วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ชาวเกษตรกรดงน้อย ชนะปัญหาน้ำแล้ง “จัดการน้ำจัดการคน” ด้วยความรู้ทางชลประทาน

On September 20, 2024

​จากความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำที่ทาง “กรมชลประทาน” มอบให้ประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทาน ตำบลดงน้อย อำเภอราชสาส์น จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นพื้นที่สูง    ลาดชันไม่มีแหล่งเก็บน้ำ แต่ปัจจุบันสามารถเอาชนะปัญหาไร้น้ำต้นทุนในพื้นที่ได้ สามารถทำการเกษตรได้ครอบคลุมทั้งพื้นที่ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา

​“นายจักรกฤษณ์ แก่นวงศ์” ประชาสัมพันธ์กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานตำบลดงน้อย กล่าวว่า    “ปี 2562 ประสบปัญหาภัยแล้งร่วมกับการขาดแหล่งน้ำต้นทุน น้ำไม่เพียงพอกับการใช้ดูแลนาข้าว จึงรวมตัวกันเพื่อแก้ไขวิกฤติแล้ง ร่วมกับโครงการส่งน้ำ และบำรุงรักษาบางพลวง มีการเปิดทางน้ำจากทางจังหวัดปราจีนบุุรี   เร่งรับน้ำเข้าช่วงที่น้ำเค็มยังขึ้นไม่ถึง ขอสนับสนุนน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองสียัด และสูบน้ำคลองหลักเข้าคลองซอย ให้เกษตรกรสูบน้ำเข้าพื้นที่ตนเอง โดยตกลงกติกาสูบน้ำร่วมกัน จึงผ่านพ้นภัยแล้งในปีนั้นมาได้ ซึ่งทางกลุ่มได้เรียนรู้ในการเตรียมความพร้อมของแหล่งน้ำต้นทุน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่นอกจากประสบปัญหาไม่มีแหล่งน้ำต้นทุนของตัวเองแล้ว ยังมีปัญหาลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่สูง ลาดเอียง เป็นพื้นที่ปลายน้ำ และน้ำเค็มรุก เกษตรกรจึงประสบความยากลำบากในการทำการเกษตรตลอดมา”

​“ตั้งแต่ปี 2562 ทางกลุ่มได้ศึกษา และทำงานร่วมกับโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางพลวง  อย่างสม่ำเสมอ โดยทำงานด้วยการบริหารจัดการน้ำ คือศึกษาแผนการผลักดันน้ำเค็มของกรมชลประทาน เพราะเมื่อน้ำเค็มมา ต้นทุนน้ำจืดจะเหลือน้อย แต่เมื่อได้ทราบแผนของกรมชลประทานอย่างชัดเจน จึงวางแผนการเพาะปลูกได้ โดยต้องคำนวณถึงวันเก็บเกี่ยวนาปี ให้สัมพันธ์กับการบริหารน้ำส่วนเกินจากปราจีนบุุรีออกแม่น้ำ   บางปะกงในช่วงน้ำหลากด้วย ส่วนการบริหารจัดการคนเป็นการบริหารจัดการคน 2 ช่วงวัย คือ เกษตรกรรุ่นเก่าที่่หวงแหนในน้ำ และเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เข้าใจลึกซึ้งถึงคุณค่าของน้ำ โดยทุกครอบครัวจะปรับแนวคิดในการใช้น้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำที่มี ยกตัวอย่าง เกษตรกรรุ่นเก่านั้นจะเน้นการทำนา แต่เปลี่ยนมาทำนาแบบ เปียกสลับแห้งแกล้งข้าว ใช้น้ำน้อยกว่าทำนาแบบเดิม ส่วนเกษตรกรรุ่นใหม่จะทำเกษตรผสมผสาน ปลูกพืช และเลี้ยงสัตว์ ปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์ ปลูกแตงโมด้วยนวัตกรรมน้ำหยด การใช้โดรนเพื่อลดเวลา ลดค่าใช้จ่าย ซึ่งแต่ละวิธีล้วนใช้น้ำในปริมาณน้อยทั้งสิ้น”

​“นายเอ บุญชัง” ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางพลวง กล่าวว่า “กลุ่มดงน้อยเป็นกลุ่มที่แข็งแรงมากๆ การมีพื้นที่กลุ่มอยู่ในที่สูง กรมชลประทานจึงต้องผลักดันน้ำขึ้นไปช่วย และในปีที่น้ำแล้งเกษตรกรก็จะประสบกับปัญหาการรุกล้ำของน้ำเค็มด้วย แต่เหนือสิ่งอื่นใด ด้วยความสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจ จึงทำให้วันนี้กลุ่มเกษตรกรชาวดงน้อย สามารถเอาชนะปัญหาน้ำแล้งได้สำเร็จ”


You must be logged in to post a comment Login