- “ทักษิณ” ยังมีมนต์ขลังPosted 6 hours ago
- อย่าไปอินPosted 3 days ago
- ปีดับคนดังPosted 4 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 5 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 6 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 1 week ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 2 weeks ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 2 weeks ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
สสส. ลงพื้นที่ อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย สานพลังเครือข่ายหมออนามัย เข้าพรรษานี้ ชวนคนไทยลด ละ เลิกเหล้า “Check ตับ”
สสส. ลงพื้นที่ อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย สานพลังเครือข่ายหมออนามัย เข้าพรรษานี้ ชวนคนไทยลด ละ เลิกเหล้า “Check ตับ” ยืดชีวิต ชวนวัดค่าเอนไซม์ตรวจสุขภาพตับ ที่หน่วยสุขภาพใกล้บ้านรู้ทันโรค ชี้ อ.โพนพิสัย ใช้นโยบาย “สามหมอ สานพลัง ชวนคนโพนพิสัยเลิกเหล้า” ช่วยปรับพฤติกรรมลดดื่มเกินครึ่ง ช่วยเสริมแกร่งระบบสุขภาพปฐมภูมิ
เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2567 ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลกุดบง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ลงพื้นที่ถอดบทเรียนความสำเร็จและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “พลังหมออนามัย ชวนคนลด ละ เลิกเหล้า Checkตับ ยืดชีวิต” จัดการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยเอนไซม์ตับ ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายหมออนามัยเพื่อพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพในผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในชุมชนโดยมีการเจาะเลือดตรวจหาค่าเอนไซม์ตับจากกลุ่มผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นครั้งที่ 2 ภายหลังเข้าร่วมโครงการฯ ครบ 6 เดือน พร้อมการตรวจเยี่ยมบ้านผู้เข้าร่วมโครงการฯ
โดย นพ.พงศ์เทพ กล่าวว่า ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ล่าสุด ปี 2564 พบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอัตราการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 32.2 สูงเป็นอันดับ 2 รองจากภาคเหนือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุหลักของภาระโรคของคนไทย รองจากบุหรี่ และยังเป็นสาเหตุหลักทำให้เกิดภาวะตับอักเสบ ไขมันแทรกในตับ ตับแข็ง ตับวาย และมะเร็งตับ คนไทยมีพฤติกรรมดื่มสุราแบบหนักในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมาจำนวน 5.73 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 10.05 การดื่มหนักจะส่งผลให้ตับอักเสบ และตรวจพบเอนไซม์ตับรั่วออกมาในกระแสเลือดในปริมาณสูงได้ สสส. จึงได้บูรณาการองค์ความรู้ด้านปัจจัยเสี่ยงหลัก และระบบบริการสุขภาพ โดยริเริ่ม “โครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายหมออนามัยเพื่อพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพในผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในชุมชน” ควบคู่กับการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา ตามแนวคิด “ฤดูกาลสุขปลอดเหล้า” (Healthy Sobriety) ตั้งแต่ปี 2566 ซึ่งได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายหมออนามัยวิชาการ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ร่วมขับเคลื่อนการแก้ปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในชุมชน พัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ด้วยการรณรงค์ให้ประชาชน “วัดค่าเอนไซม์ตับ” ในพื้นที่นำร่อง 80 พื้นที่ ใน 12 เขตสุขภาพทั่วทุกภูมิภาค
นพ.พงศ์เทพ กล่าวต่อว่า จากผลการคัดกรองพฤติกรรมผู้ดื่มด้วยแบบประเมินปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (AUDIT Score) ในทุกภูมิภาค เมื่อเดือน ธ.ค. 2566 จำนวน 13,556 คน พบกลุ่มผู้ดื่มแบบเสี่ยง 4,236 คน คิดเป็นร้อยละ 31.25 ซึ่งมีความเสี่ยงต่อภาวะตับ และได้ชวนกลุ่มเสี่ยงเพื่อตรวจเลือดประเมินค่าเอนไซม์ตับ โดยมีผู้สมัครใจเข้าร่วมโครงการ 3,469 คน พบเอนไซม์ตับผิดปกติ 849 คน คิดเป็นร้อยละ 24.47 สำหรับพื้นที่ อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย มีนโยบาย “สามหมอ สานพลัง ชวนคนโพนพิสัยเลิกเหล้า” โดยใช้ รพ.สต. เป็นฐานปฏิบัติการ เชื่อมภาคีเครือข่ายในชุมชน ชวนคน ลด ละ เลิกเหล้า Check ตับ ยืดชีวิต มี รพ.สต. ในพื้นที่เข้าร่วม 6 แห่ง มีประชาชนเข้าร่วมโครงการประเมินและคัดกรองพฤติกรรมผู้ดื่ม 1,594 คน เมื่อปี 2566 พบผู้ดื่มระดับเสี่ยงและอันตรายต่อสุขภาพ 478 คน ในจำนวนนี้ผู้สมัครใจตรวจเลือด เพื่อตรวจค่าเอนไซม์ตับ 377 คน พบการทำงานตับปกติ 302 คน ผิดปกติ 75 คน
“สสส. เครือข่ายหมออนามัย และภาคีเครือข่าย ได้รณรงค์และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ความรู้เท่าทันอันตรายและการช่วยเหลือให้คำปรึกษาเลิกดื่ม ทำให้มากกว่าครึ่งหนึ่งสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลด ละ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โครงการนี้ช่วยรณรงค์ให้คนเลิกดื่มในช่วงเข้าพรรษา และลดต่อเนื่องตลอดทั้งปี ช่วยลดปัญหาสุขภาพของประชาชน และเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบสุขภาพปฐมภูมิ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชน” นพ.พงศ์เทพ กล่าว
ดร.บุญเรือง ขาวนวล นายกสมาคมเครือข่ายหมออนามัยวิชาการ และรองคณบดีฝ่ายวิจัยนวัตกรรมและภารกิจพัฒนานิสิต คณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา มหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวว่า การตรวจค่าเอนไซม์ตับ ถือเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ทำให้ผู้ดื่มตระหนักถึงผลกระทบของแอลกอฮอล์ต่อสุขภาพตับ หากมีค่าเกิน 40 ยูนิต/ลิตร ถือว่าการทำงานของตับผิดปกติ ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัย ไม่ใช่สาเหตุจากการดื่มแอลกอฮอล์เท่านั้น เช่น การกินยาบางชนิด โรคไวรัสตับอักเสบ โรคไขมันพอกตับ ความผิดปกติจากพันธุกรรม สารพิษจากสิ่งแวดล้อม โรคทางเมตาบอลิซึม (โรคเบาหวาน ภาวะดื้ออินซูลิน) อย่างไรก็ตาม การดื่มแอลกอฮอล์ ส่งผลต่อสุขภาพตับ ทำให้อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ตาเหลือง ตัวเหลือง จุกแน่นใต้ชายโครงด้านขวาเกิดจากการอักเสบของตับ นำไปสู่โรคตับแข็งในที่สุด หากเลิกดื่มตับจะฟื้นฟูได้เองอย่างน้อย 1-3 เดือน ตับฟื้นฟูได้ ร้อยละ 80 ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคน ดังนั้น การรณรงค์ให้ประชาชนลด ละ เลิกดื่มเริ่มต้นในช่วงเทศกาลเข้าพรรษานี้ และการตรวจเอนไซม์ตับ จะทำให้ประชาชนตระหนักและรู้ภาวะสุขภาพตับและสุขภาพของตัวเอง ช่วยให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลด ละ เลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้
“หมออนามัยเป็นผู้ให้บริการสุขภาพที่ใกล้ชิดชุมชน รู้จักคน รู้จักพื้นที่ จึงมีส่วนสำคัญในการสานพลังภาคีเครือข่ายในพื้นที่ทั้ง อสม. ชุมชน มาร่วมช่วยกันสร้างสิ่งแวดล้อมเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดื่ม ตลอดจนให้ความรู้เรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประชาชนในพื้นที่ รวมถึงกรณีผู้ป่วยมีอาการรุนแรงประสานส่งต่อการรักษาไปยังแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว หรือแพทย์ของโรงพยาบาลแม่ข่าย ” ดร.บุญเรือง กล่าว
นางสาวสมบูรณ์ หาญชนะ อายุ 50 ปี ต.กุดบง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย หนึ่งในผู้ตรวจเอนไซม์ตับ กล่าวว่า ที่ผ่านมาตนดื่มเหล้าขาวทุกวัน ดื่มกัน 4-5 คน ประมาณ 3-4 ขวดต่อวัน เฉลี่ยคนละประมาณ 1 ขวด สาเหตุที่ดื่มเพราะตนทำอาชีพเกษตรกร มีความเชื่อว่าการดื่มเหล้าจะช่วยล้างสารเคมีจากการเกษตร เมื่อได้รับการชักชวนให้เข้าร่วมโครงการงดเหล้า ได้มีการตรวจเอนไซม์ตับครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2566 พบค่าเอนไซม์ตับสูงถึง 542 ถือว่าวิกฤตเพราะมาตรฐานคือไม่ควรเกิน 40 จึงถูกส่งตัวไปรับการรักษาที่ รพ.โพนพิสัย และเมื่อโรงพยาบาลเจาะเลือดก็พบว่าค่าเอนไซม์ตับขึ้นไปสูงถึง 800 ทางแพทย์จึงให้นอนโรงพยาบาล 2 วัน และให้ยารักษา ติดตามอาการทุกเดือน เดือนละ 1 ครั้ง จากค่าเอนไซม์ตับที่สูงเช่นนี้ทำให้ลูกกังวล กลัวว่าแม่จะป่วยเป็นตัวแข็งและเสียชีวิต จึงตัดสินใจที่เลิกดื่ม ซึ่งผลการตรวจล่าสุดเมื่อเดือนพ.ค. 2567 พบว่าค่าเอนไซม์ตับลดลงมาเหลือ 27 ในระยะเวลา 5 เดือน ปัจจุบันแพทย์ไม่ได้นัดติดตามแล้ว และตั้งใจที่จะเลิกดื่มต่อไป
You must be logged in to post a comment Login