วันจันทร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2567

แพทย์เตือน บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งในคนอายุน้อย

On September 2, 2024

แพทย์เตือน บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งในคนอายุน้อย สหรัฐฯ เผยจำนวนผู้ป่วยฉุกเฉินเพราะสูบบุหรี่ไฟฟ้าพุ่ง 109% สวนทางคนป่วยจากบุหรี่ธรรมดาลดลง 25% เหตุบุหรี่ไฟฟ้าทำให้ป่วยเฉียบพลันไม่เหมือนบุหรี่ธรรมที่ใช้เวลาสะสมกว่าจะป่วยเป็นโรคเรื้อรัง

วันที่ 1 ก.ย. 2567 รศ.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยงานวิจัยใหม่จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย ที่ศึกษาการเปลี่ยนของดีเอ็นเอระดับเซลล์ ด้วยกลไกดีเอ็นเอเมทิเลชัน (DNA methylation) เปรียบเทียบระหว่างวัยรุ่นที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า กับสูบบุหรี่ธรรมดา และคนที่ไม่สูบบุหรี่ จำนวน 30 คน อายุระหว่าง 21-27 ปี ผลการศึกษาพบการเปลี่ยนแปลงทางเคมีของดีเอ็นเอในเซลล์เยื่อบุช่องปากของวัยรุ่นที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า จำนวน 831 แห่ง ส่วนคนที่สูบบุหรี่ธรรมดา จำนวน 2,863 แห่ง แม้จำนวนจะต่างกันแต่เมื่อนำมาการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ของที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ากับคนที่สูบบุหรี่ธรรมดามาเปรียบเทียบกันแล้ว พบว่ามีเซลล์ที่เปลี่ยนแปลงในลักษณะเดียวกันถึง 46% ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เชื่อมโยงกับการเกิดโรคมะเร็ง

“การศึกษานี้ทำให้ทราบว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็ง แม้กระทั่งกับคนที่อายุน้อย ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดในลักษณะเดียวกับการสูบบุหรี่ โดยพบความผิดปกติที่เซลล์ต่อต้านเนื้องอก HIC1 เหมือนกัน ซึ่งเซลล์ HIC1 นี้มีฐานการวิจัยที่กว้างขวางว่าเชื่อมโยงกับการเกิดโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ รวมถึงมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ ขณะที่ 54% ของเซลล์ที่ผิดปกติของผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้า แตกต่างจากผู้ที่สูบบุหรี่ธรรมดา การค้นพบดังกล่าวสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ว่า บุหรี่ไฟฟ้าผลิตสารเคมีที่เป็นอันตรายได้หลายประเภท ซึ่งบางชนิดไม่พบในบุหรี่ธรรมดา ดังนั้นคำกล่าวของกลุ่มที่พยายามวิ่งเต้นให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าเพราะมีสารพิษน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา จึงไม่เป็นความจริง เพราะบุหรี่ทั้งสองประเภทมีสารพิษที่มีอันตรายแตกต่างกัน” รศ.พญ.เริงฤดี กล่าว

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า จากข้อมูลในต่างประเทศพบว่า บุหรี่ไฟฟ้ายังเพิ่มจำนวนผู้ป่วยโรคเฉียบพลันด้วย ซึ่งจากรายงานของสมาคมโรงพยาบาลแห่งรัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา พบตัวเลขผู้ป่วยที่มารักษาที่แผนกฉุกเฉินเพราะสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 109% ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา หรือจาก 23,630 รายในปี 2563 เพิ่มเป็น 49,356 รายในปี 2566 ในขณะที่ตัวเลขผู้ป่วยจากการสูบบุหรี่ธรรมดาลดลง 25% ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่น่ากังวล เพราะแสดงว่าการเจ็บป่วยจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้เกิดในลักษณะโรคเรื้อรัง เช่น สูบในวัยรุ่นแล้วจะไปป่วยตอนอายุมากเท่านั้น แต่การเจ็บป่วยเกิดขึ้นในลักษณะเฉียบพลันได้ด้วย

“จำนวนผู้ป่วยที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อค่ารักษาพยาบาลที่รัฐบาลต้องแบกรับเพิ่มมากขึ้น ซึ่งนักวิจัยสหรัฐฯ เคยวิเคราะห์ค่ารักษาพยาบาลจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าไว้ว่าสูงถึงปีละกว่า 5 แสนล้านบาท ซึ่งสูงกว่ารายได้จากภาษีบุหรี่ไฟฟ้าที่เก็บได้เพียง 300 ล้านบาท และเฉลี่ยคนสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีค่าผู้ใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น 70,000 บาทต่อคน สำหรับประเทศไทยที่ผ่านมาเราก็มีบทเรียนจากกรณีบุหรี่ธรรมดาแล้วว่ารายได้จากภาษีที่เก็บจากบุหรี่ ไม่คุ้มค่ากับค่ารักษาพยาบาลที่ต้องตามจ่ายให้กับโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ทั้งต่อผู้ที่สูบเองและคนใกล้ชิดที่ได้รับควันบุหรี่มือสอง” ศ.นพ.ประกิต กล่าว

อ้างอิง:

First genome-wide comparison of vapers and smokers finds similar DNA changes linked to disease risk: https://keck.usc.edu/news/first-genome-wide-comparison-of-vapers-and-smokers-finds-similar-dna-changes-linked-to-disease-risk/

 Increasing number of people visiting Va. emergency departments say they vape, new analysis says: https://wtop.com/virginia/2024/08/increasing-number-of-people-visiting-virginia-emergency-departments-say-they-vape-new-analysis-says/

Healthcare utilisation and expenditures attributable to current e-cigarette use among US adults: https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/35606163/


You must be logged in to post a comment Login