วันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2567

สสส.จับมือภาคีหนุนสร้างความรู้สุขภาวะทางเพศสกัดแม่วัยใส-ป้องกันโรคทางเพศสัมพันธ์

On August 16, 2024

สสส.จับมือภาคี สร้างชุมชนเข้มแข็งสร้างสุขภาวะทางเพศ สร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องเพศ โดยมีครอบครัว โรงเรียน ชุมชนเป็นคนให้ความรู้กับเยาวชนกลุ่มเสี่ยง แนะครอบครัวเปิดใจคุยเรื่องเพศอย่างถูกวิธีตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนจะสายเกินไปกลายเป็นแม่วัยใส หรือติดโรคทางเพศสัมพันธ์

ที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ คณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มูลนิธิแพธทูเฮลท์ และภาคีเครือข่าย จัดการประชุมสุขภาวะทางเพศระดับชาติ ครั้งที่ 4 ภายใต้แนวคิด “Strong Community for Healthy Sexuality : ชุมชนเข้มแข็งสร้างสุขภาวะทางเพศ” ดันนโยบายสร้างเสริมความเข้มแข็งเครือข่ายคนทำงาน ป้องกันการเกิดแม่วัยใส และการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรองประธานกองทุน สสส. คนที่ 1 กล่าวว่า สุขภาวะทางเพศมีหลากหลายมิติเกี่ยวพันกับประชาชนทุกเพศทุกวัย ทั้งเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคเอดส์ การยุติการตั้งครรภ์ ความรุนแรงทางเพศ รวมถึงการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นที่เป็นปัญหาสำคัญระดับโลก องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้การลดอัตราการคลอดในวัยรุ่นเป็น 1 ในตัวชี้วัดของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง คือ การติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในกลุ่มวัยรุ่นที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะโรคซิฟิลิสในกลุ่มเยาวชนอยู่ที่ 91.2 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2566 เพิ่มขึ้นจาก 27.9 ต่อประชากรแสนคน ในปี  2561 หรือเพิ่มขึ้น 3 เท่า สอดคล้องกับพฤติกรรมไม่ใช้ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ ทำให้เสี่ยงติดเชื้อ HIV  ซึ่งในปี 2565 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่กว่า 9 พันคน โดยเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นเยาวชน

“การจัดการประชุม ครั้งนี้ เน้นสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาวะทางเพศในระดับชุมชน ซึ่งความมุ่งมั่นในการทำงานของทุกภาคส่วน ส่งผลให้ใน 10 ปีที่ผ่านมา อัตราการคลอดในวัยรุ่นของไทยลดลงกว่าเท่าตัวเหลือ 21 ต่อประชากรหญิงอายุ 15-19 ปี 1,000 คน ในปี 2565 จากเดิมอยู่ที่ 53.4 ต่อประชากรหญิงอายุ 15-19 ปี 1,000 คน ในปี 2555 ซึ่งคณะกรรมการป้องกันฯ ได้ปรับค่าเป้าหมายให้ท้าทายขึ้น ตั้งเป้าลดอัตราการคลอดของวัยรุ่นไม่เกิน 15 ต่อประชากรหญิง อายุ 15-19 ปี 1,000 คน ภายในปี 2570 รวมถึงส่งเสริมการเกิดที่มีคุณภาพ ความท้าทายในยุคเด็กเกิดน้อย สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ ขณะเดียวกันยังมีเด็กส่วนหนึ่งที่เกิดจากแม่วัยรุ่น และไม่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างเหมาะสม จึงต้องร่วมกันดำเนินงานให้ทุกชีวิตเติบโตอย่างมีคุณภาพ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ” นายสมศักดิ์ กล่าว

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2548 สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่ายสุขภาวะทางเพศ ทำงานสร้างทัศนคติเชิงบวกเรื่องเพศ เพื่อลดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ และการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ซึ่งการตั้งครรภ์ในวัยเรียน ในอดีตฝ่ายหญิงอาจต้องออกจากการเรียน เมื่อยังไม่สามารถหาเลี้ยงชีพได้ ต้นทุนชีวิตไม่มากพอ มีโอกาสเสี่ยงสูงที่เด็กจะได้รับการดูแลที่ไม่เหมาะสม ทั้งด้านพัฒนาการ และด้านจิตใจ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของเด็กและครอบครัว สสส. จึงเร่งสานพลังร่วมกับทุกหน่วยงาน เพื่อเพิ่มการเข้าถึงสุขอนามัยเจริญพันธุ์ที่ปลอดภัย ทั้งการรณรงค์ให้วัยรุ่นมีทักษะการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย มีความรู้ทางเลือกคุมกำเนิด รวมถึงทางเลือกในเรื่องการตั้งครรภ์ไม่พร้อม โดยผลักดัน พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 28 มาตรา 301 และ 305 ที่เกี่ยวกับเรื่องการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ลดอันตรายและการเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อน รวมถึงสนับสนุนให้ 1663 สายด่วนให้คำปรึกษาเรื่องการตั้งครรภ์ไม่พร้อมให้อยู่ภายใต้สิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพ

นพ.พงศ์เทพ  กล่าวว่า คำว่า สุขภาวะทางเพศ คือ การจะทำอย่างไรให้เรื่องเพศ เป็นเรื่องที่มีสุขภาวะที่ดี มีความสุข หมายความว่า บางครั้งมีความไม่เข้าใจเรื่องของทางเพศอาจมีทำให้มีการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ หรือมีการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร หรืออาจมีปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ เรื่องดังกล่าวเป็นส่วนสำคัญที่เด็กวัยรุ่นหรือเยาวชนก็ยังมีความเข้าใจเรื่องเพศยังไม่ดีพอ ดังนั้นการที่ผู้ใหญ่หรือสังคม ชุมชน ครอบครัวสามารถที่จะมีความรู้ สามารถนำความรู้ที่มีไปเชื่อมโยงกับเด็ก รวมทั้งโรงเรียน สภาพแวดล้อมมีส่วนสำคัญต่อเด็กในการที่จะทำให้เด็กมีสิ่งแวดล้อมที่ดี และเข้าใจเรื่องเพศได้ และสามารถทำให้เข้าถึงระบบบริการด้วย ทั้งในเรื่องของการใช้ถุงยางอนามัยในการคุมกำเนิด หรือยาคุม เมื่อมีความต้องการทางเพศ มองว่าเรื่องเพศจะต้องมาถึงช่วงเวลาที่เหมาะสม เช่นในวัยเรียนอาจยังไม่เหมาะสม ในส่วนของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่อาจมีครอบครัวเร็ว กลุ่มเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาในกลุ่มนี้อาจจะต้องมีเรื่องของการวางแผนการคุมกำเนิดเข้ามา เพื่อให้สังคมไทยมีเด็กที่คลอดออกมามีคุณภาพในการเลี้ยงดูทั้งจากตัวครอบครัว ชุมชน

สำหรับการทำงานที่ทำกับภาคีเครือข่าย เราจะมีการทำงานในเชิงรุกที่จะเข้าไปทำงานร่วมกับชุมชน เพื่อสร้างชุมชนต้นแบบ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการขยายผลไปยังพื้นที่ต่างๆ ที่ผ่านมาภาครัฐเองได้มีการทำงานในพื้นที่ต่างๆอีกด้วย เช่นโรงพยาบาล รพ.สต. ซึ่งมีบริการให้ความรู้เชื่อมโยงกับโรงเรียนทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ ที่สอดคล้องกับการทำงานของ สสส.ที่จะเข้าไปร่วมทำงานกับภาคีเครือข่ายในการสร้างพื้นที่ต้นแบบเพื่อช่วยภาครัฐ และกระทรวงสาธารณสุข ในส่วนของ สสส.เราจะส่งเสริมงานวิชาการ เป็นการวางแผนขับเคลื่อนเชิงยุทธศาสตร์ เชื่อมกับทุกภาคส่วน ชุมชนในการขับเคลื่อนร่วมกัน ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งรูปแบบที่เราจะสื่อสารออกไป ซึ่งในปัจจุบันจะต้องเป็นการทำงานร่วมกัน ขับเคลื่อนร่วมกัน โดยเราคาดหวังว่าพ่อแม่ ผู้ปกครองทุกคนจะเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ อย่ารอจนลูกโตขึ้นแล้วสายเกินไป ซึ่งเด็กคนหนึ่งตั้งครรภ์ขึ้นมาอาจจะทำให้การเรียนหยุดลง เขาจะกลายเป็นแม่วัยใสที่ท้องไม่พร้อม และอาจจะทำให้ลูกที่เกิดมาไม่มีคุณภาพ และส่งต่อไปยังรุ่นต่อๆไป ตรงนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญเป็นการป้องกันก่อนที่จะเกิดเหตุ เช่น การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ หนองใน เอชไอวีสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นที่พ่อแม่ต้องรับรู้ รับทราบ และต้องสามารถให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาของลูกได้ทุกช่วงวัยได้  ส่วนคุณครูจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการเรียนรู้ในโรงเรียน

“ในส่วนตัวคิดว่า สังคมต้องเรียนรู้ร่วมกันในการวางแผนกับกลุ่มเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในบางพื้นที่ที่เป็นจุดเสี่ยง ชุมชนจะมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน สำหรับพื้นที่ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น ในพื้นที่ชนบท หรือกลุ่มเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ในกลุ่มนี้จะขาดโอกาสในการเข้าถึงเรื่องถุงยางอนามัย การคุมกำเนิด ถ้าเป็นกลุ่มในเมืองจะเป็นเด็กกลุ่มเสี่ยงบางกลุ่มที่อาจจะมีปัญหาในการเข้าถึงสถานะของตนได้เอง เช่น  คนเรียนไม่เก่ง ซึ่งอาจจะเป็นรายบุคคล ในกลุ่มนี้ถ้าคุณครูสามารถดึงเด็กเข้ามามีส่วนร่วมการเรียน ค้นพบตัวเอง ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด และสามารถเรียนรู้การป้องกันตนเอง ซึ่งโรงเรียนสามาถสร้างระบบที่ให้เด็กไม่มีโอกาสที่จะไปอยู่ตามลำพัง 2 ต่อ 2 ในพื้นที่อื่นๆ ทั้งหมดจะเป็นกระบวนการป้องกัน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการให้ความรู้ ความเข้าใจให้เด็กรู้ได้ว่าเรื่องทางเพศ เป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้เมื่อถึงเวลา ถ้าไม่ระวังรู้จักการป้องกันก็จะเกิดปัญหาตามมา”

นพ.พงศ์เทพ กล่าวว่า การคุยเรื่องเพศกับเด็กสามารถคุยได้ตั้งแต่ชั้น ป.4-5 ได้เลย บางทีถ้าจะรอถึง ป.6 ,ม.1 ก็อาจจะสายเกินไป ซึ่งอายุประมาณ 10 ขวบหรือก่อนที่เขาจะมีประจำเดือนอาจมีการให้ความรู้แบบเกริ่นๆกันไปก่อน เช่นการถามลูกเรื่องความรู้สึกทางเพศ ถ้ายังไม่มี ก็ให้ความรู้ไปก่อน และถ้ามีความต้องการทางเพศจะต้องบอกถึงวิธีการปลดปล่อย เช่น การปลดปล่อยด้วยการช่วยตัวเอง หรือไปเล่นกีฬา ออกกำลังกาย  ให้ความรู้ว่าอะไรที่ควรทำหรือไม่ควรทำ เรื่องเหล่านี้จะเป็นกระบวนการที่ผู้ปกครองสามารถที่จะให้ความรู้แก่เด็กได้ ผู้ปกครองจะค้นหาความรู้เหล่านี้ได้จากอินเตอร์เน็ต เพื่อการเรียนรู้และสื่อสารกับลูก

นพ.กิตติพงศ์ แซ่เจ็ง ประธานคณะอนุกรรมการด้านวิชาการการจัดประชุมสุขภาวะทางเพศระดับชาติ ครั้งที่ 4 กล่าวว่า จากสถานการณ์ที่ประเทศไทยได้เผชิญปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นรุนแรงในช่วงทศวรรษ 2550 – 2560 โดยอัตราการคลอดของวัยรุ่นไทยเคยพุ่งขึ้นสูงสุดในช่วงปี พ.ศ. 2554- 2555 โดยอยู่ที่ 53.4 ต่อประชากรหญิงอายุ 15 – 19 ปี 1,000 คน และเมื่อมีการร่วมมือกันในหลายภาคส่วนภายใต้การนำของคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ตามพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 จากนั้นสถานการณ์การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นก็ดีขึ้นเป็นลำดับ โดยข้อมูลในปี พ.ศ. 2565 อัตราการคลอดของแม่วัยรุ่นอายุ 15 – 19 ปีอยู่ที่ 21.0 ต่อประชากรหญิงอายุ 15 – 19 ปี 1,000 คน โดยปัจจุบันคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เห็นชอบการปรับ ตัวชี้วัดภายใต้แผนปฏิบัติการครึ่งแผนหลัง โดยลดค่าเป้าหมายอัตราการคลอดของวัยรุ่นอายุ 15 – 19 ปี จากไม่เกิน 25 ต่อประชากรหญิงอายุ 15 – 19ปี 1,000 คน เหลือไม่เกิน 15 ต่อประชากรหญิงอายุ 15 – 19 ปี 1,000 คน ในปี 2570 แต่ยังคงค่าเป้าหมายอัตราการคลอดของวัยรุ่นอายุ 10 – 14ปี ที่ไม่เกิน 0.5 ต่อประชากรหญิง อายุ 10 – 14 ปี 1,000 คน ในปี 2570 ซึ่งเป้าหมายใหม่นี้มีความท้าทายยิ่งและต้องอาศัยความร่วมมือในการดำเนินการในทุกภาคส่วนเพื่อมให้ความพยายามในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาแผ่วหายไป

ในช่วงการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา เครื่องมือสำคัญในการสื่อสารนโยบาย และขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นตามยุทธศาสตร์ชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ การจัดประชุมระดับชาติภายใต้การกำกับของคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภในวัยรุ่นโดยนำผู้เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนร่วมพบปะหารือ แลกเปลี่ยนบทเรียน นำเสนอตัวอย่าง ที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งสร้างบรรยากาศเพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติงานและผู้กำกับนโยบายได้เห็นความสำคัญของงานนี้ร่วมกัน โดยการประชุมระดับชาติดังกล่าวได้จัดขึ้นแล้ว 3 ครั้ง


You must be logged in to post a comment Login