วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล จับมือ เครือข่ายแรงงาน จี้ประกันสังคม ปรับเพิ่มสิทธิลาคลอด 180 วัน เพิ่มค่าคลอดเป็น 3 หมื่นบาท

On August 13, 2024

มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล จับมือ เครือข่ายแรงงาน จี้ประกันสังคม ปรับเพิ่มสิทธิลาคลอด 180 วัน เพิ่มค่าคลอดเป็น 3 หมื่นบาท จ่ายเต็ม 100% เงินชดเชย พร้อมเงินอุดหนุนเด็ก 2 พันบาทต่อเดือน อุ้มครอบครัวแรงงานเพิ่มประชากร หลังสำรวจพบสิทธิประโยชน์ปัจจุบันไม่จูงใจ คน 70% ท้อค่าใช้จ่ายสูง ไม่ขอมีลูกใน 5 ปี 

วันที่ 13 สิงหาคม 2567 เวลา 10.00 น. ที่สำนักงานประกันสังคม นนทบุรี มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พร้อมด้วยแกนนำเครือข่ายขับเคลื่อนกฎหมายลาคลอด 180 วัน ประกอบด้วย สหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง สหภาพแรงงานกิจการสิ่งทอนครหลวง และสภาองค์กรลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย กว่า 30 คน เข้ายื่นหนังสือถึงคณะกรรมการประกันสังคม เสนอข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสิทธิในการลาคลอด

นางสาวธัญมน สว่างวงศ์ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า ตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 41 ประกอบมาตรา 59 กำหนดให้ลูกจ้างหญิงมีครรภ์ลาคลอดได้ไม่เกิน 98 วัน โดยได้รับค่าจ้างจากนายจ้างไม่เกิน 45 วัน 100 % ของฐานเงินเดือน และพ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ให้สำนักงานประกันสังคม จ่ายชดเชย 45 วันในอัตราเหมาจ่าย 50% ของเงินเดือน แต่ 34 ปีที่ผ่านมาพบว่ามีปัญหาการบังคับใช้ เช่น ค่าตรวจครรภ์และฝากครรภ์ กฎหมายกำหนดให้เบิกจ่ายไม่เกิน 1,500 บาท แต่ไม่ครอบคลุมกรณีทารกมีความผิดปกติหรือต้องตรวจพิเศษ ทำให้ผู้ประกันตนต้องไปกู้หนี้ยืมสิน อีกครั้งการคลอดยังให้ผู้ประกันตนสำรองจ่าย ซึ่งบางรายไม่มีศักยภาพตรงนี้ ขณะที่เงินชดเชย การลาคลอดของประกันสังคม 45 วันในอัตรา 50% ของเงินเดือนนั้นไม่เพียงพอระหว่างการลาคลอดบุตร

ทั้งนี้ปัญหาดังกล่าวสอดคล้องกับ ที่มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลได้สำรวจความเห็นในโรงงานอุตสาหกรรม ในกรุงเทพฯ จำนวน 1,437 คนกรณี “การขยายวันลาคลอดเป็น 180 วัน และสิทธิการลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรแรกเกิด” พบว่า แรงงาน 69.4% ยังไม่มีแผนมีลูกใน 5 ปี ข้างหน้า เพราะกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย กลัวเงินไม่พอค่าคลอด ค่าเลี้ยงลูก 39.1% กลัวไม่มีเวลา ขาดคนช่วยเลี้ยง 24.9% แรงงาน 78.2% ใช้สิทธิลาคลอด 90-98 วัน อีก 14.5% ลาเพียง 30-59 วัน เหตุผลที่ลาคลอดไม่ครบวันตามที่กฎหมายกำหนด แล้วต้องรีบกลับมาทำงานเพราะต้องการมีรายได้/ต้องการโอทีเพิ่ม ตามด้วยกลัวถูกลดโบนัส ทั้งนี้เมื่อถามถึงสวัสดิการเด็กแรกเกิดพบว่าแรงงานหญิง 59.4% ไม่ได้รับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด 600 บาท แต่ 96.6% ได้รับเงินจากเงินสงเคราะห์บุตรจากประกันสังคม 800 บาท

“เมื่อเราถามถึงความเห็นต่อสิทธิสวัสดิการภาครัฐ แรงงาน 99.3% เห็นว่า ควรเพิ่มสวัสดิการค่าคลอดบุตรจาก 15,000 บาทเป็น 30,000 บาท แรงงาน 96.5% เห็นด้วยกับการขยายสิทธิวันลาคลอดเพิ่มจาก 98 วัน เป็น 180 วัน และ 93.7 % เห็นด้วยกับการให้สิทธิพ่อลาได้ 30 วันเพื่อช่วยเลี้ยงดูลูก” นางสาวธัญมน กล่าว

นางสาวธัญมน  กล่าวว่า เครือข่ายฯ ขอเรียกร้องดังนี้ 1. ขอให้สำนักงานประกันสังคม มีนโยบายสนับสนุนการขยายสิทธิลาคลอดจาก 98 วัน เป็น 180 วัน 2. ให้สำนักงานประกันสังคมปรับเพิ่มเงินชดเชยการลาคลอดจาก 50% ของค่าจ้าง 45 วัน เป็น 100% ของค่าจ้าง 180 วัน และขยายครอบคลุมถึงผู้ประกันตนชายหรือทุกเพศสภาพ  หยุดงานเลี้ยงลูก และได้รับค่าจ้าง 100% ค่าจ้าง 30 วัน 3. สำนักงานประกันสังคมสวัสดิการเพื่อจูงใจให้คนมีลูก 2 กรณี คือเพิ่มเงินค่าคลอดจาก 15,000 บาท เป็น 30,000 บาท ต่อการคลอดบุตร 1 ครั้ง สามารถใช้สิทธิการเบิกค่าคลอดบุตรของผู้ประกันตนทั้งสองฝ่าย และเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรจาก 800 บาท ต่อคน/เดือน เป็นระยะเวลา 6 ปี เป็น 2,000 บาทต่อคน/เดือน เป็นระยะเวลา 15 ปี และ 4.สำนักงานประกันสังคม ทำงานเชิงรุกเพื่อให้ผู้ประกันตนและนายจ้าง มีความรู้ ความเข้าใจ เข้าถึงสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย รวมถึงผู้ประกันตนเข้าถึงงบฯ สำนักงานประกันสังคมเพื่อออกแบบกิจกรรมอบรมให้ความรู้กับผู้ประกันในสถานประกอบการได้

นายสุเทพ ศรีวิชา ตัวแทนสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตนสนับสนุนเต็มที่ให้มีการแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องปัจจุบัน เพราะทุกวันนี้ค่าใช้จ่ายหลายอย่างแพงขึ้น แค่ค่าคลอดยังอยู่แค่ 15,000 บาทมาเป็นเวลาหลายปี รวมถึงสิทธิในการลาคลอดควรจะเพิ่มมาเป็น 180 วัน และให้สิทธิฝ่ายชายด้วย เพราะการดูแลเด็กคนหนึ่งต้องการความรักทั้งจากพ่อ และแม่ ทั้งนี้จากที่มีการเรียกร้องที่ผ่านๆ มาเห็นว่า ทางภาครัฐเหมือนจะมีการตอบรับที่ดี แต่ก็ยังไม่สำเร็จ เราจึงต้องเดินหน้าผลักดันเรื่องนี้ต่อไป อนาคตไม่รู้ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล แล้วจะสานต่อหรือไม่ การจะแก้กฎหมายแต่ละครั้งใช้เวลานาน ดังนั้นควรปรับแก้ ไม่เช่นนั้นจะสามารถพัฒนาเด็กคนหนึ่งได้อย่างไรหากค่าใช้จ่ายไม่เพียงพอ

ขณะที่ นางสาวติมาพร เจริญสุข เลขาธิการกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ตนเคยสะท้อนความเห็นว่า กฎหมายให้สิทธิลาคลอด 98 วันก็จริง แต่ในทางปฏิบัติคือลาได้ 90 วันที่ยังได้รับค่าจ้างอยู่ ส่วนอีก 8 วันที่เหลือจะไม่ได้รับค่าจ้าง อีกทั้งยังเสียสิทธิได้รับที ถูกตัดเกรดขึ้นเงินเดือน หรือไม่ได้รับโบนัส เป็นต้น ซึ่งตอนนี้มีการยอมจ่ายค่าจ้างในส่วนของ 8 วันที่เหลือแล้ว แต่เรามองว่าการที่ลาคลอดอยู่กับลูกเพียง 98 วันยังไม่เพียงพอ แต่เห็นว่า การลาดคลอดให้เลี้ยงลูก ให้นมลูกควรจะมากกว่านี้ โดยในส่วนของฝ่ายมารดาควรอยู่ที่ 180 วัน ส่วนฝ่ายสามีอยู่ที่ประมาณ 30 วัน รวมถึงควรเพิ่มค่าคลอดบุตรเพิ่มจาก 15,000 เป็น 30,000 บาทด้วย รวมถึงเงินชดเชยลาดคลอด อยากให้สำนักงานประกันสังคมจ่ายให้ 100% ของค่าจ้างด้วย เพราะถ้ามองที่ต่างประเทศ เขาจ่ายเต็มเลย


You must be logged in to post a comment Login