- อย่าไปอินPosted 3 days ago
- ปีดับคนดังPosted 4 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 5 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 6 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 7 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 2 weeks ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
เทคนิค กฟฝ.แม่เมาะ โชว์นวัตกรรม “เครื่องตรวจจับควันบุหรี่” สูบปุ๊ป รู้ปั๊บ
เทคนิค กฟฝ.แม่เมาะ โชว์นวัตกรรม “เครื่องตรวจจับควันบุหรี่” ติดทั่ววิทยาลัย ใครสูบบุหรี่ที่ไหนเครื่องจะแจ้งผ่านแอปพลิเคชั่นไปยังมือถือครูฝ่ายปกครอง ผลลัพธ์ช่วยลดการสูบบุหรี่ของนักศึกษาลดลง สสส.คาดหวังโครงการพัฒนาเครือข่ายและหนุนเสริมศักยภาพครูและแกนนำนักศึกษาอาชีวป้องกันปัจจัยเสี่ยง (เหล้า บุหรี่) ในสถานศึกษาจะช่วยสกัดนักสูบเยาวชนได้
ในเวทีโครงการพัฒนาเครือข่ายและหนุนเสริมศักยภาพครูและแกนนำนักศึกษาอาชีวป้องกันปัจจัยเสี่ยง(เหล้า บุหรี่)ในสถานศึกษาที่ผ่านมา ที่มีสถานศึกษาเข้าร่วมโครงการมากกว่า 45 แห่ง และใน 45 วิทยาลัยนี้มีวิทยาลัยเทคนิค กฟฝ.แม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ได้นำนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์เครื่องตรวจจับควันบุหรี่ในสถานศึกษา(Siren Smoke) เข้ามาใช้ในโครงการรณรงค์ป้องกันปัจจัยเสี่ยง(เหล้า บุหรี่) ในสถานศึกษาโดยคุณครูวราภรณ์ ยศสมหมาย ครูวิทยาลัยเทคนิค กฟฝ.แม่เมาะ กล่าวว่า ที่มาของโครงการดังกล่าวเกิดจากที่วิทยาลัยตั้งอยู่ในพื้นที่ชุมชนแม่เมาะ วิทยาลัยอยู่ใกล้ตลาดและร้านค้าในชุมชน ทำให้นักศึกษาสามารถหาซื้อบุหรี่ได้ง่าย โดยที่นักศึกษากลุ่มเสี่ยงจะนำบุหรี่มาสูบในบริเวณจุดอับต่างๆ
คุณครูวราภรณ์ กล่าวว่า ที่วิทยาลัยมีเด็กที่สูบบุหรี่ ทางวิทยาลัยอยากจะลดจำนวนผู้สูบลง เลยคิดนวัตกรรม เครื่องตรวจจับควันบุหรี่ในสถานศึกษา ซึ่งเครื่องนี้เป็นความคิดของนักศึกษา เพราะเด็กกลุ่มนี้เรียนเรื่องคอมพิวเตอร์ จึงมีความรู้เรื่องการเขียนโค้ด ทางวิทยาลัยจึงส่งเสริมการทำงาน และสนับสนุน เครื่องตรวจนี้มีมูลค่าประมาณ 1,000 บาท มีจำนวน 10 เครื่อง ข้อจำกัดของเครื่องนี้คือ ต้องติดในมุมที่มีสัญญาณไวไฟ ซึ่งตอนนี้อยู่ในช่วงการทดลองและพัฒนา
“การสูบบุหรี่ของเด็กวัยรุ่นยิ่งเราห้ามก็เหมือนยิ่งยุ เลยช่วยกันหามาตรการในการช่วยลดการสูบในสถานศึกษาลง ภายหลังที่เราใช้เครื่องตรวจจับควันบุหรี่พบว่าจำนวนผู้สูบบุหรี่ลดลง และเมื่อเครื่องแจ้งเตือนไปยังมือถือของครูปกครองจะทำให้รู้ว่ามีนักศึกษาจุดไหน ซึ่งเมื่อจับได้การลงโทษของทางวิทยาลัยเราจะมีมาตรการต่างๆ เช่น ให้ไปบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ แทนการลงโทษด้วยการตี และเมื่อมีการโดนเตือนบ่อยๆเขาจะรู้ว่าที่ตรงนี้สูบไม่ได้แล้วนะ ซึ่งส่วนมาเครื่องตรวจจับนี้เราจะติดไว้ตามห้องน้ำ เพราะนักศึกษาส่วนมาจะเข้าไปแอบสูบในห้องน้ำหรือมุมลับตา”
ด้าน นาย ชิษณุพงศ์ วงศ์เรือน นักศึกษา ปวส.ชั้นปี 2 แกนนำโครงการฯ กล่าวว่า นักศึกษาจะไม่รู้ว่าเครื่องนี้ติดอยู่ตรงไหน เครื่องตัวนี้จะมีการใช้โค้ดและเซ็นเซอร์เข้ามาช่วยในการทำงาน ซึ่งตนเห็นว่า เครื่องตรวจจับควันแบบนี้ยังไม่มีที่ไหนนำมาใช้ เราจึงอยากนำนวัตกรรมเข้ามาใช้ ถ้ามีโอกาสก็อยากจะนำนวัตกรรมตัวนี้ส่งต่อให้กับสถานศึกษาที่สนใจ
สสส.ย้ำสูบบุหรี่เสี่ยงเกิดโรคปอดข้าวโพดคั่ว
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า เยาวชนไทยกำลังเผชิญปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน โดยเฉพาะบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า จากผลสำรวจสถานการณ์ยาสูบในเยาวชนไทย ปี 2565 พบอัตราการสูบบุหรี่ของเด็กและเยาวชนอายุ 13-15 ปี เพิ่มขึ้น 5.3 เท่า ซึ่งเป็นผลจากกลยุทธ์การตลาดของบริษัทบุหรี่ไฟฟ้าที่ทำให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงง่ายขึ้น มีการออกแบบบรรจุภัณฑ์รูปการ์ตูน ทันสมัย แต่งกลิ่นหลายรสชาติ ชวนให้ลองสูบ และหลอกล่อด้วยคำโกหกว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่เป็นอันตราย เช่น แค่มีกลิ่นหอม เป็นแค่ไอน้ำ ปลอดภัยกว่า หรืออ้างว่าไม่มี “นิโคติน” ทำให้ไม่เสพติด แต่ความจริงมีสารเคมีที่เป็นอันตรายทำลายปอด ทำให้เกิดโรคปอดข้าวโพดคั่ว (popcorn lung) รักษาไม่หาย นิโคตินเมื่อสูบเข้าร่างกายถูกส่งไปยังสมองภายในระยะเวลา 10 วินาที ทำให้สมองของวัยรุ่นที่ยังเติบโตไม่เต็มที่เสี่ยงต่อการเสพติด ขณะที่สถานการณ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปี 2564 พบกลุ่มนักดื่มหน้าใหม่เป็นกลุ่มเยาวชนอายุ 15-24 ปี สูงสุดถึงร้อยละ 84.1 เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน และปัญหาสังคมอื่นๆ ตามมา
ทั้งนี้ สสส. ได้ร่วมกับ สอศ. มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน ดำเนินโครงการพัฒนาเครือข่ายและหนุนเสริมศักยภาพครูและแกนนำนักศึกษาอาชีวศึกษาป้องกันปัจจัยเสี่ยงฯ มาตั้งแต่ปี 2563 โดยเริ่มพัฒนาหลักสูตรการพัฒนาเครือข่ายและหนุนเสริมศักยภาพครูและแกนนำนักศึกษาอาชีวศึกษาป้องกันปัจจัยเสี่ยง(เหล้า บุหรี่) ในสถานศึกษา และทดลองดำเนินการในวิทยาลัยอาชีวะ 25 แห่ง และขยายสู่ 45 แห่งครอบคลุม 5 ภูมิภาค ซึ่งมีก้าวหน้าการดำเนินงาน อาทิ 1.ปัญหาการลักลอบสูบบุหรี่ในสถานศึกษาลดลงอย่างมีนัยสำคัญ 2.พัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย 3.เกิดความร่วมมือกับชุมชนและหน่วยงานในการป้องกันการซื้อขายเหล้าและบุหรี่ให้นักศึกษา 4.ผลิตชุดสื่อโดยนักศึกษาและเผยแพร่ทั้งในสถานศึกษา และสื่อสังคมออนไลน์ 5.จัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อป้องกันนักศึกษาให้ห่างไกลปัจจัยเสี่ยงกว่า 80 กิจกรรม ทั้งนี้ สสส. จะเชื่อม สาน และเสริมพลังให้หน่วยงานต่างๆ ดำเนินงานควบคุมปัจจัยเสี่ยง เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนไม่ให้รับพิษภัยจากผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ โดยสนับสนุน 5 มาตรการ คือ 1.พัฒนาและจัดการองค์ความรู้ 2.สร้างความตระหนักรับรู้โทษพิษภัยบุหรี่ไฟฟ้า 3.เฝ้าระวังและการบังคับใช้กฎหมาย 4.พัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายเพื่อสนับสนุนมาตรการป้องกันบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษา 5.ยืนยันนโยบายและมาตรการป้องกันและปราบปรามการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีให้แก่เด็กและเยาวชน
สอศ.ชี้ ครอบครัว สังคม โรงเรียนชุมชนต้องใส่ใจลูกหลาน
เรือโทสมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กล่าวว่า การทำงานครั้งนี้ถือว่าเป็นมิติพลิกโฉมในการทำงานเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง สสส. สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา กล่าวได้ว่า สสส.เป็นกำลังสำคัญในการสร้างทุนมนุษย์ และยกระดับกำลังพลเพื่อภาคประกอบการในอนาคต ที่ผ่านมา สสส.ได้ลงพื้นที่จนเกิดเป็นโมเดลต่างๆส่งผลให้สถานศึกษาร่วมโครงการฯถึง 45 แห่ง
ปัจจุบันสื่อเข้ามาถาโถมสู่เด็กเป็นจำนวนมาก ทำให้การสร้างความเข้มแข็งและภูมิคุ้มกันกับเด็กเกิดขึ้นจากการที่ สสส.ผลักดันโครงการดังกล่าวขึ้นมา ส่งผลให้ปัจจัยเสี่ยงเรื่องเหล้า บุหรี่ ลดลง และในอนาคตเราจะต้องมีการทบทวนแผนการทำงานของเราด้วยรวมทั้งรับนโยบายจากส่วนกลางมาด้วย เรามีความเชื่อว่าบุหรี่เป็นต้นกำเนิดของสารเสพติดทั้งหลาย เชื่อว่าบุหรี่จะทำลายทั้งปอดและตับ และอวัยวะต่างๆ และในวันนี้มันมีพิษภัยจากบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเราเชื่อว่าถ้าเด็กและเยาวชนเสพหรือใช้ปรุงแต่งร่างกายให้รู้สึกว่าเท่ห์ อย่างบุหรี่ไฟฟ้านั้นมันเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ณ วันนี้ปัจจัยที่เราไม่สามารถควบคุมได้คือการซื้อขายออนไลน์ ถึงเวลาแล้วที่สื่อ สังคม ชุมชนผู้ปกครองทั้งหลายควรจะหาเวลาเอาใจใส่กับพฤติกรรมนักเรียน นักศึกษาที่อยู่ภายใต้การดูแลของท่าน ไม่ให้มายุ่งเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้
“สอศ.จะขยายผลการดำเนินโครงการฯ สู่วิทยาลัยอาชีวศึกษาทุกแห่ง โดยมุ่งเน้นการขับเคลื่อนให้เป็นสถานศึกษาปลอดภัย เป็นวิทยาลัยแห่งความสุข ผู้เรียนมีสุภาพกายและจิตที่ดี อาศัยหลัก 3 ป. คือ “ป้องกัน” ความเสี่ยงทั้งตัวบุคคลและสถานที่ “ปลูกฝัง” ให้เด็กรู้วิธีเอาตัวรอด สอนวิชาชีวิต และ”ปราบปราม” การกระทำผิดอย่างจริง เน้นเยียวยาผู้เสียหาย ร่วมกับตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีตรวจสอบเว็บไซต์ ภาพสื่อออนไลน์ที่ไม่เหมาะสม ที่สำคัญคือ ต้องปลอดจากบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า โดยมีมาตรการดังนี้ 1.จัดตั้งคณะทำงานวางแผนและกำหนดกิจกรรมสอดแทรกเรื่องบุหรี่ทั้งในและนอกหลักสูตร 2.จัดเวรยามครูทั้งในและนอกโรงเรียน เพื่อเฝ้าระวังในสถานที่เปลี่ยวร่วมกับตำรวจ 3.จัดกิจกรรมสร้างความตระหนักร่วมกับชุมชน” เรือโทสมพร กล่าว
You must be logged in to post a comment Login