- อย่าไปอินPosted 3 days ago
- ปีดับคนดังPosted 3 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 4 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 6 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 6 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 2 weeks ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
สคอ.-สสส. และเครือข่าย ยื่นข้อเสนอต่อสมาชิกวุฒิสภา ช่วยเร่งจัดการความเสี่ยงลดเจ็บ-ตายจากอุบัติเหตุทางถนน
สคอ.-สสส. และเครือข่าย ยื่นข้อเสนอต่อสมาชิกวุฒิสภา ช่วยเร่งจัดการความเสี่ยงลดเจ็บ-ตายจากอุบัติเหตุทางถนน ชี้ประเทศไทยควรมีนโยบายและปฏิบัติตามแผนต่อเนื่อง เชื่อมโยงข้อมูลเป็นระบบ-วางรากฐานวินัยจราจรตั้งแต่เด็ก โดยสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนนไทย พบอุบัติเหตุทางถนนกว่าร้อยละ 80 เกิดในผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ และสวมหมวกนิรภัยเพียงร้อยละ 45 ส่งผลต่อการเจ็บและตาย หากเข้มข้นจริงจังให้มีการสวมหมวกนิรภัยเพิ่มขึ้น จะช่วยลดความสูญเสียและเพิ่ม GDP ของประเทศในระยะยาว
เมื่อวันที่ 22 ส.ค.67 – ณ โรงแรม ทีเค.พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น ถ.แจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ- ในการประชุมบูรณการความร่วมมือสื่อและเครือข่ายเพื่อความปลอดภัยทางถนน ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย ได้มีเวทีเสวนา “พลังสื่อและเครือข่าย จะร่วมผลักดันนโยบายเพื่อความปลอดภัยทางถนนได้อย่างไร?” เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและหาแนวทางหนุนเสริมการทำงานสร้างความปลอดภัยทางถนนร่วมกัน ผู้ร่วมเสนา ได้แก่ นางก่องกาญจน์ ทักษ์หิรัญฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล สมาชิกวุฒิสภา นายสุทนต์ กล้าการขาย สมาชิกวุฒิสภา นางสาวประสพสุข จุรุทา นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด ผู้แทนสมาคมเครือข่ายหมออนามัยวิชาการ และนายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) พร้อมได้ยื่นข้อเสนอต่อสมาชิกวุฒิสภาเพื่อช่วยนำข้อเสนอไปขับเคลื่อนและเร่งผลักดันให้นโยบาย เรื่องความปลอดภัยทางถนนเกิดขึ้นจริงในวุฒิสภาและรัฐบาลต่อไป โดยมีนายสุทนต์ กล้าการขาย และนายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล สมาชิกวุฒิสภา เป็นผู้รับมอบข้อเสนอดังกล่าว
นางก่องกาญจน์ ทักษ์หิรัญฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส.กล่าวว่า การสร้างความปลอดภัยทางถนนต้องอาศัยความร่วมมือจากหลากหลายภาคส่วน และบูรณาการการทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐ-เอกชน รวมถึงภาคประชาชน ที่จะช่วยให้เกิดความปลอดภัยทางถนนและลดความสูญเสียลงทั้งชีวิต-ทรัพย์สิน-จิตใจ รวมไปถึงภาระค่าใช้จ่ายด้านค่ารักษาพยาบาลที่รัฐต้องจ่ายในแต่ละปีมากกว่า 4 พันล้านบาท และมี 2 ประเด็นสำคัญที่ควรขับเคลื่อนพร้อมกันทั้งประเทศ คือ 1) สื่อสารประชาสัมพันธ์ต่อเนื่องเป็นระบบและสร้างความรอบรู้ด้านความปลอดภัยทางถนน รวมถึงวินัยจราจรตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงผู้ใหญ่ โดยเน้นส่งเสริมให้ระดับพื้นที่และอำเภอค้นหาแนวทางและนวัตกรรมการสื่อสารเพื่อทำให้ผู้ขับขี่สวมหมวกนิรภัยเพิ่มขึ้น เน้นแข่งขันกันในเชิงบวกและสนับสนุนโล่ห์รางวัลและให้กำลังผู้ปฏิบัติงานในระดับอำเภอ และรายงานผลการสวมหมวกนิรภัยมายัง ศปถ. และ2) ส่งเสริมให้มีการใช้ระบบเทคโนโลยีที่ช่วยส่งเสริมการสวมหมวก อาทิ การติดตามการสวมหมวกนิรภัยจากกล้องวงจรปิดและคืนข้อมูลต่อประชาชนและหน่วยงานในพื้นที่ ซึ่งเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมและทำให้เกิดการบังคับใช้เชิงบวกเสริมไปกับการบังคับใช้กฎหมายจราจร เพื่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่รถจักยานยนต์โดยตรง
นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า ในการยื่นข้อเสนอครั้งนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนยังไม่สามารถขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร อาจเพราะติดขัดในหลายด้านที่ไม่สามารถขยับได้ และการแก้ปัญหาอุบัติเหตุก็เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานองค์กร รวมถึงรัฐบาลยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนในเรื่องการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งในวันนี้ทางเครือข่ายได้จัดทำข้อเสนอเพื่อยื่นให้กับสมาชิกวุฒิสภา นำไปขับเคลื่อนสร้างความปลอดภัยทางถนนและเสนอต่อไปยังรัฐบาลต่อไป ได้แก่ 1. ระดับนโยบาย : ควรออกกฎหมายและนโยบายเรื่องความปลอดภัยทางถนนอย่างเป็นรูปธรรม มีการติดตามประเมินผลและรายงานต่อคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) อย่างต่อเนื่อง
ระดับอำนวยการ : ควรมีการประสานการดำเนินงานกลไก 5 เสาหลัก ให้สอดคล้องกับแผนแม่บทความปลอดภัย
ทางถนน ระดับปฏิบัติการ : ควรมีการจัดเวทีสังเคราะห์ข้อมูลความเสี่ยง ส่งต่อและบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการแก้ไข 2. ควรใช้เทคโนโลยีเชื่อมโยงข้อมูลแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ 3. ส่งเสริมให้องค์ปกครองท้องถิ่นทุกระดับเป็นเจ้าภาพหลักในการปรับปรุงสภาพสิ่งแวดล้อมด้านความปลอดภัยทางถนนของแหล่งท่องเที่ยว ชุมชน ให้เกิดความปลอดภัย 4. วางรากฐานความมีระเบียบวินัยจราจรอย่างเป็นระบบที่ต่อเนื่อง และเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดหลักสูตรการเรียนการสอน และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นพัฒนาศูนย์เด็กเล็กให้เป็นต้นแบบความปลอดภัยทางถนน
นายสุทนต์ กล้าการขาย สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า ยินดีที่จะรับข้อเสนอที่ทางเครือข่ายได้ยื่นมาในวันนี้ เพราะตนเองเป็นผู้ที่เคยทำงานร่วมกับเครือข่ายความปลอดภัยทางถนนมาอย่างยาวนาน จึงรับรู้ปัญหาและผลกระทบจากการความสูญเสียอันเกิดจากอุบัติเหตุทางถนนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในวันอังคารหน้าที่จะถึงนี้ ตนจะนำเรียนต่อประธานวุฒิสภา เพื่อให้รับทราบและร่วมขับเคลื่อนผลักดันนโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยทางถนนได้อย่างแท้จริงต่อไป
You must be logged in to post a comment Login