วันจันทร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2567

สสส.เตือนภัย “4 หลุมดำ” คุกคามสุขภาวะคนไทย

On September 16, 2024

เตือนภัย “4 หลุมดำ” คุกคามสุขภาวะคนไทย วงเสวนารุมสับ “บุหรี่ไฟฟ้า-เหล้ากระป๋อง-พนันสล็อต-กัญชาพันลำ” ตัวแสบมอมเมาเด็กไทยเป็นเหยื่อหน้าใหม่ เนื่องในวันเยาวชนแห่งชาตินี้ สสส.เร่งสานพลังภาคีเดินหน้าปกป้องเยาวชน ห่วงนโยบายเปิดเสรีสิ่งมอมเมาอบายมุขตกเด็กไทยเข้าหลุมพราง

เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2567 ที่โรงแรมเบสท์เวสเทิร์น กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย จัดเวทีเสวนา “4 หลุมดำ ที่เด็กเยาวชนไทยอาจจะตกหลุม (พราง)” เมื่อสังคมมีหลุมดำ พรางไว้ให้เด็กตก เราจะสร้างทางรอด เพื่อให้เป็นทางออก ที่ปลอดภัยได้อย่างไร

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพในเด็กและเยาวชนนับเป็นสิ่งกัดกร่อนต้นทุนทางชีวิตที่ไม่สามารถประเมินความสูญเสียได้ ทั้งบุหรี่ แอลกอฮอล์ สิ่งเสพติด และพนัน ถือเป็นหลุมดำที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับ 1 ที่ส่งผลต่อการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งมากที่สุดถึง 26.1 % ทำให้สูญเสียปีสุขภาวะ (DALYs) 14.6 % คิดเป็น 2,817,347 ปีของการสูญเสียทั้งหมด รองลงมาคือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้เกิดภาวะตับอักเสบ ตับแข็ง ตับวาย และมะเร็งตับ แม้การดื่มสุราในเยาวชนมีแนวโน้มลงลงจาก 29.5 % ในปี 2558 ลดเหลือ 20.9 % หรือ 1.9 ล้านคน ในปี 2564 แต่ยังพบสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุบนถนนมาจากการดื่มแล้วขับในช่วงเทศกาลสูงถึง 33.06 % ทำให้ผู้ขับขี่และผู้ที่อยู่ในยานพาหนะได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต 25.09 % ขณะที่การพนัน ในปี 2566 มีคนรุ่นใหม่อายุ 15-25 ปี เล่นพนันออนไลน์ 2.9 ล้านคนในจำนวนนี้ 1.4 ล้านคน เสี่ยงเป็นนักพนันหน้าใหม่สูงถึง 700,000 คน ที่ติดการพนันมีความเสี่ยงเกิดภาวะซึมเศร้า และใช้สารเสพติดสูงกว่าคนทั่วไป 2-5 เท่า การเล่นพนันมีผลต่อสมองของเด็ก ยิ่งเล่นยิ่งติดจนขาดความยับยั้งชั่งใจ ส่งผลให้กลายเป็นคนลักขโมยเพราะต้องการเงินไปเล่นพนัน อีกทั้งกลยุทธ์ส่งเสริมการขายผ่านสื่อออนไลน์ที่เข้าถึงง่าย สะดวก รวดเร็วทำให้เด็กและเยาวชนถูกหลอกหลวงได้ง่ายขึ้น

“เนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติ 20 ก.ย. นี้ สสส.มีความมุ่งมั่นในจุดยืนสร้างเสริมสุขภาวะในเด็กและเยาวชนให้ห่างไกลอบายมุขทั้ง 4 ด้าน โดยเร่งสานพลังภาคีเครือข่ายทำงานเชิงรุก ทั้งขับเคลื่อนนโยบาย พัฒนาวิชาการ รณรงค์ประชาสัมพันธ์ และมุ่งทำงานเชิงพื้นที่ ตามยุทธศาสตร์ สานสามพลัง 1.สร้างเป้าหมายร่วมกัน เสริมสร้างภูมิคุ้มกันและความรอบรู้ทางสุขภาพของบุหรี่ไฟฟ้า แอลกอฮอล์ สิ่งเสพติด พนันออนไลน์ 2.พัฒนานวัตกรรมและชุดการเรียนรู้ให้เท่าทัน ทั้งในโรงเรียน ชุมชน ท้องถิ่น 3.วางแผนกลยุทธ์การสื่อสารเชิงรุกทั้งในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง 4.เชื่อมร้อยการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมในการป้องกันนักสูบ/นักดื่ม/นักพนันหน้าใหม่ ทั้งหมดนี้เพื่อสร้างเกราะป้องกันเยาวชนให้เติบโตอย่างปลอดภัย ป้องกันเด็กและเยาวชนไม่ตกเป็นเหยื่อ 4 หลุมดำอีกต่อไป ช่วยสร้างให้เกิดสังคมปลอดภัยจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ นำไปสู่การมีสุขภาวะที่ดีของเด็กและเยาวชน” ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว

ผศ.ดร.ศรีรัช ลาภใหญ่ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เด็กไทยต้องเผชิญกับภัยและความเสี่ยงใหม่ที่น่ากลัว 4 หลุมพราง คือ 1.บุหรี่ไฟฟ้า ในรูปแบบบุหรี่ไฟฟ้าตุ๊กตา หรือ toy pod เป็นบุหรี่ไฟฟ้าประเภทใช้แล้วทิ้งที่มีรูปลักษณ์เหมือนอาร์ตทอย ตุ๊กตา กล่องน้ำน้ำผลไม้ และเครื่องเขียน จนแยกไม่ออกจากของเล่นจริง มีสีสันสดใส กลิ่นหอมหวาน ทำให้เด็กอาจเข้าใจผิดได้ว่าไม่อันตรายและเลือกมาสูบ 2.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบเหล้ากระป๋องหรือค็อกเทลกระป๋องราคาถูกแค่ 20 บาท วางขายในร้านแฟรนไชส์จากต่างประเทศ ซึ่งมีแอลกอฮอล์สูงถึง 4-5 % 3.กัญชา ผ่านช่องทางออนไลน์มีการขายและส่งเสริมการขาย ‘กัญชาพันลำ’ หรือกัญชามวนสำเร็จรูป พร้อมขายและพร้อมส่งเป็นจำนวนมากหลายร้าน ส่งทั้งทาง Grab และขนส่งเอกชน 4.การพนัน เว็บพนันหันมามุ่งเป้าเด็ก โฆษณาเงินเดิมพันหรือขั้นต่ำในการเริ่มเล่นที่ 5-10 บาท ใช้กลยุทธ์การตลาดการ์ตูนสร้างรูปแบบพนันสล็อตให้เหมือนการเล่นเกมการ์ตูนเพื่อดึงดูดใจเด็กดังนั้นพ่อแม่ ผู้ปกครอง และโรงเรียน ต้องระมัดระวังสอดส่องดูแลเด็กไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ 4 หลุมพราง ที่ทั้งทำร้ายทำลายชีวิตของเด็กไทย

ผศ.ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.)กล่าวว่า ขณะนี้เด็กและเยาวชนไทยได้รับการมอมเมาเพื่อให้หลงไปเสพติดบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง ผลสำรวจ Global Youth Tobacco Survey (GYTS) ปี 2565 โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา พบเยาวชนไทยอายุ 13-15 ปี สูบบุหรี่ไฟฟ้า 17.6 % โดยเฉพาะเยาวชนหญิงสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงถึง 15 % มากกว่าการสูบบุหรี่มวนหลายเท่าตัว มีการลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้าตามตลาดนัด และสื่อออนไลน์ที่เป็นช่องทางที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดในเยาวชน จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลให้ความสำคัญปราบปรามการลักลอบนำเข้าและการขายบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายให้หมดไปจากสังคมไทย เพื่อปกป้องเด็กไทยรุ่นใหม่ให้ปลอดภัยจากสารพิษในบุหรี่ไฟฟ้า

นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า จากผลสำรวจการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปี 2564 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ วิเคราะห์โดยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา พบเยาวชนอายุ 15-19 ปี เป็นนักดื่มหน้าใหม่ถึง 9.6 % ในจำนวนนี้ 24.3 % เป็นนักดื่มประจำ ที่อาจมีแนวโน้มดื่มจนติดตั้งแต่อายุยังน้อย แม้มีกฎหมายห้ามขายแอลกอฮอล์ให้เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี แต่ไม่สามารถปกป้องการเข้าถึงของเด็กได้โดยเด็กมีโอกาสดื่มในงานวันเกิด งานเลี้ยง งานประเพณีในชุมชน และมีกลุ่มเพื่อน เพื่อนรุ่นพี่ เป็นปัจจัยสำคัญ รวมทั้งหาซื้อได้ง่าย มีราคาถูก สะท้อนว่า ปัจจัยแวดล้อมมีผลต่อการดื่มของเด็กมากกว่าเรื่องความรู้ วิจารณญาณส่วนบุคคล โดยเฉพาะอิทธิพลจากการตลาดของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่สร้างค่านิยมการดื่มเป็นเรื่องปกติผ่านสื่อออนไลน์เป็นปัจจัยที่เอื้อให้เด็กตกอยู่ในหลุมดำของภัยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มมากขึ้น

นายวัชรพงศ์ พุ่มชื่น ผู้จัดการมูลนิธิศูนย์วิชาการสารเสพติด กล่าวว่า ข้อมูลสถานการณ์ผู้ใช้เสพยาเสพติดในไทย โดยสำนักงานเลขานุการ คณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุขปี 2567 พบผู้ใช้สารเสพติดถึง 1.9 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมถึงกลุ่มเด็กและเยาวชน ขณะนี้มีเยาวชนที่กระทำความผิดในคดียาเสพติดในระบบยุติธรรม 12,602 คน จุดเริ่มต้นของการเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เริ่มจากสูบบุหรี่ วงแอลกอฮอล์ และทดลองใช้พืชเสพติดทั้งใบกระท่อมและกัญชา โดยกัญชากลายเป็นสารเสพติดที่คนไทยนิยมใช้มากที่สุด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด คนไทย 1 ใน 5 คน เคยใช้กัญชา ส่วนใหญ่เพื่อนันทนาการ ส่งผลให้เยาวชนอาจยกระดับพฤติกรรมไปสู่การใช้ยาเสพติดที่ผิดกฎหมาย และมีเสี่ยงที่เข้าสู่วงจรผลประโยชน์ของธุรกิจสีเทาและยาเสพติด

นายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน กล่าวว่า ขณะนี้ประมาณการว่ามีคนไทยติดการพนันเกิน 1 ล้านคน ในจำนวนนี้ราว 10 % เป็นเด็กและเยาวชน เมื่อติดพนันแล้วเลิกยาก ธุรกิจการพนันพยายามทะลุทะลวงเข้าหาเด็กอายุน้อยลง พบอายุน้อยสุดที่เริ่มเล่นพนันอยู่ที่ 6 ขวบ ซึ่งยังเป็นเด็กวัยอนุบาล สาเหตุสำคัญมาจากการขยายตัวของเว็บพนันออนไลน์ ด้วยกลยุทธ์ ‘ล่อ ลวง พราง’ ล่อด้วยเงินรางวัลเป็นช่องทางหารายได้ วางกับดักไปทุกแพลตฟอร์มสื่อออนไลน์ ลวงว่าได้ง่ายจ่ายจริง ใช้สารพัดวิธี ทั้งการใช้คำพูด ใช้ตัวบุคคลที่คุ้นเคย เช่น เพื่อนวัยเดียวกัน คนใกล้ตัวเด็ก รวมทั้งอินฟลูเอ็นเซอร์ในโซเชียลมีเดีย ร่วมกันให้ข่าวลวงแก่เด็ก และพยายามพรางตัวว่าไม่ใช่การพนัน แต่อ้างเป็นรูปแบบเกมอินเทอร์เน็ต การชวนลงทุน รวมทั้งพรางตัวไม่ให้ AI ตรวจจับได้ ทั้งนี้ หากรัฐบาลมีนโยบายเพิ่มการพนันในสังคมเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ จะกลายเป็นการเปิดหลุมดำบนดินที่เพิ่มพื้นที่เสี่ยงแก่เด็กและเยาวชน


You must be logged in to post a comment Login