วันพุธที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2567

ศิลปะหลังเรือนจำ…ศิลปะเพื่อการปลดปล่อยและสร้างอาชีพ

On August 7, 2024

โลกหลังกำแพงเรือนจำ คือสถานที่จองจำและกำจัดอิสรภาพของคนที่ทำผิดกฎหมายไม่ว่าจะคดีเล็กๆไปจนถึงคดีใหญ่ๆที่เขย่าขวัญผู้คนในสังคม นักโทษคือคำที่สังคมเรียกคนเหล่านี้ วิถีความเป็นอยู่ของนักโทษต้องเป็นไปตามกฎระเบียบของเรือนจำ อย่าถามหาความสุขสบายเหมือนอยู่บ้าน ซึ่งนักโทษบางคนปรับตัวไม่ได้ และเมื่ออยู่ไปนานๆก็เหมือนมีชีวิตอยู่ไปวันๆ โดยไม่รู้ว่าเมื่อพ้นโทษออกไปแล้วจะไปทำมาหากินอะไร ทำให้บางคนชีวิตจึงวนเวียนอยู่กับคุกไปตลอดชีวิต

ความทุกข์ทรมานอันเกิดจากความสูญเสียอิสรภาพ เป็นการลงโทษที่เพียงพอ ประสบการณ์ทางบวกคือหนทางในการพลิกฟื้นชีวิตของผู้ต้องขัง จากคำนิยามในสูจิบัตรงาน art behind  bars ศิลปะหลังกำแพงเรือนจำที่จัดขึ้นโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม โดยผลงานที่นำมาจัดนิทรรศการเป็นผลงานของผู้ต้องขังเรือนจำ 7 แห่ง ได้แก่ เรือนจำกลางอุดรธานี เรือนจำจังหวัดพังงา เรือนจำจังหวัดบึงกาฬ เรือนจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เรือนจำจังหวัดสุพรรณบุรี ทัณฑสถานหญิงธนบุรี และเรือนจำอำเภอสว่างแดนดิน งานจัดขึ้นที่โถงชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 6-11 สิงหาคม 2567

ศิลปะหลังกำแพงเรือนจำ ถือกำเนิดขึ้นมาจากสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สนับสนุนและส่งเสริมนโยบายสร้างเสริมสุขภาวะของประชาชนภายใต้หลักการ “สุขภาวะเพื่อคนทั้งมวล” (Health for All)  ปรับเปลี่ยนเรือนจำให้เป็นพื้นที่ที่ผู้ต้องขังสามารถมีประสบการณ์ในทางบวกทั้งสภาวะแวดล้อม และสุขภาพดีทั้งกายและใจ คือ 1. เพิ่มความสามารถในการดูแลตนเองของผู้ต้องขัง 2. ลดความเสี่ยงของการเป็นโรคที่พบบ่อยในเรือนจำ 3. เพิ่มโอกาสการเข้าถึงการบริการสุขภาพ 4.ผู้ต้องขังมีพลังชีวิต คิดบวกและมีกำลังใจ 5.ดำรงชีวิตอยู่ในความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรและเอื้ออาทร 6.สามารถธำรงบทบาทของการเป็นแม่ ลูก และ/หรือสมาชิกในครอบครัว 7. มีโอกาสสร้างที่ยืนในสังคม ให้เกิดเรือนจำสุขภาวะในสังคมไทย นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าว

“ผลงานแต่ละชิ้นจึงถ่ายทอดออกมาจากความสิ้นหวัง ความเศร้า ความกดดัน ผสมผสานกับความปรารถนาในความเข้าใจ ให้อภัย และความต้องการเชื่อมโยงกับโลกภายนอก  และนิทรรศการนี้จัดขึ้นมาเพื่อสื่อสารกับสังคม ผู้วางนโยบาย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงผลลัพธ์เชิงบวกของการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์เรือนจำจากพื้นที่การลงโทษ ไปสู่ฐานคิดการทำให้เรือนจำเป็นพื้นที่ที่เอื้ออำนวยให้ผู้ที่อยู่ในเรือนจำมีสุขภาวะดีทั้งกายและใจ สามารถคืนกลับสู่สังคมในฐานะพลเมืองที่มีคุณภาพไม่กระทำผิดซ้ำ” นางภรณี กล่าว

สร้างคุณค่าผู้ต้องขังด้วยงานศิลปะ

รศ.ดร.นภาภรณ์ หะวานนท์ ผู้รับผิดชอบโครงการเรือนจำสุขภาวะ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 10   ปีที่ผ่านมาที่ตนต้องงานร่วมกับผู้ต้องขัง พบว่า คนทั่วไปมีแนวโน้มจะมองผู้ต้องขัง และผู้พ้นโทษในลักษณะของ “ความเป็นอื่น” (the otherness) หมายถึง การกีดกันผู้ต้องขัง และผู้พ้นโทษออกไปอยู่นอกแวดวงของสังคม ทำให้ผู้พ้นโทษไม่มีที่ยืนในสังคม ขาดโอกาสในการเริ่มต้นชีวิตใหม่

ชีวิตในเรือนจำจะต้องอยู่ในกฎระเบียบที่เข้มงวดตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับผู้ต้องขังส่วนใหญ่เวลากลางวันจะใช้ชีวิตในลักษณะเหมือนการฆ่าเวลา ทำให้ผู้ต้องขังเครียด สิ้นหวัง และรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า เมื่อมีการสอนและทำงานศิลปะเป็นการเกิดพื้นที่ให้ผู้ต้องขังใช้เวลากลางวันฝึกฝน เรียนรู้แบบถ้อยทีถ้อยอาศัย ทำให้ผู้ต้องขังเห็นคุณค่าของตนเอง และสามารถนำไปประกอบเป็นอาชีพได้หลังพ้นโทษ

สำหรับนิทรรศการศิลปะหลังกำแพงเรือนจำเป็นนิทรรศการครั้งแรกของผู้ต้องขัง ซึ่งเป็นหนทางหนึ่งที่จะสื่อสารให้คนในสังคมรับรู้ความรู้สึก ความมุ่งหวัง และความปรารถนาในโอกาสที่จะคืนกลับเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว ชุมชน และสังคม โดยเฉพาะต้องการให้สังคมได้เห็นเรื่องราว และชีวิตของผู้ต้องขังผ่านผลงานศิลปะที่งดงาม มีส่วนช่วยลบภาพของการประทับตราผู้ที่เคยผิดพลาด แต่พร้อมที่จะทำทุกอย่างเพื่อกลับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกสังคมเหมือนประชาชนทั่วไป

“งานศิลปะในเรือนจำเราไม่ได้ต้องการผลงานที่เป็นมาสเตอร์พีค แต่ผลงานศิลปะของผู้ต้องขังจะไม่เหมือนกับศิลปะของคนอื่น ทุกคนฝันที่จะออกไปจากเรือนจำ ผลงานที่ออกมาคือภาพที่เขาใฝ่ฝัน ที่ไม่ใช่ภาพในเรือนจำ ซึ่งตนอยากให้มองงานศิลปะเป็นการบอกเรื่องราวของผู้ต้องขัง ที่เป็นโอกาสที่นิดเดียว  ที่มันจะเปลี่ยนชีวิตคนได้” รศ.ดร.นภาภรณ์ กล่าว

ชีวิตจะมีค่าต้องให้โอกาสกับคนอื่น

นายอัครินทร์ ปูรี หรือ หรั่งพระนคร อดีตผู้ต้องขังที่ผ่านเรือนจำมาหลายครั้ง มาสู่ช่างทำกีตาร์มือทอง จากชีวิตในวัยเด็ก ที่มีครอบครัวไม่สมบูรณ์ มาเป็นผู้ต้องขังในสถานพินิจ กลายมาอยู่ในเรือนจำ ที่เข้าๆออกๆจนเป็นเหมือนบ้านอีกหลังหนึ่ง ในช่วง 2 ปีแรกในโลกของความเป็นจริง เพื่อนไม่เชื่อว่าเขาจะปรับตัวได้ จะไปได้สักกี่น้ำ ย้อนไปในอดีตเมื่อมูลนิธิพันธกิจเรือนจำคริสเตียนเข้าไปสอนเขาทำกีตาร์ในเรือนจำ แต่อีกหนึ่งบุคคลที่บันดาลใจให้เขาลุกขึ้นมาทำความดี นั่นคือ ผู้คุมคนหนึ่งที่หรั่งยกให้เป็นครูคนแรก เขาไม่เคยใช้กำลังกับนักโทษ จะใช้วิธีพูดคุยและให้กำลังใจไป หรั่งจึงเริ่มเรียนรู้ว่าวิธีแบบนี้สามารถใช้ได้ผล

นายอัครินทร์ กล่าวว่า นักโทษที่ออกมาแล้วควรได้รับโอกาสจากสังคม ในส่วนตัวแล้วตนเป็นคนที่ได้รับโอกาสจากสังคม ตนจะหยิบยื่นโอกาสให้กับเพื่อนนักโทษด้วยกัน ด้วยความคิดที่ว่าคนเราจะมีค่าก็ต่อเมื่อเราให้โอกาสคนอื่น


You must be logged in to post a comment Login