วันเสาร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2567

“ดร.ทัศนีย์ เมืองแก้ว” ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรฯ พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ ในพื้นที่ จ. พิษณุโลก

On September 13, 2024

ดร.ทัศนีย์ เมืองแก้ว ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เขตตรวจราชการที่ 17 พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก โดยมี นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก พร้อมด้วยนายวรพจน์ เพชรนรชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 3 คณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ สชป.3 (SWOC3) หัวหน้าส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่รายงานสถานการณ์น้ำ ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก และผลการดำเนินการรับน้ำเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำ โครงการบางระกำโมเดล บริเวณคลองแยงมุม บ้านวังขี้เหล็ก ตำบลท่าช้าง, ประตูระบายน้ำบ้านใหม่โพธิ์ทอง, ท่อระบายน้ำคลองตะเข้ ตำบลพรหมพิราม อำเภอพรหมพิราม และประตูระบายน้ำบางแก้ว ตำบลบางระกำ อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก นอกจากนี้ยังได้ร่วมกันปล่อยพันธุ์ปลาตะเพียนขาว จำนวน 1,200,000 ตัว ลงสู่พื้นที่โครงการบางระกำโมเดล เพื่อเพิ่มประชากรปลาในแหล่งน้ำ ทำให้เกษตรกรได้มีอาชีพเสริมจากการจับปลาหรือผลิตภัณฑ์แปรรูปจากปลาออกจำหน่าย รวมทั้ง นำไปบริโภคในครัวเรือน ในห้วงเวลาที่ทุ่งบางระกำเป็นพื้นที่หน่วงน้ำ

​สำหรับสถานการณ์น้ำ และการบริหารจัดการน้ำ จ.พิษณุโลก ณ ปัจจุบัน (10 ก.ย. 67) มีภาพรวมดังนี้

​แม่น้ำน่าน ปริมาณน้ำและระดับน้ำลดลงจากเมื่อวาน ระดับสถานการณ์ปกติ

​เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีปริมาณน้ำไหลเข้าและเก็บกักปริมาณมาก ต้องระบายน้ำเพิ่มให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม

​ในส่วนแม่น้ำสาขา ได้แก่ แม่น้ำภาค, แม่น้ำแควน้อย, แม่น้ำวังทอง และคลองชมพู ระดับน้ำลดลง ทุกลุ่มน้ำ สถานการณ์ปกติ

​แม่น้ำยมสายหลัก ที่ไหลผ่าน อ.บางระกำ มีแนวโน้มระดับน้ำเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และระดับสูงกว่าวิกฤตในเขตชุมชน

​ในส่วนแม่น้ำยมสายเก่าที่ไหลผ่าน อ.พรหมพิราม อ.เมือง ลงมา อ.บางระกำ ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง

​สำหรับพื้นทุ่งหน่วงน้ำตามโครงการบางระกำ เพื่อรองรับน้ำหลาก หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว มีปริมาณเพิ่ม และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

​สถานการณ์น้ำโดยละเอียด ดังนี้

​สถานการณ์แม่น้ำน่าน

​เขี่อนสิริกิต์ ปริมาณน้ำ 7,643 ล้าน ลบ.ม(80%) แผนระบายน้ำ วันนี้ 10.00 ล้าน ลบ.ม

​เขี่อนแควน้อยบำรุงแดน ปริมาณน้ำ 472 ล้าน ลบ.ม(50%) แผนระบายน้ำ วันนี้ 7.78 ล้าน ลบ.ม

​แม่น้ำน่าน สถานการณ์น้ำ ระดับน้ำเพิ่มขึ้น  (สถานีวัดน้ำ N.5A ปริมาณน้ำไหลผ่าน 354.90 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำสูง 4.10 เมตร ยังคงต่ำกว่าตลิ่ง -6.27 เมตร)

​-สถานการณ์ปกติ

​แม่น้ำสาขา ได้แก่

​แม่น้ำภาค อ.ชาติตระการ

​ระดับน้ำลดลง (สถานีวัดน้ำ N.55 ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง -4.29 เมตร)

​-สถานการณ์ปกติ

แม่น้ำแควน้อย อ.นครไทย ระดับน้ำลดลง (ที่สถานีวัดน้ำ N.36 ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง -4.06 เมตร)

-สถานการณ์ปกติ

แม่น้ำภาค และ แม่น้ำแควน้อย ทั้ง 2 แม่น้ำ ไหลลงมารวมเก็บกักที่เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน

​แม่น้ำวังทอง อ.วังทอง ระดับน้ำลดลง (สถานีวัดน้ำ N.24A ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง -6.87 เมตร)

​-สถานการณ์ปกติ

​แม่น้ำชมพู อ.เนินมะปราง ระดับน้ำเพิ่มขึ้น (สถานีวัดน้ำ N.43A ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง -5.98 เมตร)

​-สถานการณ์ปกติ

​สถานการณ์แม่น้ำยม

​แม่น้ำยมสายหลัก ที่ไหลผ่าน อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ระดับน้ำเพิ่มขึ้น (ที่สถานีวัดน้ำ Y.64 ระดับน้ำสูง 7.88 ม. ปริมาณน้ำไหลผ่าน 562.60 ลบ.ม/วินาที ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง + 1.48 เมตร/ สูงกว่าระดับวิกฤติ เขตชุมชน +0.58 เมตร) ระดับน้ำเพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 8 ซม. และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

​-สถานการณ์ น้ำเอ่อล้นตลิ่ง เฝ้าระวังในพื้นที่ชุมชน ในส่วนพื้นที่เกษตรลุ่มต่ำขอให้เร่งเก็บเกี่ยวผลผลิต

​แม่น้ำยมสายเก่า ที่ไหลผ่าน อ.พรหมพิราม และ อ.บางระกำ ปริมาณน้ำไหลผ่าน 50-100 ลบ.ม/วินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งประมาณ -0.40 เมตร/ มีแนวโน้มลดลง

​-สถานการณ์ ยังคงเฝ้าระวังน้ำเอ่อล้นตลิ่ง (ตรวจสอบและเสริมคันป้องกัน)

ทั้งนี้ “โครงการบางระกำโมเดล” พื้นที่รองรับน้ำหลากหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตในเขตชลประทาน (ฝั่งซ้ายแม่น้ำยม) ปัจจุบันเก็บเกี่ยวแล้ว 100 % และรับน้ำเข้าทุ่งหน่วงน้ำ ปริมาณน้ำที่รับเข้าพื้นที่ 154,351ไร่ (58%) ปริมาณน้ำ 277 ล้าน ลบ.ม (69%)

​- สถานการณ์ ปริมาณน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ต้องเฝ้าระวัง และให้ความช่วยเหลือกับชุมชนในพื้นที่หน่วงน้ำลุ่มต่ำที่ได้รับผลกระทบ การอยู่อาศัย และ การสัญจร

นอกจากนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ปริมาณฝนในช่วง ตั้งแต่ วันที่ 9-15 ก.ย. 2567 จะมีฝนตกชุก และฝนตกสะสมปริมาณมากในพื้นที่ภาคเหนือ อาจเกิดน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ และน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลาก โดยในจังหวัดพิษณุโลก มีพื้นที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ อ.นครไทย (แม่น้ำแควน้อย) อ.วังทอง (แม่น้ำวังทอง) อ.เนินมะปราง และ อ.บางกระทุ่ม (แม่น้ำชมพู) อ.บางระกำ, อ.พรหมพิราม (พื้นที่ลุ่มต่ำ แม่น้ำยมสายหลักและ แม่น้ำยมสายเก่า)

​จึงขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เฝ้าระวังดังกล่าวโดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง หากมีปริมาณฝนตกชุกในพื้นที่ เกินกว่า 50 มม. ติดต่อกันเกิน 2 วัน และพื้นที่อยู่อาศัยอยู่ไกล้กับตลิ่งแม่น้ำ ให้เฝ้าระวัง และตรวจสอบจุดที่ตลิ่งต่ำ ควรเสริมคันคลองให้มีความแข็งแรง และเตรียมความพร้อมในการขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง และระมัดระวังไฟฟ้าที่อยู่ในที่ต่ำน้ำท่วมถึง​ขอความร่วมมือเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก และเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิต หากอยู่ในพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะในพื้นที่โครงการบางระกำโมเดล ควรชะลอหรืองดทำการเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง มีความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมหลากทำให้ผลผลิตเสียหาย

​ทั้งนี้ในส่วนการเตรียมการบริหารจัดการน้ำ จ.พิษณุโลก ในช่วงสถานการณ์เฝ้าระวังและระดับวิกฤต ได้ใช้ 5 มาตราการเร่งด่วน ได้แก่ เร่งระบายน้ำ, เร่งป้องกัน และ ช่วยเหลือ, เร่งเก็บเกี่ยว, เร่งรับน้ำเข้าทุ่งหน่วงน้ำ (โครงการบางระกำโมเดล) และเร่งประชาสัมพันธ์แจ้งเตือน

โดยรายละเอียดการดำเนินในการเตรียมการก่อนน้ำมาตั้งแต่เดือน กรกฎาคม 2567 ได้ดำเนินการ 10 แนวทางการบริหารจัดการน้ำ ตามบริบทของ จ.พิษณุโลก ที่สอดคล้องกับ 10 มาตราการ เพื่อรับมือฤดูฝนของสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ซึ่งมีการบูรณาการทุกภาคส่วนของจังหวัดในการรับมืออุทกภัย จนกว่าจะสิ้นสุดฤดูฝน


You must be logged in to post a comment Login