วันอังคารที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2567

จัดระเบียบ : ลงทะเบียนเพื่อยืนยันตัวตนผู้ใช้งานบิทคอยน์

On August 13, 2024

ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่   13  ส.ค.   67)

แมลงเม่าบินเข้ากองไฟ (บิทคอยน์) มีมากเหลือเกิน กลายเป็นแฟชั่นไปแล้วว่าคนหนุ่มสาวพึงเล่นบิทคอยน์ทั้งที่ทำให้ “เจ๊ง” กันระเนระนาด ดร.โสภณจึงออกมาเตือนโดยไม่กลัวแปดเปื้อนใดๆ

ในวันนี้จึงขอยกงานวิจัยมายืนยันโดย พ.ต.ต.กิจชัยยะ สุรารักษ์ ได้ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาอาชญาวิทยาและงานยุติธรรม ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี 2562 เรื่อง ‘แนวทางการป้องกันอาชญากรรมที่เกี่ยวกับสกุลเงินเข้ารหัสในประเทศไทย: กรณีศึกษาบิทคอยน์’ และลงเผยแพร่ทั่วไป ดร.โสภณจึงขอนำมาเผยแพร่เพื่อให้สังคมตระหนักถึงภยันตรายที่เกิดจากพวกอาชญากรที่แฝงตัวอยู่ในบิทคอยน์

สำหรับบทสรุปสำหรับผู้บริหาร เป็นดังนี้:

1. ‘คริปโตเคอร์เรนซี’ (Cryptocurrency) หรือ ‘สกุลเงินเข้ารหัส’ สินทรัพย์ดิจิทัลที่ในด้านหนึ่งถูกมองว่าจะเปลี่ยนวิถีชีวิตของมนุษย์ไปอย่างสิ้นเชิง จะเป็นทางเลือกที่จะทำให้มนุษย์มีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น โดยไม่จำเป็นจะต้องใช้เงินสด ไม่จำเป็นต้องเก็บรักษา หรือใช้บริการของธนาคาร หรือสถาบันการเงินต่างๆ อีกต่อไป

2. แต่จากลักษณะของผู้ใช้สกุลเงินเข้ารหัส ที่มักมีลักษณะเป็น ‘บุคคลนิรนาม’ (Anonymous) ก็ทำให้ถูกนำไปใช้ในการก่ออาชญากรรมออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ใต้ดินต่างๆ เช่น ลักลอบซื้อขายยาเสพติด อาวุธและสิ่งผิดกฎหมายอื่นๆ จ้างวานผู้อื่นก่ออาชญากรรม เรียกค่าไถ่ และลักลอบค้าประเวณี ฯลฯ

3. งานศึกษาการป้องกันอาชญากรรมที่ใช้สกุลเงินเข้ารหัสเป็นเครื่องมือ เสนอว่า ไทยควรมีมาตรการบังคับให้ลงทะเบียนเพื่อยืนยันตัวตนผู้ใช้งานสกุลเงินเข้ารหัสต่างๆ มีการกำหนดหลักปฏิบัติในการเก็บรวบรวมพยานหลักฐานที่อยู่ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ชัดเจน และสร้างกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Wallet) ของรัฐ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือหลักในการยึด หรืออายัดสกุลเงินเข้ารหัสต่างๆ ที่ใช้ในการกระทำผิดกฎหมาย

และในส่วนข้อเสนอแนะ ได้มีการแจกแจงรายละเอียดเพิ่มเติมก็คือ ไว้ดังนี้:

1. ข้อเสนอป้องกันอาชญากรรม ‘ต้องลงทะเบียนเพื่อยืนยันตัวตนผู้ใช้งานสกุลเงินเข้ารหัส’ สำหรับข้อเสนอของงานศึกษาชิ้นนี้ในส่วนของ ‘แนวทางการป้องกันอาชญากรรมที่ใช้บิทคอยน์ในฐานะสกุลเงินเข้ารหัสเป็นเครื่องมือในประเทศไทย’ ได้เสนอว่า ควรมีการกำหนดมาตรการบังคับให้มีการลงทะเบียนเพื่อยืนยันตัวตนผู้ใช้งานบิตคอยน์และสกุลเงินเข้ารหัสต่างๆ มีการกำหนดหลักปฏิบัติในการเก็บรวบรวมพยานหลักฐานที่อยู่ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ชัดเจน มีการสร้างกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Wallet) ของรัฐ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือหลักในการยึดหรืออายัดบิตคอยน์ หรือสกุลเงินเข้ารหัสต่างๆ ที่ใช้ในการกระทำผิดกฎหมาย

2. ส่งเสริมให้ศึกษาวิจัยเพื่อหาวิธีการ เครื่องมือ หรือกลไกการป้องกันอาชญากรรมรูปแบบใหม่ ที่สามารถป้องกันอาชญากรรมที่เกี่ยวกับสกุลเงินเข้ารหัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการป้องกันอาชญากรรมที่เกี่ยวกับสกุลเงินเข้ารหัส และสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานในต่างประเทศที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นรูปธรรม

3. ส่วนข้อเสนอในเชิงนโยบายนั้น งานศึกษาชิ้นนี้เสนอว่า ภาครัฐจะต้องศึกษาเก็บรวบรวมข้อมูลและสถิติที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมที่เกี่ยวกับสกุลเงินเข้ารหัส เพื่อนำไปเป็นฐานข้อมูลในการวิเคราะห์สถานการณ์การเกิดอาชญากรรมที่เกี่ยวกับสกุลเงินเข้ารหัส ลักษณะ และรูปแบบของอาชญากรรมที่เกี่ยวกับสกุลเงินเข้ารหัส สภาพความรุนแรง หรือความเสียหายที่เกิดขึ้น ตลอดจนวิเคราะห์แนวโน้มการเกิดอาชญากรรมที่เกี่ยวกับสกุลเงินเข้ารหัสในอนาคต ทั้งจากสถานการณ์ในประเทศและต่างประเทศประกอบกับการวิเคราะห์เปรียบเทียบความสำคัญระหว่างการควบคุมการใช้งานสกุลเงินเข้ารหัสในเชิงการป้องกันอาชญากรรมกับผลประโยชน์ในด้านการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและการเงิน

ถ้าเป็นได้ รัฐพึงต้องนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้พิจารณาเพื่อกำหนดทิศทางของนโยบายสาธารณะที่เกี่ยวข้อง เช่น จะกำหนดให้มาตรการการลงทะเบียนยืนยันตัวตนผู้ใช้งานมีระดับความเข้มข้นมากน้อยเพียงใด จะกำหนดให้บุคคลใดบ้างที่จะต้องดำเนินการตามมาตรการลงทะเบียนยืนยันตัวตน ตลอดจนพิจารณาความจำเป็นในการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ หรือศูนย์เฉพาะกิจขึ้น ทั้งนี้ ภายหลังจากกำหนดนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จะต้องมีกระบวนการการประเมินผลนโยบายประกอบกับข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาปรับแก้ไขนโยบายต่างๆ ต่อไป

โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

http://cuir.car.chula.ac.th/bitstream/123456789/70402/1/6081352924.pdf


You must be logged in to post a comment Login