วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

สสส.-เครือข่ายลดบริโภคเค็ม-สธ.-มหาวิทยาลัยมหิดล-กทม. สานพลัง หนุนแผนนโยบายลดบริโภคเกลือฯ

On August 10, 2024

‘สะเทือนไต’ เมนูยอดฮิต ส้มตำ ยำแซ่บ ทำคนไทยกินเค็มเกินเกณฑ์เกือบ 2 เท่า ป่วย NCDs ทะลุ 22 ล้านคน สสส.-เครือข่ายลดบริโภคเค็ม-สธ.-มหาวิทยาลัยมหิดล-กทม. สานพลัง หนุนแผนนโยบายลดบริโภคเกลือฯ พัฒนานวัตกรรมเครื่องตรวจวัดความเค็ม “CHEM METER” แม่นยำ-ใช้งานง่าย มุ่งส่งต่อความรู้สู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาวะ

เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2567 ที่อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ปี ซ.ศูนย์วิจัย กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ เครือข่ายลดการบริโภคเค็ม กองควบคุมโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร จัดงานแถลงข่าว “ชูนวัตกรรม Salt Meter ตัวช่วยขับเคลื่อนมาตรการลดเค็ม” เปิดตัวเครื่องตรวจวัดปริมาณโซเดียมในอาหาร (Salt Meter) ชื่อว่า “CHEM METER” ที่มีการพัฒนามาตรฐานการใช้งานกว่า 5 ปี โดยวิศวกรไทยมุ่งช่วยประชาชนลดการบริโภคเค็ม ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคความดันโลหิตสูงและโรคไต

น.ส.นิรมล ราศรี ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า สสส. ร่วมกับเครือข่ายลดการบริโภคเค็ม รณรงค์ขับเคลื่อนสังคมด้วยองค์ความรู้ นวัตกรรม และการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ เพื่อสร้างความรอบรู้ด้านการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะ ลดการบริโภคเค็ม (โซเดียม) พร้อมส่งเสริมการจัดสภาพแวดล้อมด้านอาหารเพื่อสุขภาวะที่เอื้อต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) การแถลงข่าว ครั้งนี้ ถือเป็นการเปิดตัว CHEM METER นวัตกรรมที่ส่งต่อองค์ความรู้ในชุมชนผ่านกลไกการทำงานของระบบบริการสุขภาพภาครัฐ ช่วยลดการบริโภคเค็ม โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติและทางคลินิก เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนใช้ CHEM METER ในอาหาร และยังช่วยเอื้อความสะดวกต่อวิถีชีวิตประจำวันของผู้บริโภคทุกคน

“ที่ผ่านมา สสส. ดำเนินงานลดบริโภคเค็มใน 4 ประเด็น 1.สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมรวมถึงผลักดันมาตรการและนโยบายในประเทศ เช่น สร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์เกลือลดโซเดียม น้ำปรุงลดโซเดียม ปรับสูตรลดโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหารชุมชน 2.สื่อสารรณรงค์ “ลดเค็มครึ่งหนึ่ง” “ลดเค็ม ลดโรค” เพื่อให้ประชาชนตระหนักต่อผลกระทบทางสุขภาพ 3.ผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ เพื่อให้เกิดกลไกการจัดการสภาพแวดล้อมด้านอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ส่งผลให้ผู้ประกอบการปรับลดปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหาร 4.สนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในไทย พ.ศ. 2559-2568 สู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ เช่น โครงการโรงพยาบาลเค็มน้อย อร่อย (3) ดี ชุมชนลดเค็ม 150 แห่งทั่วประเทศ โดยใช้ CHEM METER เป็นเครื่องมือสำคัญในการติดตามและประเมินผล” น.ส.นิรมล กล่าว

นพ.กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค สธ. กล่าวว่า คนไทยป่วยด้วยโรคที่สัมพันธ์กับการบริโภคโซเดียมถึง 22.05 ล้านคน (โรคความดันโลหิตสูง 13.2 ล้านคน โรคไต 7.6 ล้านคน โรคหัวใจขาดเลือด 7.5 แสนคน โรคหลอดเลือดสมอง 5 แสนคน) การสำรวจปริมาณโซเดียมในอาหาร จึงเป็นส่วนสำคัญของยุทธศาสตร์ลดการบริโภคเกลือฯ เพื่อเฝ้าระวังข้อมูล ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานลดการบริโภคเกลือและโซเดียมของประเทศ ภายใต้รูปแบบการดำเนินงานการสำรวจปริมาณโซเดียมในอาหาร การดำเนินงานลดการบริโภคเกลือและโซเดียมระดับจังหวัด และการประเมินความตระหนักรู้ด้านการบริโภคเกลือและโซเดียมของประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งดำเนินการโดยการเก็บตัวอย่างอาหารทั่วประเทศ เพื่อตรวจวัดปริมาณโซเดียมด้วย CHEM METER เครื่องมือที่ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน

รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า จากการสำรวจการบริโภคโซเดียมคลอไรด์ของประชากรไทย ปี 2566 พบว่า ประชากรไทยได้รับโซเดียมจากอาหารที่บริโภคเฉลี่ย 3,636 มก./วัน ซึ่งมากกว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกที่แนะนำให้ประชาชนบริโภคโซเดียมไม่เกิน 2,000 มก./วัน การได้รับโซเดียมในปริมาณสูงเกินกว่าคำแนะนำ มีผลโดยตรงต่อความชุกของโรคความดันโลหิตสูง ทำให้ไตเสื่อมเร็ว ปัจจุบันพบคนไข้ป่วยเป็นโรคไตหรือไตวายอายุน้อยลงอยู่ที่ 35–40 ปี จากเดิมที่อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 50–60 ปี มีผลจากวัฒนธรรมการกินของคนไทยที่เปลี่ยนไป

“คนไทยนิยมกินส้มตำ ยำต่าง ๆ อาหารสำเร็จรูป บุฟเฟ่ต์ ปิ้งย่าง หมูกระทะ อาหารญี่ปุ่น-เกาหลี ที่มีรสเค็มจัด จากการหมักดองเกลือ หรือใส่เครื่องปรุงจำนวนมาก เมื่อกินสะสมบ่อยๆ จึงติดรสเค็มแบบไม่รู้ตัว อีกปัจจัยสำคัญคือการกินเค็มตั้งแต่เด็ก เช่น ขนมกรุบกรอบ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โจ๊กซอง-ถ้วย CHEM METER จึงพัฒนาให้เหมาะสมกับความเค็มของอาหารไทยที่มีค่าเกลือและไขมันค่อนข้างสูง ช่วยให้ผู้ใช้ทราบเกี่ยวกับปริมาณโซเดียมในอาหารและควบคุมการบริโภคเค็มในแต่ละวันได้อย่างแม่นยำ” รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว

รศ.ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า CHEM METER ผ่านการวิจัยและพัฒนาต้นแบบกว่า 4 รุ่น ใช้หลักการวัดการนำไฟฟ้าของโซเดียมคลอไรด์ รวมถึงปรับปรุงแผงวงจรให้สามารถวัดค่าได้แม่นยำ และออกแบบอุปกรณ์ให้เหมาะกับการใช้งานในชีวิตประจำวัน รองรับการผลิตในเชิงอุตสาหกรรม ใช้งานง่ายตอบโจทย์ผู้บริโภค โดยเฉพาะผู้สูงอายุเมื่อได้เห็นการแสดงผลหน้าจอด้วย emoji ใบหน้าดีใจ-เศร้า ทำให้เข้าใจได้ทันทีว่าอาหารมีความเค็มน้อยหรือมากไป ทั้งนี้ ได้นำไปทดลองใช้แล้วกว่า 300 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น ฝ่ายโภชนาการ โรงพยาบาลรามาธิบดี คลินิกเฉพาะทางด้านความดันโลหิตสูง ผลการทดสอบประสิทธิภาพการทำงาน พบว่า สามารถวัดปริมาณโซเดียมในอาหารได้ดี ขณะนี้ อยู่ระหว่างการพัฒนา CHEM METER รุ่นใหม่ ซึ่งจะสามารถให้การรองรับการส่งข้อมูลนำไปคำนวณปริมาณโซเดียมและแสดงผลผ่านแอปพลิเคชัน ทำให้ผู้บริโภคตรวจสอบปริมาณโซเดียมในแต่ละวันได้ง่ายยิ่งขึ้น


You must be logged in to post a comment Login