วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

สธ. รณรงค์ใช้ “คาร์ซีท” ป้องกันอันตรายจากอุบัติเหตุทางรถยนต์

On July 8, 2024

สธ. รณรงค์ใช้ “คาร์ซีท” ป้องกันอันตรายจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ ช่วยลดเสียชีวิตเด็กได้มากถึง 70% นำร่อง 5 รพ. เป็นต้นแบบส่งเสริมการใช้ สสส.-กรมควบคุมโรค หนุนเสริม-รณรงค์ที่นั่งนิรภัยเด็กในรถ หลังพบเด็กเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเฉลี่ย 24 คน/ปี นำร่องส่งเสริมพฤติกรรมใน รพ. 5 แห่งทั่วประเทศ จัดทำคู่มือ-ชุดนิทรรศการ-ฝึกอบรม-ธนาคารยืมคาร์ซีท

กระทรวงสาธารณสุข เปิดโครงการรณรงค์ส่งเสริมการใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก หรือ Car seat “ลูกรอดปลอดภัย ที่นั่งนิรภัยอย่ามองข้าม” สร้างความตระหนักในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์และมารดาหลังคลอด นำร่อง 5 โรงพยาบาล ได้แก่ สถาบันบำราศนราดูร โรงพยาบาลสมุทรปราการ โรงพยาบาลน่าน โรงพยาบาลบุรีรัมย์ และโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต เป็นต้นแบบส่งเสริมการใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก ด้านองค์การอนามัยโลก พบการใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตได้มากถึง 70%

วันนี้ (8 กรกฎาคม 2567) ณ ห้องประชุมเพชร ชั้น 7 อาคารเฉลิมพระเกียรติ สถาบันบำราศนราดูร จังหวัดนนทบุรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดตัวโครงการรณรงค์ส่งเสริมการใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก “ลูกรอดปลอดภัย ที่นั่งนิรภัยอย่ามองข้าม” โดยมี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์ จอส แวนเดอเลอร์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และดร.นายแพทย์ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ เข้าร่วม

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเป็นปัญหาที่สำคัญของคนไทยมาอย่างยาวนาน ซึ่งเด็กที่นั่งโดยสารด้านหน้ารถยนต์มีความเสี่ยงต่อการได้รับบาดเจ็บมากกว่านั่งด้านหลัง โดยตามประกาศพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 ได้กำหนดให้เด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ต้องจัดให้นั่งในที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก หรือที่นั่งพิเศษสำหรับเด็ก เพื่อป้องกันอันตราย แต่พบว่าผู้ปกครองยังขาดความตระหนักและมีการใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กน้อยมาก กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคและภาคีเครือข่าย จึงได้จัดโครงการนี้เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับเด็กไทยทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาด้านการส่งเสริมความปลอดภัยในเด็กให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ โดยจะเริ่มนำร่องในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 5 แห่ง ได้แก่ สถาบันบำราศนราดูร โรงพยาบาลสมุทรปราการ โรงพยาบาลน่าน โรงพยาบาลบุรีรัมย์ และโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต เพื่อเป็นต้นแบบในการส่งเสริมการใช้ที่นั่งนิรภัยเด็กในโรงพยาบาล และขยายผลไปสู่โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่งต่อไป

นายแพทย์โอภาส กล่าวว่า จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขและการบูณาการข้อมูล พบว่า 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2562 – 2566) มีผู้เสียชีวิตจาอุบัติเหตุทางถนน จำนวน 89,569 คน เฉลี่ย 17,914 คนต่อปี ซึ่งในช่วง 5 ปี ดังกล่าว มีเด็กไทยอายุ 0 – 6 ปี เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 1,010 คน โดย 117 คน เป็นการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์ เฉลี่ย 24 คนต่อปี และในส่วนของการบาดเจ็บ มีเด็กไทยบาดเจ็บจากอุบัติเหตุรถยนต์และรถกระบะ 8,810 คน เฉลี่ย 1,763 คนต่อปีและจากข้อมูลองค์การอนามัยโลกพบว่า การใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก หรือ Car seat จะช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตของเด็กได้มากถึง 70% ซึ่งเด็กที่นั่งเบาะหน้ารถยนต์และไม่ได้ใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก จะมีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บรุนแรงสูงกว่าเด็กที่นั่งด้านหลังและใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก ถึง 5 เท่า

ด้านนายแพทย์ธงชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมควบคุมโรคเห็นว่าประชาชนยังขาดความพร้อมในการใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก จากปัญหาอุปสรรค ทั้งการจัดหา จัดซื้อ รวมทั้งขาดความรู้ ขาดความตระหนักในอันตรายบนท้องถนน และไม่นิยมใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก จึงได้จัดกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมการใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก เพื่อส่งเสริมและสร้างความตระหนักในการใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์และมารดาหลังคลอดในโรงพยาบาล โดยกิจกรรมในวันนี้ ประกอบด้วย การมอบที่นั่งนิรภัยเด็กต้นแบบให้แก่โรงพยาบาลนำร่อง 5 แห่ง พร้อมมอบสื่อรณรงค์ให้ความรู้แก่หญิงตั้งครรภ์ที่เข้าร่วมโครงการ และบูธนิทรรศการการใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก การสาธิตการใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก

ด้านดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. ร่วมกับกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค ริเริ่ม “โครงการศึกษาพฤติกรรม และพัฒนารูปแบบการส่งเสริมการใช้ที่นั่งนิรภัยเด็กในโรงพยาบาล” เพื่อส่งเสริมให้ผู้ปกครองใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก สร้างความปลอดภัยขณะที่โดยสารบนรถยนต์ สำหรับในวันนี้ สสส. และภาคีเครือข่ายได้สนับสนุนที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก ให้กับโรงพยาบาลนำร่องทั้ง 5 แห่ง และดำเนินการศึกษาพฤติกรรมการใช้ที่นั่งนิรภัยเด็ก พร้อมจัดทำคู่มือ-ชุดนิทรรศการ-สื่อการเรียนรู้การส่งเสริมการใช้ที่นั่งนิรภัยเด็ก ฝึกอบรมวิทยากรให้ความรู้การใช้ที่นั่งนิรภัยเด็ก และความปลอดภัย ให้แก่ พยาบาล/นักสุขศึกษา/นักส่งเสริมสุขภาพ รวมถึงจัดกิจกรรมธนาคารสำหรับยืมที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก สสส. และภาคีเครือข่ายจะเดินหน้าสนับสนุน ส่งเสริมการสื่อสารสาธารณะ เพื่อให้เกิดความเข้าใจของประชาชน เกิดการใช้ที่นั่งนิรภัยมากขึ้น และหวังให้เกิดการขยายผลทั่วประเทศ เพื่อไม่ให้ต้องเกิดอุบัติเหตุกับเด็ก และเยาวชนที่จะเป็นอนาคตของชาติในวันข้างหน้าอีก


You must be logged in to post a comment Login