วันพฤหัสที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2567

“สำนักงานชลประทานที่ 9” วางแผนกำจัดผักตบชวาตลอดลำน้ำบางปะกง ยกบานประตูระบายน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก

On September 5, 2024

“สำนักงานชลประทานที่ 9” โดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางปะกง บูรณาการ 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา, นครนายก และปราจีนบุรี วางแผนกำจัดผักตบชวาตลอดลำน้ำบางปะกงทำให้ผักตบชวามีจำนวนสะสมลดลง พร้อมปรับแผนยกบานประตูระบายน้ำหนึ่งในการระบายน้ำช่วงฤดูน้ำหลาก

​โดย นายมงกุฎ เศรษฐเอกพันธ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางปะกง กล่าวว่า “สำนักงานชลประทานที่ 9 โดยโครงการส่งน้ำ และบำรุงรักษาบางปะกง ปรับแผนการระบายน้ำช่วงฤดูน้ำหลาก ด้วยการยกบานประตูระบายน้ำเขื่อนบางปะกง ระบายน้ำพื้นที่ตอนล่างให้เร็วที่สุด เพราะหน้าที่หลักของเขื่อนบางปะกง คือ การรักษาและเก็บกักน้ำจืด ด้านเหนือน้ำเพื่อทำการเกษตร การอุปโภค บริโภค โดยในช่วงฤดูน้ำหลากตั้งแต่เดือน พ.ค. เป็นต้นมา จะมีปริมาณน้ำพื้นที่ตอนบนค่อนข้างมาก ปริมาณน้ำสูง จึงต้องเร่งระบายน้ำออกลงสู่ทะเลให้เร็วที่สุด ซึ่งผลของการปรับแผนการบริหารจัดการน้ำปีนี้ ด้วยการยกบานให้สูงขึ้น ทำให้น้ำระบายได้เร็วขึ้น การสะสมของผักตบชวาลดลง เพราะเราเตรียมการกำจัดผักตบชวาก่อนที่จะไหลลงมาที่เขื่อน เขื่อนจะได้ไม่ต้องลดบานและใช้ทุ่นเพื่อไม่ให้เกิดผักตบชวาสะสม ทำให้ประชาชนในพื้นที่สามารถใช้ชีวิตในลำน้ำบางปะกงได้ ทั้งการหาปลา การเดินทางโดยทางเรือ การสัญจรต่างๆ สะดวกยิ่งขึ้น นอกจากนี้เรายังได้เพิ่มจุดกำจัดผักตบชวาที่อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี เพื่อลดการสะสมของผักตบชวา” 

นางกล้วยไม้ เหลือเริ่มวงศ์ ตัวแทนชาวบ้าน ต.บางเล่า อ.คลองเขื่อน จ.ฉะเชิงเทรา เล่าว่า “ปีนี้กรมชลประทาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชาวบ้านร่วมกันทำงาน รับฟังความคิดเห็นและหาแนวทางแก้ไขการกำจัดผักตบชวาร่วมกัน โดยเฉพาะการยกบานประตูระบายน้ำเขื่อนบางปะกงให้สูงขึ้น ทำให้ชีวิตชาวบ้านเปลี่ยนไป ไม่มีความเดือดร้อนจากผักตบชวา ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาปัญหาการสะสมของผักตบชวาบริเวณหน้าเขื่อนบางปะกงจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของชาวบ้านทั้งการประกอบอาชีพและการสัญจรเป็นอย่างมาก แต่ปีนี้ชาวบ้านไม่ได้รับผลกระทบในเรื่องของผักตบชวา”

​ทั้งนี้เมื่อสิ้นสุดฤดูน้ำหลาก ทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางปะกงจะทำการลดการระบาย ลดบานประตู เพื่อกักเก็บน้ำจืดให้อยู่พื้นที่ตอนบนให้ได้มากที่สุด และช่วยชะลอการรุกล้ำของน้ำเค็มในช่วงฤดูแล้งให้รุกล้ำสู่พื้นที่ตอนบนน้อยที่สุด เป็นการหน่วงความเร็วของน้ำเค็ม ไม่ให้เข้าสู่พื้นที่ตอนบนได้ช้าที่สุด


You must be logged in to post a comment Login