- อย่าไปอินPosted 2 days ago
- ปีดับคนดังPosted 3 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 4 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 6 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 6 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 2 weeks ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
สสส.จับมือภาคีงัดวิชา”ชนะมาร” สร้างภูมิคุ้มกันเด็กให้พ้นปัจจัยเสี่ยง
วิชา”ชนะมาร” คือจุดเริ่มต้นของการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กและเยาวชน ให้รู้เท่าทันปัญหาเหล้า บุหรี่ การพนัน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่จะตามมาในอนาคต หลังพบว่า เด็กและเยาวชนตกเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของการตลาดแบบล่าเหยื่อทั้งเหล้าและบุหรี่ ผ่านการเรียนรู้จากละคร เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กและคนรอบข้างเริ่มนำร่องใน 200 โรงเรียนทั่วทุกภูมิภาค
ที่อาคารศูนย์การเรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน เครือข่ายละครเพื่อการเรียนรู้ 5 ภูมิภาค สานพลังเครือข่ายการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เมืองพัทยา และกรุงเทพมหานคร (กทม.) จัดเวทีเสวนา สานพลัง…ส่งต่อวิชาชนะมาร สร้างภูมิรู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยง (เหล้า บุหรี่ และพนัน) ในสถานศึกษา และงานเทศกาลละครเพื่อการเรียนรู้ “วิชาชนะมาร” โดยมีเครือข่ายเด็กนักเรียนระดับประถมศึกษาตอนต้น โรงเรียนในสังกัดกทม. เข้าร่วมกิจกรรม
ไขข้อสงสัย”วิชาชนะมาร” คืออะไร
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬะหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจัยเสี่ยง เหล้า-บุหรี่-พนัน มีความสุ่มเสี่ยงต่อเด็กเยาวชนมากขึ้น ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ และผลการวิจัยโดยเครือข่ายสุขภาพ ระหว่างปี 2565-2566 พบว่า ในปี 2565 เด็กไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด 5.3 เท่า มีการโฆษณาและส่งเสริมการขายในออนไลน์เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 48 จากเดิมในปี 2558 พบเพียงร้อยละ 27 สาเหตุสำคัญคือ บุหรี่ไฟฟ้ามีรสชาติ รูปลักษณ์ที่ดึงดูดให้อยากลองสูบ หากมีเพื่อนสูบ หรือเคยสูบบุหรี่ธรรมดามาก่อน จะเสี่ยงติดบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 4 เท่า และหากมีพ่อแม่สูบบุหรี่ไฟฟ้า ลูกจะเสี่ยงติดบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 6 เท่า
“เครื่องดื่มแอลกอฮอล์พบว่า เด็กเยาวชน อายุ 15-24 ปี ดื่มมากถึงร้อยละ 20.9 หรือ 1.9 ล้านคน เพศชายมีอัตราการดื่มที่ลดลง แต่เพศหญิงดื่มเพิ่มมากขึ้น ที่น่ากังวลคือพบการดื่มแล้วขับทำให้เกิดอุบัติเหตุรุนแรงถึงขั้นบาดเจ็บและเสียชีวิต ร้อยละ 25.09 นอกจากนี้ สถานการณ์พนัน โดยเฉพาะพนันออนไลน์ทวีความรุนแรงมากขึ้น ข้อมูลจากศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบเด็กเล่นพนันครั้งแรกอายุยิ่งน้อยลงล่าสุด พบเด็ก 6 ขวบเริ่มเล่นพนัน โดยร้อยละ 54 เริ่มเล่นพนันตั้งแต่อายุก่อน 20 ปี และร้อยละ 75 มีแนวโน้มที่จะไม่หยุดเล่นพนัน” นางสาวรุ่งอรุณ กล่าว
นางสาวรุ่งอรุณ กล่าวว่า ปัญหาเด็กและเยาวชนจากปัจจัยเสี่ยงค่อนข้างเยอะมาก จากเหล้า บุหรี่ การพนัน และจากการตลาดแบบล่าเหยื่อทำให้เด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญ วิชาชนะมารจึงเกิดจากการใช้เครื่องมือของละครเข้ามามีส่วนในการพัฒนาให้เด็กเกิดการเรียนรู้แบบActive Learning หรือเพื่อเกิดการพัฒนาสมองแบบEF (Executive Function) ที่ทำให้เด็กเข้าใจเรื่องได้อย่างง่าย แล้วสามารถนำไปปรับใช้ นำไปสู่การปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ รวมถึงการบอกต่อคนรอบข้างให้พาตัวเองออกจากปัจจัยเสี่ยงได้ เราอยากให้เด็กและเยาวชนมีภูมิคุ้มกันที่ดี สามารถชนะสิ่งที่เรามองว่าเป็นสิ่งชั่วร้ายที่แทนคำว่า”มาร”ได้ และให้เด็กได้เรียนรู้และสามารถที่จะสามารถผ่านปัญหาและอุปสรรคที่อยู่รอบตัวได้
อย่างไรก็ตาม วิชาชนะมารนั้น มีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักเรียนประถมปลายและนักเรียนชั้นมัธยมต้น เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สำคัญของการตลาดแบบล่าเหยื่อให้เขารู้ว่ามันเข้ามาใกล้ตัวมากแค่ไหน นอกเหนือจากภูมิคุ้มกันแล้ว เด็กจะได้วิธีคิด มีวิธีในการตัดสินใจว่าต่อไปว่าในอนาคตถ้าเขาเจอมารตัวอื่น นอกจากเหล้า บุหรี่ การพนัน เขาก็จะสามารถเลือกใช้ชีวิตได้อย่างเหมาะสม
ส่วนเนื้อหาวิชาชนะมารนั้นเป็นการทำงานร่วมกัน ด้วยการเอาเครือข่ายละครมาเป็นเครื่องมือหลักและกลุ่มครูและเด็กมาช่วยกันผสมผสานแล้วออกแบบมาเป็นเนื้อเรื่องของละครของในแต่ละบริบทแต่ละพื้นที่ แล้วมาใช้เรียนใช้สอนกัน จะเป็นกิจกรรมที่สอดแทรกใน่วงเวลาเรียนต่างๆ เช่น ชมรม หรือกิจกรรมเสริมของโรงเรียน ซึ่งละครจะเป็นเพียงกระบวนการหนึ่งของการสอน และให้ครู-นักเรียนมาช่วยกันออกแบบดูแลสิ่งแวดล้อมรอบโรงเรียน ที่จะทำอย่างไรให้พื้นที่ของเขาเป็นพื้นที่ปลอดภัย จุดหลักหลายโรงเรียนมองเหมือนกันคือในห้องน้ำ เป็นจุดเสี่ยงที่สำคัญ ที่จะทำให้พวกเขาปรับภูมิทัศน์เหมาะสมให้ปลอดภัยสร้างให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันว่าปัจจัยเสี่ยงมันไม่ควรที่จะอยู่ในโรงเรียน
นางสาวรุ่งอรุณ กล่าวว่า เป้าหมายตั้งไว้ที่ 200 โรงเรียนทั่วประเทศ เพราะเราต้องการพัฒนาวิธีการทำงานกับเครือข่ายครูด้วยเพื่อทำอย่างไรให้เรื่องนี้อยู่ต่อเนื่องไม่เป็นการทำกิจกรรมรายครั้ง รวมถึงการพัฒนาทักษะเด็กที่มีเรื่องของการละครควบคู่ไปกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่จะรู้จักป้องกันตนเองด้วย จึงได้เริ่มดำเนินการในช่วงแรกกับโรงเรียนจำนวน 200 แห่งทั่วประเทศ กระจายทั่วทุกภูมิภาคเพื่อให้เห็นบริบทที่แตกต่างกัน และคาดว่าเมื่อร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการผ่านสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะนำต้นแบบนี้กระจายสู่ในปีๆถัดไป พร้อมสร้างเครือข่ายครูนำไปใช้เสริมการเรียนการสอนในชั้นเรียน สร้างความตระหนักรู้และเท่าทันปัจจัยเสี่ยง โดยบูรณาการกับนโยบายและจุดเน้นของแผนยุทธศาสตร์การศึกษาขององค์กรต้นสังกัด โดยใช้แนวคิด ชี้เป้าให้ชัด ขยายเครือข่าย สร้างตัวคูณดูแลปกป้องเด็กเยาวชนจากปัญหายาและสารเสพติด
โรงเรียนต้องก้าวให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนไป
ด้านองค์กรส่วนท้องถิ่นอย่างเมืองพัทยา จ.ชลบุรีได้ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนโรงเรียนปลอดภัย ดร.ศิวัช บุญเกิด รองปลัดเมืองพัทยา จ.ชลบุรี กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่การวิตกกังวลของผู้ปกครองและเด็กทำให้เกิดสังคมที่เปราะบาง ไม่คงเส้นคงวา ทำให้ท้องถิ่นต้องมาทบทวนวิธีคิด หนึ่งในนั้นคือเรื่องของระบบการศึกษา จากเดิมเป็นความรู้แบบเดียว เปลี่ยนมาเป็นการศึกษาแบบตลอดชีวิตได้ทุกทุกทุกเวลาตามสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลง โรงเรียนจะต้องเป็นแหล่งการเรียนรู้ เพื่อให้คนที่มาเรียนรู้เติบโตมาจากข้างใน ส่วนการทำงานจะต้องเป็นการทำงานร่วมกันของทุกหน่วยงานอย่างเป็นระบบเพื่อให้การทำงานสามารถทำร่วมกันได้แบบที่เดินไปด้วยกันและมองปัญหาร่วมกัน
“การใช้ละครเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ แบบสร้างอารมณ์ร่วมกัน ที่ไม่ใช่เป็นการยัดเยียดให้เรียนรู้ร่วมกัน การแลกเปลี่ยนความคิดทำให้เด็กได้มีส่วนร่วม และเมืองพัทยาก็พร้อมที่จะเป็นต้นแบบและเสริมสร้างการเรียนรู้ใหม่ให้กับสังคม”
ดร.ศิวัช กล่าวว่า เมืองพัทยา ได้ขับเคลื่อนมาตรการโรงเรียนปลอดภัย (Safety School) มาอย่าต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยจากปัจจัยเสี่ยงทุกรูปแบบ โดยร่วมกับ สสส. ขยายผลการทำงานขับเคลื่อนการปกป้องและดูแลเด็กเยาวชนให้ปลอดภัยจากปัจจัยเสี่ยง เหล้า บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า พนัน และพนันออนไลน์ จำเป็นต้องมีแนวทางความร่วมมือเชิงบูรณาการ โดยสร้างจุดเน้นและแนวทางการสร้างเสริมสุขภาพให้เด็กและเยาวชนใน 3 ด้าน คือ 1.เสริมสร้างความรู้ 2.ทักษะสมอง 3.ทักษะชีวิต เพื่อส่งเสริมให้เด็ก เยาวชนมีความรู้ที่ถูกต้องและมีทักษะชีวิตในการเอาตัวรอดได้ภายใต้สถานการณ์สังคมที่มีสิ่งยั่วยุ และมอมเมาเยาวชน นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและจริงจังให้สอดคล้องกับสถานการณ์และสภาพของสังคมในปัจจุบัน
ด้าน นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การบูรณาการกับกระบวนการเรียนรู้วิชาชนะมาร เพื่อให้เกิดความยั่งยืนควรมีการเชื่อมประสานกับศูนย์บริหารความสุขและความปลอดภัย และสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. ที่ดูแลเรื่องของปัจจัยเสี่ยงบุหรี่ไฟฟ้า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และพนันอยู่แล้ว เพื่อต่อยอดกับกลุ่มสาระการเรียนรู้ วิชาสุขศึกษาและพลศึกษา “กลุ่มที่ 5 ความปลอดภัย” ที่เน้นเรื่องการเสริมสร้างสุขภาพ สร้างทักษะชีวิตในการป้องกันและหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ อุบัติเหตุ การใช้ยา สารเสพติด และความรุนแรง โดย สพฐ. มียุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาทักษะทางสมอง Executive Function (EF) ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันปัญหายาเสพติด
“สถานการณ์ของการพนัน เหล้า บุหรี่เปลี่ยนไป โลกเปลี่ยนไปเราต้องปรับแนวทางการทำงาน และพยายามดึงเด็กออกจากกลุ่มเสี่ยงให้มากที่สุดพร้อมกันทั่วประเทศ ต้องขอขอบคุณภาคทั้งหมด เพราะเรื่องการศึกษาไม่ใช่เรื่องของกระทรวงศึกษาธิการอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของทุกคนโดยมีกระทรวงศึกษาธิการเป็นเจ้าภาพ ผู้ใหญ่ในท้องถิ่นต้องลุกขึ้นมา ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ขึ้นอยู่กับการทำงานของท่านในพื้นที่ของท่านที่เป็นกำลังหลักสำคัญของชาติ” นายธีร์ กล่าวสรุป
You must be logged in to post a comment Login