- “ทักษิณ” ยังมีมนต์ขลังPosted 11 hours ago
- อย่าไปอินPosted 4 days ago
- ปีดับคนดังPosted 4 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 5 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 7 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 1 week ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 2 weeks ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 2 weeks ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 2 weeks ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
“รองผู้ว่าฯ ศานนท์” พร้อมผลักดัน ชุมชนล้อมรักษ์ แก้ไขป้องกันปัญหายาเสพติด 4 มิติ
“รองผู้ว่าฯ ศานนท์” พร้อมผลักดัน ชุมชนล้อมรักษ์ แก้ไขป้องกันปัญหายาเสพติด 4 มิติ ไม่ให้บัวช้ำน้ำขุ่น พื้นที่กรุงเทพฯ ดึงชุมชนร่วมให้โอกาสผู้เสพคืนสู่สังคมที่เปรียบเสมือนบ้านหลังใหญ่ของทุกคน
เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2567 นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกุรงเทพมหานคร กล่าวในเวที “สานพลังชุมชนล้อมรักษ์” พื้นที่เป็นฐานประชาชนเป็นศูนย์กลาง ร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด กรุงเทพมหานคร ว่า ทางออกของปัญหายาเสพติด เราคงต้องเริ่มต้นด้วยการยอมรับความจริง และทิ้งความกลัว พร้อมร่วมมือกันหาทางแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเอาจริงเอาจัง เพื่อลดความสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่า นั้นก็คือ ลูกหลานของเรา ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนเชื่อมโยงกับปัญหาทางสังคมอื่น ชุมชนในกรุงเทพมหานคร ถือได้ว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของยาเสพติด เหตุเพราะมีผู้คนที่หลากหลาย รวมถึงเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ การค้า ที่มีสถานประกอบการหลายรูปแบบ อีกทั้งมีชุมชนที่หลากบริบทมีทั้งชุมชนแออัด ชุมชนอาคารสูง ชุมชนหมู่บ้านจัดสรร เคหะชุมชน ชุมชนชานเมือง พี่น้องประชาชนก็ต่างมีวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน และอาจมีหลายชีวิตที่หลงทางหรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดด้วยเหตุผลความจำเป็นที่เรายากจะเข้าใจ กรุงเทพมหานครเห็นด้วยและพร้อมสนับสนุนนโยบายการดำเนินงานด้านการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติดที่ถือเป็นวาระแห่งชาติ โดยมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาด้านจิตเวชจากยาเสพติด เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วยให้เข้ารับการบำบัดรักษาป้องกันในกลุ่มต่าง ๆ ทุกระดับโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน หรือ CBTx (Community Based Treatment and Rehabilitation)
“ผมอยากชวนให้ทุกท่านปรับมุมมองว่า ผู้เสพ ก็คือผู้ป่วย หรือคนที่เคยหลงผิดเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ก็คือคนในชุมชนเรา เป็นลูกหลาน เป็นพี่น้อง เป็นเครือญาติของเราที่เราต้องให้โอกาสในฐานะที่ทุกท่านเป็นแกนนำชุมชนเราจะใช้วิธีการป้องปรามหรือจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ไม่ให้บัวช้ำน้ำขุ่น เพราะชุมชนคือบ้านหลังใหญ่ของพวกเราทุกคน กรุงเทพมหานคร มีต้นทุนประสบการณ์ต้นแบบชุมชนเข้มแข็งจำนวนมากในการแก้ไขปัญหาครบคลุม 4 มิติ มิติที่ 1 การปราบปราม เฝ้าระวัง เช่น การติดกล้อง CCTV ในชุมชน จัดตั้งทีมพิทักษ์จิตเวช (หมอ อาสา) สายตรวจประจำจุดตรวจ และทำแผนที่พื้นที่เสี่ยงเพื่อจัดการปัญหาอย่างตรงจุด มิติที่ 2 เสริมความเข็มแข็งให้ชุมชน โดยดึงอาสาสมัคร กองทุนแม่ของแผ่นดิน อสม. ร่วมสร้างการมีส่วนร่วม มิติที่ 3 การส่งต่อผู้เสพ/ผู้ป่วยเข้ารับการบำบัด CBTx สาธารณสุขในพื้นที่ สถาน ฟื้นฟูต่างๆ คอยดูแลผู้ป่วยจิตเวชอาการรุนแรงระหว่างรอเพื่อนำส่งเข้ารักษาในโรงพยาบาลต่อไป ใช้อาสาสมัครคนในชุมชนช่วยกันดูแล และมิติที่ 4 การประเมินผลการทำงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง” นายศานนท์ กล่าว
นางนัยนา ยลจอหอ ประธานชุมชนวัดสวัสดิ์ วารีศรีมาราม เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ย้อนกลับไปตั้งแต่ที่ได้รับตำแหน่งคณะกรรมของชุมชนปี 2549 เขตดุสิต ยอมรับว่าหนักใจพอสมควรที่จะแก้ไขปัญหา เพราะพื้นที่ชุมชนของตนเองเป็นพื้นที่สีแดง มีทั้งผู้ค้า ผู้เสพ และผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ จนต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ มีหน่วยงานภาครัฐ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว และได้รับกองทุนแม่ของแผ่น คอยเป็นแรงหนุนเสริมและสนับสนุน แรกๆ ใช้กระบวนการปราบปราม จับผู้ค้าและผู้เสพ แต่คนในชุมชนต้องอยู่อย่างหวาดระแวงเพราะมักจะมีเหตุอาชญากรรมเพิ่มขึ้นอีก ต่อมาจึงวางมาตรการโดยเก็บข้อมูลคัดกรอง ‘เปลี่ยนผู้เสพเป็นมิตร’ โดยเพื่อนช่วยเพื่อน ทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน โดยมีสหวิชาชีพ นักสังคมสงเคราะห์และสำนักงานเขต ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลและหาอาชีพให้กับผู้ที่เข้ารับการบำบัด การได้รับการสนับสนุนให้มีอาชีพ มีรายได้ คนในสังคมให้โอกาสพวกเขา คือจุดสำคัญของการเปลี่ยนพื้นที่สีแดงเป็นพื้นที่สีขาวในชุมชนเรา
“เราอยากช่วยเขา อยากเยียวยาให้เขาหลุดพ้น ไม่วาจะเหล้าหรือยาเสพติดค่ะ เรารู้สึกว่าจากเมื่อก่อนเราไม่ชอบคนเสพยา แต่พอปรับความคิดว่าเราต้องช่วยเขาได้ ทำให้เขาไม่โดนตีตราจากชุมชน แลกเปลี่ยนกันหลายๆ เรื่องเชื่อไหมว่าเราเปลี่ยนพื้นที่สีแดงกลายเป็นพื้นที่สีขาว เราหลุดพ้นมาได้ เพราะคนคนในชุมชนให้ความร่วมมือ มูลนิธิต่างๆ หน่วยงานภาครัฐเข้ามาสนับสนุนเรา ซึ่งเราเองก็เหมือนพ่อบ้านแม่บ้านที่ต้องดูแลลูกบ้านกว่า 600 คน 123 หลังคาเรือน เราทุ่มเทกับงานพวกนี้มากนะคะ และขอเสนอภาครัฐช่วยผลักดันให้ผู้พ้นโทษออกมาแล้วแต่มีประวัติมีโอกาสในการทำงาน ถ้าเขาไม่มีงานก็ไม่มีเงินในที่สุดอาจกลับเข้าสู่วงจรยาเสพติดอีก” นางนัยนา กล่าว
ขณะที่ น้องก็อต เยาวชนจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก เล่าว่า ตนเองเกิดในครอบครัวที่อบอุ่น แต่พ่อติดการพนันหนัก ชีวิตครอบครัวมาถึงจุดเปลี่ยน ต้องแยกกันอยู่ และไปขออาศัยอยู่กับน้าใน กทม. ซึ่งน้าต้องทำงานหนักเพื่อหาเงิน จึงไม่มีเวลาดูแลตนมากพอ จึงได้ใช้ชีวิตอย่างอิสระ ที่เดียวที่ตอบโจทย์ได้ในตอนนั้นในวัยเด็กคือ “ร้านเกม” ไม่ได้ติดเกม แต่ติดเพื่อน ติดสังคมในร้านเกม และที่นั่นก็เต็มไปด้วยอบายมุขทุกอย่าง ทั้งพนันออนไลน์ เหล้า ยาเสพติด จนกลายเป็นว่าตนเองตกอยู่ในวงจรสีเทาไปโดยปริยาย และต้องทำทุกอย่างเพื่อให้รุ่นพี่ และเพื่อนยอมรับ แล้วก็มาถึงวันที่พลาด เพราะรุ่นพี่ที่นับถือกันชักชวนให้ขนยาเสพติดล็อตใหญ่ เพื่อตอบแทนบุญคุณเขา
“อย่างที่ทุกคนรู้คือจุดจบของยาเสพติด ไม่ตาย ก็ติดคุก ผมติดคุกครับ ด้วยสังคมที่เต็มไปด้วยระบบอำนาจนิยม ต้องทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองรอด จนมาถึงศูนย์ฝึกฯ บ้านกาญจนาภิเษก แต่ที่นี่ได้กู้คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผมกลับมา ผมได้ทำกิจกรรมวิเคราะห์ข่าว วิเคราะห์หนัง มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในทุก ๆ เรื่อง สิทธิเนื้อตัวร่างกายถูกเคารพอย่างมาก คุณค่าของผมค่อย ๆ กลับคืนมา แล้วก็ค้นพบว่าผมชอบดนตรี ร้องและแต่งเพลง ผมแต่งเพลง “คำสัญญา” เพื่อขอโทษแม่และทุกคนที่ผมทำให้ผิดหวัง และผมจะตั้งใจเปลี่ยนแปลงตัวเองจริง ๆ อยากบอกไปถึงเพื่อนๆ พี่ น้อง ที่ยังวนเวียนอยู่กับยาเสพติดให้พาตัวเองออกมาหรือเข้าสู่การบำบัดจะดีกว่าอย่าปล่อยเวลาให้ผ่านไป เพราะคนที่เจ็บปวดกับสิ่งที่เราทำ สิ่งที่เราเป็นมันก็คือตัวเรา” น้องก็อต กล่าว
You must be logged in to post a comment Login