วันอังคารที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

ฮิจญ์เราะฮฺศักราช 1446

On July 12, 2024

คอลัมน์ : สันติธรรม

ผู้เขียน : บรรจง บินกาซัน

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่  12 ก.ค.  67)

วันปีใหม่ของปฏิทินอิสลามหรือปฏิทินฮิจญ์เราะฮฺศักราชปีนี้ตรงกับวันที่ 8 เดือนกรกฎาคม 2547 ตามประกาศของจุฬาราชมนตรี

การมีปฏิทินเพื่อนับวันเดือนปีเป็นสิ่งหนึ่งที่บ่งบอกถึงความมีอารยธรรมของมนุษย์  และสิ่งสำคัญที่เป็นต้นกำเนิดของการทำปฏิทินก็คือดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ที่เป็นที่มาของกลางวันและกลางคืน

ชาวอียิปต์โบราณใช้ปฏิทินทางจันทรคติมาตลอด  แต่ตอนหลังได้หันมาใช้ปฏิทินแบบสุริยคติ  อย่างไรก็ตาม ในเรื่องพิธีกรรมและการเฉลิมฉลองทางศาสนา ชาวอียิปต์ยังคงใช้ปฏิทินจันทรคติ  ส่วนในชีวิตประจำวันจะใช้ปฏิทินสุริยคติที่มี 365 วัน

ก่อนคริสตกาล 45 ปี จูเลียส ซีซาร์ได้สั่งให้ทำปฏิทินที่ประกอบด้วยสิบสองเดือนตามระบบสุริยคติ   ปฏิทินระบบนี้กำหนดให้ทุกสามปีมี 365 วันและในปีที่สี่มี 366 วัน เมื่อเริ่มใช้ปฏิทินนี้  วันเริ่มต้นปีใหม่ได้ถูกเปลี่ยนจากวันที่ 1 มีนาคมเป็น 1 มกราคม

ส่วนเรื่องการกำหนดให้หนึ่งสัปดาห์มีเจ็ดวันนั้น นักประวัติศาสตร์กล่าวว่ามาจากชาวบาบิโลนผู้มีพรสวรรค์ทางด้านดาราศาสตร์และคำสั่งของกษัตริย์ซาร์กอนที่ 1 แห่งอักกัดในราว 2300 ปีก่อนคริสตกาล ทั้งนี้เนื่องจากชาวบาบิโลนให้ความสำคัญแก่เลขเจ็ด และเนื่องจากก่อนมีกล้องโทรทัศน์ดูดาว  เทหวัตถุสำคัญบนท้องฟ้าที่ปรากฏต่อสายตาของพวกเขาก็มีจำนวนเจ็ดดวง นั่นคือ ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์และดาวเคราะห์อื่นๆที่เห็นได้ด้วยตาเปล่าอีกห้าดวง

ในแผ่นดินอาหรับก่อนหน้าอิสลาม  ชาวอาหรับไม่มีปฏิทินของตนเอง  แต่ชาวอาหรับอาศัยการโคจรของดวงจันทร์ในการนับเดือนและเดือนของชาวอาหรับมี 12 เดือน  แต่ละเดือนมีชื่อระบุด้วย  ในจำนวน 12 เดือนนี้มีเดือนต้องห้ามทำสงครามปล้นชิงสี่เดือน  สามในสี่เดือนต้องห้ามนี้คือเดือนก่อนหน้าและหลังเดือนซุลฮิจญะฮฺซึ่งเป็นเดือนทำฮัจญ์  ทั้งนี้เพื่อเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่คนที่เดินทางไปและกลับจากการทำฮัจญ์

เมื่อนบีมุฮัมมัดเริ่มเผยแผ่อิสลาม  นบีมุฮัมมัดยังคงใช้ปฏิทินทางจันทรคติตามประเพณีของชาวอาหรับ  แต่เดือนรอมฎอนได้กลายเป็นเดือนที่มีความสำคัญขึ้นมาเพราะคัมภีร์กุรอานได้ถูกประทานมาในเดือนรอมฎอนและเดือนนี้เป็นเดือนที่ผู้ศรัทธาในพระเจ้าถูกกำหนดให้ถือศีลอด

ความแตกต่างระหว่างปฏิทินสุริยคติและปฏิทินจันทรคติคือ หนึ่งปีในปฏิทินสุริยคตินับจากโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์หนึ่งรอบ  ส่วนปฏิทินจันทรคตินับจากการโคจรรอบโลกของดวงจันทร์เป็นหนึ่งเดือน ครบสิบสองเดือนเมื่อใดก็เป็นหนึ่งปี  การกำหนดว่าหนึ่งปีมี 12 เดือนเป็นการกำหนดของพระเจ้าที่กล่าวไว้ในคัมภีร์กุรอาน

ในขณะที่ปีหนึ่งในปฏิทินสุริยคติมี 365วันกว่าๆและเดือนในแต่ละปีจะมี 28,30 และ 31 วัน  ปฏิทินจันทรคติจะมีจำนวนวันในแต่ละปีน้อยกว่าประมาณ 10-11 วันเพราะแต่ละเดือนจะมีเพียง 29 หรือ 30 วันเท่านั้น  การเริ่มต้นเดือนใหม่จะเริ่มจากการปรากฏของจันทร์เสี้ยวแรกของเดือนใหม่

วันใหม่ของปฏิทินจันทรคติเริ่มต้นเมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าในขณะที่วันใหม่ของปฏิทินสุริยะคติเริ่มตั้งแต่หลังเที่ยงคืน

ในสมัยที่นบีมุฮัมมัดยังมีชีวิต  แม้ผู้คนจะรู้จักการนับเดือนและรู้ว่าหนึ่งสัปดาห์มีเจ็ดวันโดยวันศุกร์เป็นวันสำคัญที่สุดในสัปดาห์  แต่ก็ยังไม่มีการใช้ปฏิทิน  จนกระทั่งหลังสมัยนบีมุฮัมมัดจากไปไม่ถึงยี่สิบปี  อาณาเขตของอิสลามแผ่ขยายออกไปถึงอาณาจักรเปอร์เซียและดินแดนส่วนหนึ่งของอาณาจักรไบแซนติน  เคาะลีฟะฮฺที่เมืองหลวงต้องส่งคนไปปกครองยังหัวเมืองต่างๆและจำเป็นต้องมีการโต้ตอบจดหมายกัน  แต่เนื่องจากไม่มีปฏิทิน  จดหมายจึงไม่ได้ระบุปี ทำให้เกิดความสับสนว่าจดหมายหรือคำสั่งฉบับใดมาก่อน  สาวกของนบีมุฮัมมัดจึงเริ่มคิดทำปฏิทินขึ้น

ในการปรึกษาหารือกันเพื่อทำปฏิทิน  มีสาวกบางคนเสนอให้เอาวันเกิดหรือวันเสียชีวิตของนบีมุฮัมมัดเป็นจุดเริ่มต้นศักราชอิสลาม  แต่สาวกหลายคนเห็นสมควรว่าน่าจะใช้วันที่นบีมุฮัมมัดอพยพ(ฮิจญ์เราะฮฺ)จากมักก๊ะฮฺมาถึงเมืองมะดีนะฮฺดีกว่าเพราะการอพยพครั้งนั้นของท่านทำให้สถานภาพของมุสลิมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น  เมื่อทุกคนเห็นพ้องต้องกัน   ปฏิทินฮิจญ์เราะฮฺศักราชจึงเกิดขึ้นมา


You must be logged in to post a comment Login