคลากรที่แตกต่างกันตามบทบาทหน้าที่ของตนเอง เปิดโอกาสให้ชุมชนมีบทบาทตัดสินใจร่วมกับกลไกการทำงานของภาครัฐ โดยเฉพาะการดูแล บำบัด ฟื้นฟูผู้เสพและผู้ติดยาเสพติด ทำให้การดำเนินงานเดินหน้าไปได้ด้วยดี เพราะเกิดจากลงมือปฏิบัติงานจริงพื้นที่ ซึ่งแนวทางการให้คนเป็นศูนย์กลางตามกระบวนการของ พชอ. ถือว่ามาถูกทางแล้ว ช่วยให้ผู้ที่เข้ารับการบำบัดสามารถอยู่ในสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคยและได้รับการสนับสนุนจากชุมชนของตนเอง ส่งผลให้การฟื้นฟูมีประสิทธิภาพมากขึ้น สิ่งสำคัญที่สุดคือการเรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงของโลกเพื่อพัฒนาไปข้างหน้าร่วมกัน สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ที่ต้องให้ความสำคัญในการป้องกันปัญหายาเสพติดให้จริงจัง เนื่องจากมีประชากรจำนวนมาก” นายสมศักดิ์ กล่าว

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ข้อมูลสถานการณ์ผู้ใช้ ผู้เสพยาเสพติดในประเทศไทย ปี 2566 มีถึง 1.9 ล้านคน แบ่งผู้ป่วยยาเสพติดเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.ผู้ป่วยกลุ่มสีแดง อาการรุนแรง หรือผู้ติดยาเสพติด 38,000 คน (2%) 2.ผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง หรือผู้เสพ 4.56 แสนคน (24%) และ3.ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว หรือผู้ใช้ยาเสพติด 1.4 ล้านคน (74%) ที่ผ่านมามีชุมชนเป็นฐานในการบำบัดยาเสพติด 10,000 แห่ง และเมื่ออาการดีขึ้นสามารถส่งต่อสู่ศูนย์ฟื้นฟูสถานภาพทางสังคม กระทรวงมหาดไทย 3,258 แห่ง สสส. ได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถอดบทเรียนสถานการณ์สิ่งเสพติด จึงทำให้เข้าใจสถานการณ์ปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นในชุมชน รวมถึงต้นทุนการทำงานของพื้นที่โดยใช้ชุมชนเป็นฐานเชื่อมกับกลไก พชอ. และ CBTx เพื่อเรียนรู้กลไกการทำงาน ความร่วมมือ และมาตรการนโยบายที่จำเป็นในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน

นพ.พงศ์เทพ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา สสส. มีต้นทุนในการทำงานของเครือข่ายภาคประชาชน สร้างพื้นที่ปลอดภัยจากยาเสพติดและเสริมสร้างชุมชนสุขภาวะในระดับพื้นที่/หมู่บ้าน/ชุมชน ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 ปัจจุบันมีพื้นที่ต้นแบบปลอดภัยจากปัญหายาเสพติด 25 พื้นที่ทั่วประเทศ โดยมีพื้นที่ต้นแบบสามารถลดจำนวนผู้ติดยาเสพติดได้สำเร็จ เช่น พื้นที่ต.ตาดควัน อ.พญาเม็งราย จ.เชียงราย, พื้นที่ชุมชนบ้านคำเมย ต.ดูน อ.กันทรารมณ์ จ.ศรีสะเกษ และกลุ่มเยาวชนสานฝันบ้านนาคล้อใต้ ต.มะกรูด อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ทำให้เกิดแกนนำเครือข่ายขับเคลื่อนงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดทั่วประเทศ 2,683 คน รวม 1,527 หมู่บ้าน/ชุมชน นำไปสู่การสร้างโมเดลจัดการปัญหายาเสพติดขยายผลสู่ชุมชนอื่น ๆ

“การแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยใช้โมเดลชุมชนล้อมรักษ์ ทำให้มีผู้เข้ารับการบำบัดโดยสมัครใจและกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขในชุมชนสังคม โดยที่พวกเขาได้รับโอกาสจากคนในชุมชน นำไปสู่การส่งต่อข้อมูลการบำบัดจนทำให้หลายพื้นที่มีผู้ใช้/ผู้เสพยาเสพติด สมัครใจเข้ารับการบำบัดมากขึ้น ในขณะเดียวกันทำให้ชุมชนเข้มแข็งและมองปัญหายาเสพติดเป็นสิ่งที่ต้องแก้ไข จากเดิมที่หลายคนกลัวไม่กล้ายุ่งเมื่อได้ยินคำว่า ยาเสพติด แต่เมื่อได้ทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน ก็สามารถปรับเปลี่ยนวิธีคิดคือใช้แนวทางการแก้ปัญหาอย่างละมุนละม่อม การเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย เปลี่ยนผู้ป่วยกลับคืนสู่สังคม ทั้งนี้ สสส. จะเดินหน้าสานต่อกลไกที่สร้างร่วมกันเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดทั่วประเทศอย่างเข้มข้น” นพ.พงศ์เทพ กล่าว

นายรังสรรค์  ชื่นประเสริฐ เครือข่ายชุมชนลดปัจจัยเสี่ยง กล่าวว่า เครือข่ายชุมชนลดปัจจัยเสี่ยง เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง และภาคีสุขภาพกรุงเทพมหานคร ขอยื่นข้อเสนอการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดต่อรัฐบาล 1.สนับสนุนมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยให้ชุมเป็นฐานของรัฐบาล โดยขอให้มีความจริงจังต่อเนื่อง 2.เร่งจัดตั้งศูนย์บำบัดแบบปิด ใช้เวลารักษาอย่างน้อย 3 เดือน เพื่อเพิ่มโอกาสการบำบัดรักษาให้สำเร็จ 3.เร่งรณรงค์ และสนับสนุนมาตรการองค์กรทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ ให้โอกาสผู้ที่ผ่านการบำบัดยาเสพติดและผู้ที่พ้นโทษทางกฎหมาย สามารถสมัครเข้าทำงานได้ 4.ขอให้กระทรวงแรงงานได้จัดหาอาชีพ หรือมีกองทุนสนับสนุนการประกอบอาชีพ (คล้ายกับกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา) เพื่อรองรับผู้ที่ผ่านการบำบัดยาเสพติดและผู้ที่พ้นโทษทางกฎหมาย ให้สามารถมีอาชีพหรือมีทุนในการประกอบอาชีพได้  


You must be logged in to post a comment Login