วันเสาร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2567

ไทยพีบีเอส – ภาคีฯ จัดกิจกรรมวันชนเผ่าพื้นเมืองโลก เปิดพื้นที่ Policy Forum ติดตามเส้นทาง ความหวังสู่การมี “กฎหมายชาติพันธุ์” ฉบับแรกของไทย

On August 10, 2024

The Active ไทยพีบีเอส จับมือภาคีเครือข่าย ร่วมจัดกิจกรรม เนื่องในวันชนเผ่าพื้นเมืองโลก ชวนชิมข้าวปลา อาหาร ช็อปของดีส่งตรงจากชุมชน พร้อมเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนมุมมองผ่าน Policy Forum  “เส้นทาง ความหวัง กฎหมายชาติพันธุ์ ฉบับแรกของไทย”

เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2567 องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส โดยศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ หรือ The Active ร่วมกับศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่าย เปิดบ้านชวนล้อมวงกินข้าว ฟังเรื่องเล่า เส้นทางความหวัง กฎหมายชาติพันธุ์ ฉบับแรกของไทย เพื่อเฉลิมฉลองต้อนรับวันชนเผ่าพื้นเมืองโลก ในวันที่ 9 สิงหาคมของทุก ๆ ปี

โดยภายในกิจกรรมนี้ มีกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองจากทั่วประเทศกว่า 250 คน พร้อมทั้งตัวแทนผู้ร่วมผลักดันกฎหมายและผู้แทนจากพรรคการเมืองต่าง ๆ มาร่วมชิมข้าวปลา อาหาร ช็อปของดีส่งตรงจากชุมชน มีการจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าและอาหารท้องถิ่น การแสดงดนตรี การละเล่นของกลุ่มชาติพันธุ์จากภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อเฉลิมฉลอง ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง

อีกทั้งยังมีการเปิดพื้นที่ จัดกิจกรรมเสวนาเชิงนโยบาย หรือ Policy Forum ครั้งที่ 16 ในหัวข้อ “เส้นทาง ความหวัง กฎหมายชาติพันธุ์ ฉบับแรกของไทย”  พูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกับตัวแทนผู้ร่วมผลักดันกฎหมาย กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้แทนจากพรรคการเมืองต่าง ๆ เพื่อติดตามความคืบหน้า และกลไกการมีส่วนร่วมในการจัดทำ “กฎหมายชาติพันธุ์” ฉบับแรกของไทย เพื่อนับถอยหลังสู่เป้าหมายและหาฉันทมติร่วมกัน

ศักดิ์ดา แสนมี่ กมธ.วิสามัญ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ สัดส่วนสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ถือเป็นนิมิตรหมายอันดีที่ได้เห็นภาพของตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์เข้ามาเป็นคณะกรรมาธิการพิจารณากฎหมายฉบับนี้ ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ได้มีส่วนร่วมกับกระบวนการทางกฎหมายมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี หลังจากนี้ แต่ละฝ่ายแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรร่วมทำความเข้าใจ รวมถึงเปิดพื้นที่พูดคุย เพื่อคลายข้อกังวลต่าง ๆ และร่วมกันสนับสนุน ส่งเสริมให้กฎหมายฉบับนี้ได้เดินไปในเส้นทางที่วาดหวัง

ในด้านของความคืบหน้าการพิจารณา “กฎหมายชาติพันธุ์” อภินันท์ ธรรมเสนา ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) สรุปไว้ว่า ขณะนี้ได้พิจารณาแล้วครบทั้ง 35 มาตรา เหลือเพียงการทบทวนถ้อยคำหรือข้อความในร่างกฎหมายให้มีความสม่ำเสมอและครอบคลุมต่อคนทุกกลุ่ม ซึ่งมีประเด็นที่ละเอียดอ่อน เช่นเรื่องการนิยามคำศัพท์ บทบาทและหน้าที่ของสภาชนเผ่าพื้นเมือง และเรื่องเขตพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ ในชั้นกรรมาธิการน่าจะพิจารณากฏหมายแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ และนำเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

ผศ. สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการจัดการภูมิวัฒนธรรม วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ให้ข้อเสนอแนะว่า ชุมชนชาติพันธุ์มีพลวัตทางสังคมและมีการเปลี่ยนแปลงแตกต่างกัน จึงสำคัญที่ต้องออกแบบกฎหมายให้เอื้อต่อการดำรงชีวิตที่หลากหลายของผู้คน ต่อมาคือการปรับนิเวศทางสังคมเพื่อเอื้อต่อการปรับตัวและยกระดับศักยภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ สุดท้ายคือการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ กล่าวคือ กลไกการพิจารณากฎหมายจะต้องอยู่บนฐานของภาคประชาชน และได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่ายในการร่วมออกแบบ เพื่อเคารพความคิดที่หลากหลายและป้องกันการเกิดอำนาจรวมศูนย์จากภาครัฐ

ณาตยา แวววีรคุปต์ ผู้อำนวยการศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ กล่าวว่า สิ่งสำคัญสำหรับแนวทางการสร้างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม คือ การยอมรับความหลากหลาย การมีเจตจำนงร่วมกันของทุกฝ่าย การก้าวข้ามการเป็นพรรคการเมือง และการเปิดข้อถกเถียงในสภา เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง  รวมถึงเปิดพื้นที่ส่วนร่วมเพื่อบรรลุเป้าหมาย คือการผลักดันกฎหมายชาติพันธุ์ให้สำเร็จลุล่วง

“ไทยพีบีเอสได้จัดทำ “Policy Watch” แพลตฟอร์มที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมบนระบอบประชาธิปไตย เพื่อเป็นสื่อกลางในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะของประเทศที่เชื่อมโยงกับประชาชน เป็นพื้นที่ในการให้ข้อมูล ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการกระบวนการกฎหมาย รวมถึงการติดตามคืบหน้านโยบายการคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตชาติพันธุ์ การผลักดันกฎหมาย ความเคลื่อนไหวในการพิจารณากฎหมายแต่ละขั้นตอน และการประกาศพื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรม โดยสามารถติดตามได้ที่ https://policywatch.thaipbs.or.th/ณาตยา กล่าว

สามารถติดตามไทยพีบีเอสทุกช่องทางออนไลน์ ได้ที่

▪ Website : www.thaipbs.or.th
▪ Application : Thai PBS

▪ Social Media Thai PBS : FacebookYouTubeX (Twitter)LINETikTokInstagramThreads


You must be logged in to post a comment Login