- ปีดับคนดังPosted 12 mins ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 1 day ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 2 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 3 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 6 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 7 days ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 1 week ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
กสศ. จับมือ สพฐ. MOU ขยายผลระบบสารสนเทศ
กสศ. จับมือ สพฐ. MOU ขยายผล ระบบสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพการศึกษา Q-Info นำร่อง 5 เขตพื้นที่การศึกษารับเปิดเทอม 2567 ช่วยคัดกรองเด็กเสี่ยงหลุดจากระบบ เติมความสุขในการทำงาน ลดภาระครู เพิ่มเวลาพัฒนาผู้เรียน
ที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา – สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดพิธีลงนามความร่วมมือดำเนินงาน โครงการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพการศึกษา มุ่งขยายผลการนำระบบสารสนเทศ Q-Info มาใช้ในการดูแลช่วยเหลือนักเรียน เดินหน้าภารกิจ ‘Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน’ ลดจำนวนเด็กหลุดจากระบบการศึกษาให้เป็น ‘ศูนย์’ พร้อมร่วมกันพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อลดภาระงานครูตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ โดย สพฐ. สนับสนุนให้ยกระดับการใช้งาน Q-Info ภายในสถานศึกษาต้นแบบ 2,000 โรงเรียน สู่การใช้ระบบในระดับพื้นที่ ร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 5 พื้นที่ ได้แก่ สำนักงานเขตพื้นการศึกษาประถมศึกษากาญจนบุรี เขต 4, สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 3, สำนักงานเขตพื้นการศึกษาประถมศึกษาสุรินทร์ เขต 2, สำนักงานเขตพื้นการศึกษาประถมศึกษาภูเก็ต และ สำนักงานเขตพื้นการศึกษาประถมศึกษาระนอง เพื่อประโยชน์ในการบริหารและจัดการศึกษา เพิ่มเวลาให้ครูได้พัฒนาประสิทธิภาพการเรียนการสอน ส่งเสริมผู้เรียนให้เรียนรู้เต็มศักยภาพ
ระบบสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพการศึกษา หรือ ‘Q-Info: Quality learning Information System’ เป็นนวัตกรรมการบริหารจัดการสถานศึกษา ที่ กสศ. ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนเรศวร พัฒนาขึ้น ด้วยตระหนักว่า ‘ข้อมูล’ เป็นทรัพยากรสำคัญในการพัฒนาคุณภาพโรงเรียน ระบบสารสนเทศ Q-Info ที่เป็นฐานข้อมูลของโรงเรียนและมีการจัดเก็บรวบรวมข้อมูลของนักเรียนเป็นรายบุคคล จึงเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญของการพัฒนาคุณภาพโรงเรียน เพื่อให้โรงเรียนมีเครื่องมือในการบริหารจัดการโรงเรียน สามารถกำหนดเป้าหมายการพัฒนาโรงเรียนได้ในทุกมิติ และวางแผนการจัดการเรียนรู้และสร้างระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนได้ตรงตามบริบท
หลังจากที่ กสศ. ทดลองใช้ระบบ Q-Info กับโรงเรียนในหลายสังกัดมาตั้งแต่ปี 2561 เริ่มจากโรงเรียนสังกัดเทศบาลนคร ก่อนขยายสู่กลุ่มโรงเรียนขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีข้อจำกัดด้านทรัพยากร อาทิ โรงเรียนในสังกัดกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) หรือโรงเรียนที่เข้าร่วมในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น พบว่า การใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลสารสนเทศผ่านระบบ Q-Info ได้เข้ามาช่วยในการลดภาระงานครู และเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ที่ครูและโรงเรียนสามารถส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนได้ตามความถนัดและตามความสนใจ ทั้งยังเป็นฐานข้อมูลสำคัญในการคัดกรองนักเรียนกลุ่มเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาได้อย่างทันท่วงที ด้วยลักษณะการใช้งาน (Funtion) ที่เป็นจุดเด่นของ Q-Info ดังนี้
1. จัดการข้อมูลและงานวิชาการ อาทิ เปลี่ยนแปลงแก้ไขปฏิทินโรงเรียน บันทึกรายชื่อครูประจำชั้น จำนวนนักเรียน ตารางเรียน วิชาเรียน การจัดห้องเรียนและแผนการเรียน การย้ายเข้า-ออกหรือการเปลี่ยนแปลงสถานะของนักเรียน
2. การจัดทำข้อมูลนักเรียนรายคน ตั้งแต่การเลื่อนชั้น การลงทะเบียนวิชาเรียน ตารางกิจกรรม จัดทำผลการเรียน การจัดทำเอกสารประเมินผลตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ปพ.)
3. จัดทำรายงานสำหรับโรงเรียน เช่น สถิติการมาเรียน ระดับความเปลี่ยนแปลงของภาวะโภชนาการ ข้อมูลความเสี่ยงในมิติต่าง ๆ (Early warning) รายงาน School SAR และ school dashboard
4. ระบบการแจ้งเตือนเป็น dashboard สำหรับการติดตามข้อมูลโดยผู้อำนวยการโรงเรียนและผู้ปกครอง
ดร.พัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ครั้งที่ 4/2566 (7 เมษายน 2566) กสศ.ได้นำเสนอผลการดำเนินงานของระบบ Q-Info ที่มีโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ที่ใช้งานอยู่ราว 2,000 กว่าแห่ง ซึ่งที่ประชุมเห็นร่วมกันว่า Q-Info เป็นระบบที่ช่วยในการพัฒนาและบริหารจัดการโรงเรียนได้ในหลายมิติ และเห็นควรให้มีการขยายผลการใช้งานให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น จึงเป็นที่มาของการลงนามความร่วมมือ โครงการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพการศึกษา พร้อมเตรียมขยายผลการใช้งานระบบสารสนเทศ Q-Info นำร่องใน 5 เขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งจะมีโรงเรียนมากกว่า 500 แห่งที่ได้ประโยชน์ นับเป็นจุดเริ่มต้นของการยกระดับจากโรงเรียนสู่เขตพื้นที่ ก่อนจะมองถึงเป้าหมายต่อไปคือการใช้งาน Q-Info ในทุกโรงเรียนทั่วประเทศ โดยกระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายจัดสรรงบประมาณปี 2567 ราว 200 ล้านบาท และในปี 2568 อีก 2 หมื่น 2 พันล้านบาท เพื่อลงทุนเรื่องระบบสนับสนุนการบริหารจัดการในสถานศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
“กระทรวงศึกษาธิการเห็นถึงความสำคัญอย่างยิ่งของการเปลี่ยนผ่านการบริหารจัดการข้อมูลให้เป็นระบบดิจิทัล ตัวอย่างหนึ่งคือภาระการจัดเก็บ ปพ.3 (รายงานผู้สำเร็จการศึกษาชั้น ม.3 และ ม.6) ของนักเรียนราวหนึ่งล้านกว่าคนในแต่ละปี ที่จะส่งผ่านจากโรงเรียนมาที่สำนักงานเขตพื้นที่ ฯ และจัดเก็บขั้นตอนสุดท้ายที่ สพฐ. จนเมื่อเวลาผ่านไปข้อมูลที่เป็นกระดาษได้ทวีจำนวนขึ้น แล้วทุกปีที่มีบัณฑิตใหม่จบปริญญาตรี ก็จะมีการตรวจสอบวุฒิจากคลังข้อมูลที่เก็บเอาไว้ ภาระนี้เป็นความยุ่งยากที่การจัดเก็บข้อมูลออนไลน์จะช่วยได้ โดย สพฐ. จะเป็นผู้ดูแลจัดการข้อมูลให้ง่ายต่อการค้นหาผ่านเลข 13 หลัก ส่วนเรื่องการบริหารจัดการโรงเรียน ไม่ว่าระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนรายบุคคล การตรวจสอบข้อมูลน้ำหนักส่วนสูงเพื่อดูภาวะโภชนาการ เหล่านี้เคยเป็นภาระที่ครูจะต้องกรอกตัวเลขด้วยปากกากระดาษทีละช่อง วันนี้เรามีระบบที่จะมาช่วยให้ทำได้รวดเร็ว สะดวกต่อการเรียกใช้ และจัดเก็บข้อมูลได้ปลอดภัยยิ่งขึ้น”
ดร.พัฒนะ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการได้มอบหมายให้ สพฐ. เป็นหน่วยงานหลัก ในการบริหารจัดเก็บข้อมูลออนไลน์ โดยรวบรวมข้อมูลสถานศึกษาทุกสังกัดภายใต้กระทรวงศึกษา ฯ ซึ่งผู้บริหารสถานศึกษา ครู รวมถึงสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จะสามารถใช้งานโดยเข้าถึงและแลกเปลี่ยนข้อมูลองค์ความรู้ระหว่างกันได้ ผ่านเครือข่าย Cloud Server ขนาดใหญ่ หมายถึงต่อจากนี้เราจะมี Market Place ด้านการจัดการเรียนรู้ หรือ ‘ตลาดใบงาน’ ที่ออกแบบโดยครูแต่ละคน มีการจัดการศึกษาที่หลากหลาย เหมาะสมกับรายวิชา บริบทพื้นที่ หรือกับนักเรียนเป็นรายบุคคล ซึ่งทาง สพฐ. จะเป็นผู้ตรวจสอบคัดกรองข้อมูล และนี่คือแผนงานที่กำลังจะเกิดขึ้น และสอดคล้องประสานกันระหว่างงานของ สพฐ. และสิ่งที่ กสศ. วางแนวทางล่วงหน้าเอาไว้
“วันนี้เรามีข้อมูลเป็นเครื่องมือติดตามดูแลนักเรียนทุกคนได้ตลอดเวลาผ่านระบบออนไลน์ โดยเฉพาะคนที่เสี่ยงหลุดจากระบบกลางคัน เป็นโอกาสที่เราจะตามเด็กกลับมา ทั้งยังมีเรื่องการผลักดันเรื่อง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ มาตรา 12 และมาตรา 15 ที่เปิดโอกาสให้การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานทำได้ไม่เฉพาะแค่ในสถานศึกษา และให้โรงเรียนจัดการศึกษาได้ 3 รูปแบบ คือในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย เพื่อจัดการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นรองรับความจำเป็นและวิถีชีวิตของเด็กทุกคนทุกกลุ่ม เรามีนวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างโรงเรียนมือถือ มีระบบศูนย์การเรียนสำหรับรองรับเด็กเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษาทุกรูปแบบ มีการทลายกรอบการจัดการศึกษาที่เคยกักขังเด็กไว้แค่ในห้องเรียน ด้วยเทคโนโลยีแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่จะมาช่วยให้ทุกคนเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา และต่อจากนี้เด็กเยาวชนของเราจะมีโอกาสมากขึ้น ในการจบการศึกษาอย่างมีคุณภาพ ได้รับวุฒิ และมีทางไปต่อบนเส้นทางการศึกษาและการประกอบอาชีพได้ตามบริบทชีวิต”
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า Q-Info เป็นงานวิจัยที่มีโจทย์คือต้องการนำข้อมูลมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนและแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งหลายประเทศทำมานานแล้ว ขณะที่การจัดการข้อมูลการศึกษาของประเทศไทย ยังติดอุปสรรคเรื่องต้นทุนเวลา ด้วยข้อมูลที่บันทึกลงกระดาษจึงยากต่อการค้นหาและบริหารจัดการ รวมถึงยังมีความเสี่ยงในการเก็บรักษาข้อมูล ทั้งนี้เมื่อ Q-Info เริ่มนำมาใช้งานในโรงเรียนจากจุดเริ่มต้นจำนวนหลักร้อย ปัจจุบันได้ขยายการใช้งานไปในโรงเรียนจนแตะหลักพัน ซึ่งหลังจาก กสศ. ได้นำเสนอบทเรียนการใช้งานต่อ กพฐ. จึงมีนโยบายที่จะขยับการใช้งานไปอีกขั้น คือทดลองใช้งานในระดับเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อมองถึงความเป็นไปได้ที่จะใช้งานในระดับชาติต่อไป
“การสำรวจข้อมูลเพื่อทำงานวิจัยพบว่า โรงเรียนขนาดใหญ่นั้นมีทรัพยากรที่เพียงพอในการจัดหาระบบจัดบริหารจัดการข้อมูลในโรงเรียนจากภาคเอกชนมาใช้ได้ หากในโรงเรียนขนาดกลางและขนาดเล็กกลับยังขาดแคลน Q-Info จึงเป็นนวัตกรรมที่ กสศ. ต้องการพัฒนาและส่งมอบให้กับโรงเรียนในสังกัด สพฐ. เพื่อการพัฒนาและบริหารจัดการโรงเรียนโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม นอกจากนี้ Q-Info ยังทำงานเชื่อมโยงกับระบบอื่น ๆ ของ สพฐ. คือ DMC, OBEC Care รวมถึงระบบต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ระบบ Q-Info จึงสามารถเป็นแกนกลางของทุกระบบ ที่เขตพื้นที่การศึกษาจะใช้ติดตามเด็กและโรงเรียนได้ทั้งหมด ว่าต้องการการสนับสนุนในเชิงนโยบายหรือเชิงงบประมาณอย่างไร”
ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า Q-info จะเป็นเครื่องมือสำคัญของนโยบาย ‘Thailand Zero Dropout’ ซึ่งจะช่วยเฝ้าระวังไม่ให้มีเด็กหลุดไปจากระบบ ทั้งตอบสนองนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง ‘เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา’ (Anywhere Anytime) โดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง จนถึงการนำเทคโนโลยีและงานวิจัยมาช่วยลดภาระครู ทั้งนี้ด้วยเป้าหมายในการพัฒนาการศึกษาไทยที่ยั่งยืน พร้อมกับวาระของการเปิดเทอมปีการศึกษาใหม่ 2567 กสศ. และ สพฐ. จึงมีความตั้งใจลงนามความร่วมมือเพื่อประกาศความก้าวหน้าของการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ทั้งคาดหวังว่าการทดลองใช้งาน Q-Info ใน 5 เขตพื้นที่การศึกษาต้นแบบเต็มพื้นที่ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการขยายผลไปยังการใช้งานเต็มพื้นที่ประเทศไทยต่อไป
ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า กสศ. และทีมมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้พัฒนา Q-Info โดยคำนึงถึงการลดภาระงานครูเป็นเป้าหมายหลัก ซึ่งสอดรับกับนโยบายลดภาระงานครูของกระทรวงศึกษาธิการ โดย Q-Info จะช่วยลดเวลาและเพิ่มประสิทธิภาพในการบันทึกเอกสารและจัดทำใบ ปพ. ต่าง ๆ เช่นคะแนนสอบ ผลประเมินการทำกิจกรรม ข้อมูลการเยี่ยมบ้าน แล้วรายละเอียดที่กรอกผ่านระบบจะสะสมเป็นฐานข้อมูลนักเรียนดิจิทัล สะดวกต่อการค้นหา ใช้งาน และการประมวลผล รวมถึงเป็นประโยชน์ต่อการตั้งต้นทำแผนการจัดการเรียนรู้ ตลอดจนการวางนโยบายการบริหารจัดการโรงเรียน
“Q-Info จะช่วยครูในเรื่องความซ้ำซ้อนของการกรอกข้อมูล การจัดทำเอกสารตามจำนวนผู้เรียน การมีพื้นที่เก็บข้อมูลกระดาษซึ่งเพิ่มจำนวนขึ้นทุกเทอมการศึกษา หรือโดยเฉพาะการจัดการและค้นหาข้อมูลเพื่อนำมาใช้ที่ต้องสะดวกรวดเร็ว และแน่ใจได้ว่าเป็นข้อมูลที่ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน โดยผลสะท้อนหลังใช้งานมาแล้วในโรงเรียนมากกว่า 2,000 แห่ง พบว่าผู้บริหารและครูส่วนใหญ่ยอมรับถึงความสะดวกในการใช้งาน ด้วยคู่มือ การอบรม คลินิกแนะนำที่ให้คำตอบภายใน 24 ชั่วโมง
“เสียงส่วนหนึ่งจากครูผู้ใช้งานบอกว่า Q-Info คือเครื่องมือสำคัญของการเปลี่ยนผ่านการจัดเก็บข้อมูลแบบเดิมมาเป็นดิจิทัล ในด่านแรกครูหลายคนอาจมองว่าเป็นภาระ แต่เมื่อผ่านจุดที่ยากที่สุดคือการย้ายข้อมูลจากกระดาษเข้าระบบไปแล้ว หลังจากนั้นทุกสิ่งทุกอย่างที่ครูต้องจัดการตลอดทั้งเทอมหรือทั้งปี จะรวมไว้อยู่บนหน้าจอพร้อมเรียกใช้งานได้ทันที” ดร.อุดม กล่าวถึงความท้าทายของการนำร่องใช้งาน Q-Info ใน 5 เขตพื้นที่การศึกษา ว่าที่ผ่านมาการใช้ประโยชน์จากระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพการศึกษา มีเป้าหมายคือการใช้งานในโรงเรียนเป็นหลัก อย่างไรก็ตามทีมวิจัยพัฒนามองว่าถ้ามี Dashboard ที่สรุปข้อมูลระดับเขตพื้นที่การศึกษาได้บนหน้าจอเดียว ผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษาหรือศึกษานิเทศก์จะสามารถกำกับติดตามโรงเรียนในความดูแลได้อย่างใกล้ชิด แล้วข้อมูลที่ทางโรงเรียนเก็บบันทึกไว้ ก็จะนำไปใช้ประโยชน์ได้ในขั้นตอนการกำหนดนโยบายที่ครอบคลุมระดับพื้นที่ โดยในอนาคตเมื่อมีเขตพื้นที่การศึกษาใช้งาน Q-Info แบบเต็มพื้นที่เพิ่มขึ้น สพฐ. ก็จะสามารถติดตามและบริหารจัดการข้อมูลของเขตพื้นที่การศึกษาจำนวนมากได้เช่นกัน ซึ่งนี่เป็นแนวทางการทำงานของ กสศ. ที่ตั้งใจทดลองการทำงานจากพื้นที่เล็ก ๆ จนเห็นผล ก่อนขยายไปสู่ขอบเขตการทำงานที่ใหญ่ขึ้น
You must be logged in to post a comment Login