วันพฤหัสที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2567

สกสว. เปิดเวทีชี้แจงแนวทางการจัดทำงบประมาณด้าน ววน. ปี 2569 มุ่งขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรม สู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

On August 8, 2024

สกสว. เปิดการประชุมชี้แจงแนวทางการจัดทำงบประมาณด้าน ววน. ปี 2569 ขับเคลื่อนงานวิจัย นวัตกรรม และเทคโนโลยี สู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน พร้อมยกระดับศักยภาพประเทศไทยสู่สากล

ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) เปิดเผยว่า การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ พัฒนาเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในยุคปัจจุบัน จำเป็นต้องมีการลงทุนด้านการวิจัยและนวัตกรรม การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเป้าหมายสำคัญที่สุดของ คณะกรรมการ กสว. คือ ทำให้สังคมเชื่อถือระบบวิจัย นักวิจัยเชื่อมั่นระบบขับเคลื่อนการวิจัย เกิดประโยชน์จากงานวิจัย กองทุน ววน. ใช้ทรัพยากรราว 1.9 หมื่นล้านบาท/ปี

โดยใน 5 ปี นี้ กสว. ได้มองเห็นภาพการบริหารจัดการ การดูแลทิศทางงบประมาณของประเทศในภาพรวม ขับเคลื่อนอย่างมีทิศทางตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ มุ่งประโยชน์ทั้งในระยะสั้น กลาง และยาว ผสานการสร้างประโยชน์และเสริมสร้างความเข้มแข็ง มีความโปร่งใส อยู่บนพื้นฐานสร้างความเสมอภาค มุ่งให้ทุกภาคส่วนที่เป็นการลงทุนของระบบ ววน. ทั้งประชาชน ประเทศ อุตสาหกรรมได้ประโยชน์ และเห็นความสำเร็จของโครงการสำคัญของประเทศ เช่น การแก้ปัญหาสภาพแวดล้อม การสร้างความมั่นคงทางสุขภาพ การพัฒนาแหล่งรายได้ใหม่โดยการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การใช้ AI เพื่อเกษตรแม่นยำ การแพทย์ และยานยนต์สมัยใหม่ ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม อาทิ การจัดการฝุ่น PM2.5 การจัดการน้ำ ตลอดจนให้ความสำคัญกับการพัฒนากำลังคนที่เป็นความต้องการของอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้น เช่น Semiconductor, AI และ EV และมุ่งสร้างการยอมรับให้กับ กองทุน ววน. ให้เป็นที่ประจักษ์ เข้าถึงและจับต้องได้ ด้วยการมีกลยุทธ์การสื่อสารที่ชัดเจน มีการสื่อสารแบบสองทางที่พร้อมตอบคำถามสำคัญ เป็นต้น

รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า การประชุมชี้แจงเป้าหมายการสนับสนุนงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และแนวทางการจัดทำคำของบประมาณของหน่วยงานในระบบ ววน. ปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 นี้ เพื่อให้หน่วยงานในระบบ ววน. มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบ แผน แนวทางการจัดสรรงบประมาณ และมีข้อมูลพร้อมสำหรับเตรียมการจัดทำคำของบประมาณเพื่อสนับสนุนงานมูลฐานของหน่วยงาน

โดย กองทุน ววน. ได้เป็นตัวกลางในการขับเคลื่อนระบบ ววน. ของประเทศที่สอดคล้องนโยบายของภาครัฐในการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้เกิดความสมดุลและยั่งยืนใน 4 ยุทธศาสตร์ ตามแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ พ.ศ. 2566-2570 อันประกอบด้วย

  1. การพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ให้มีความสามารถในการแข่งขัน และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ได้แก่ การพัฒนาและผลิตผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง (Advanced Therapy Medicinal Products; ATMPs) การพัฒนาและยกระดับการท่องเที่ยวโดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เน้นคุณค่า สร้างความยั่งยืน และเพิ่มรายได้ของประเทศ พัฒนาและส่งเสริมให้ประเทศเพิ่มธุรกิจฐานนวัตกรรม (Innovation-Driven Enterprises; IDEs) การเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกชั้นนำของโลกด้าน Functional Ingredients, Functional Food และ Novel Food การเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของอาเซียน
  2. การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่น การเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก เพื่อการพึ่งพาตนเองและกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ประเทศไทยสามารถยกระดับการเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ การพัฒนาผู้สูงอายุในชนบทและเมืองให้มีศักยภาพในการพึ่งพาตนเอง มีคุณค่าและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สังคม
  3. การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมระดับขั้นแนวหน้าที่ก้าวหน้าล้ำยุค เพื่อสร้างโอกาสใหม่และความพร้อมของประเทศในอนาคต ได้แก่ การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีระบบโลกและอวกาศ (Earth Space Technology) โดยสามารถสร้างดาวเทียมที่วิจัยและพัฒนาโดยคนไทยและส่งไปโคจรรอบดวงจันทร์ และ
  4. การพัฒนากำลังคน สถาบันอุดมศึกษา และสถาบันวิจัยให้เป็นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแบบก้าวกระโดดและอย่างยั่งยืน ได้แก่ ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของกำลังคนระดับสูง (Hub of Talent) และศูนย์กลางการเรียนรู้ (Hub of Knowledge) ของอาเซียน

“ทั้งนี้ สกสว. ตั้งเป้าที่จะขับเคลื่อนให้เกิดระบบนิเวศการวิจัยและนวัตกรรมที่เข้มแข็ง ส่งเสริมการผลักดันให้เกิดการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยคาดการณ์ผลจากการลงทุนงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมของประเทศเฉลี่ย 5 เท่าของงบประมาณลงทุน

นอกจากการนี้ สกสว. ยังได้เตรียมดำเนินการที่สอดคล้องกับโจทย์และความต้องการของประเทศ ใน 7 เรื่องสำคัญ คือ 1.การศึกษาแนวทางในการจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุนในสตาร์ทอัพ ผ่านการร่วมทุนกับนักลงทุนมืออาชีพ เพื่อสร้างผู้ประกอบการใหม่ที่มีสินค้าและบริการจากงานวิจัย 2.การพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจร่วมกับสภาพัฒน์ด้วยแนวทางเอกชนนำ รัฐสนับสนุน เพื่อให้เกิดการลงทุนและยกระดับกำลังคนให้มีทักษะสูง 3.การแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 แบบครบวงจร นำร่องในพื้นที่ภาคเหนือ 4.การนำงานวิจัยมายกระดับภาคการเกษตร เพื่อลดต้นทุนและสร้างรายได้สู่การเกษตรมูลค่าสูง 5. แผนการลงทุนด้าน ววน. ในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และดิจิทัล AI 6. การเปิดใช้งาน open data ของกองทุน ววน. ให้กับสาธารณะ เพื่อใช้ในการหาข้อมูลงานวิจัย เทคโนโลยีที่พร้อมใช้ และโครงการพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ที่พร้อมให้บริการในแต่ละพื้นที่ และ 7. การเร่งวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสีเขียว เทคโนโลยีกักเก็บก๊าซเรือนกระจกรวมถึงการนำไปใช้เพื่อสนับสนุนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศ รองศาสตราจารย์ ดร. ปัทมาวดี กล่าวปิดท้าย


You must be logged in to post a comment Login