วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ศูนย์คุณธรรมฯเผยผลสำรวจดัชนีชี้วัดคุณธรรมและทุนชีวิต ปี 67

On September 23, 2024

ศูนย์คุณธรรมฯเผยผลสำรวจดัชนีชี้วัดคุณธรรมและทุนชีวิต ปี 67 กลุ่มคนไทย 3 ช่วงวัย พร้อมจัดเสวนาภายใต้แนวคิด “Sustainable Value Creation ..รักษ์โลกแบบไหน ที่เรียกว่ายั่งยืน” ให้มุมมองและข้อเสนอแนะเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างยั่งยืน

ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) หน่วยงานของรัฐในกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้ดำเนินการจัดทำรายงานสถานการณ์คุณธรรมในสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบของงานวิจัย องค์ความรู้ และสำรวจสถานการณ์ด้านคุณธรรม เพื่อมุ่งเน้นนำเสนอประเด็นด้านคุณธรรม วิธีการแก้ไขปัญหา และปรากฏการณ์ด้านบวกและลบ ทั้งระดับปัจเจก ระดับชุมชน และสังคม เพื่อรณรงค์ปลูกฝังด้านจิตสำนึกแก่ประชาชน โดยเชื่อมโยงกับคุณธรรม 5 ด้าน ได้แก่ พอเพียง วินัย สุจริต จิตสาธารณะ กตัญญู และประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

โดยสถานการณ์คุณธรรมปี 2567 รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม เผยว่า “ปัจจุบันได้มีการสำรวจสถานการณ์คุณธรรมของสังคมไทย ประจำปี 2567 ด้วย 2 เครื่องมือ คือดัชนีชี้วัดคุณธรรมและทุนชีวิต ในกลุ่มคนไทย 3 ช่วงวัย คือ อายุ 13-24 ปี อายุ 25-40 ปี และ อายุ 41 ปีขึ้นไป รวม 29,432 คน ใน 6 ภูมิภาค คือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้ พบผลสำรวจที่น่าสนใจคือ ดัชนีชี้วัดคุณธรรมภาพรวม 3 ช่วงวัยอยู่ในระดับพอใช้ อยู่ที่ค่าเฉลี่ย 4.32 จากคะแนนเต็ม 6 คะแนน เปรียบเทียบกับปี 2566 ที่อยู่ในระดับพอใช้ ค่าเฉลี่ย 4.73 ลดลง 8.67% และคุณธรรม 5 ด้าน ภาพรวม 3 ช่วงวัยพบว่า คุณธรรมด้านพอเพียง วินัยรับผิดชอบ และสุจริต อยู่ในระดับน้อย ค่าเฉลี่ย 4,17, 4.27 และ 4.19 ตามลำดับ ส่วนคุณธรรมด้านกตัญญู และจิตสาธารณะ อยู่ในระดับพอใช้ ค่าเฉลี่ย 4.64 และ 4.35 และเป็นที่น่าสังเกตว่าคุณธรรมด้านสุจริต อยู่ในระดับน้อยทั้ง 3 ช่วงวัย คือ อายุ 13-24 ปี ค่าเฉลี่ย 4.21 อายุ 25-40 ปี ค่าเฉลี่ย 4.04 และอายุ 41 ปีขึ้นไป ค่าเฉลี่ย 4.31

ในขณะที่ผลสำรวจทุนชีวิตภาพรวม ปี 2567 ใน 3 ช่วงวัย พบว่า อยู่ในระดับดี ร้อยละ 77.57 เปรียบเทียบปี 2566 ที่อยู่ในระดับดีมาก ร้อยละ 83.80 ลดลง 7.43% และผลสำรวจทุนชีวิตรายพลัง ซึ่งเป็นระบบนิเวศรอบตัวมนุษย์ที่เป็นรากฐานของการดำรงชีวิตและเป็นปัจจัยสำคัญในการรับมือและแก้ไขปัญหา ประกอบไปด้วย 5 พลัง คือ พลังตัวตน พลังครอบครัว พลังสร้างปัญญา/พลังที่ทำงานหรือพลังองค์กร พลังเพื่อนและกิจกรรม และพลังชุมชน พบว่า ในกลุ่มอายุ 13-24 ปี พลังตัวตนอยู่ในระดับดีมาก ร้อยละ 80.15 ขณะที่ อายุ 25-40 ปี พลังตัวตน และพลังครอบครัว อยู่ในระดับดีมาก คือ ร้อยละ 81.13 และร้อยละ 80.70 ส่วน อายุ 41 ปี ขึ้นไป ทั้ง 5 พลัง อยู่ในระดับดี พลังตัวตน ร้อยละ 78.24 พลังครอบครัว ร้อยละ 77.94 พลังที่ทำงานหรือพลังองค์กร ร้อยละ 76.21 พลังเพื่อนและกิจกรรม ร้อยละ 75.58 และพลังชุมชน ร้อยละ 74.66 ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า ผลสำรวจทุนชีวิตรายข้อ ใน 3 ช่วงวัย มีเรื่องเดียว ที่มีคะแนนอยู่ในระดับปานกลาง คือ พลังชุมชน อายุ 13-24 ปี เรื่องการมีเพื่อนบ้านที่สนใจและให้กําลังใจ ร้อยละ 69.04”

โดย มีข้อเสนอแนะ หลัก 3 ข้อ ได้แก่ 1.) ควรหยิบยกประเด็นคุณธรรมด้านสุจริตและด้านวินัยรับผิดชอบ มาเป็นประเด็นร่วมในการรณรงค์สร้างจิตสำนึกในลักษณะที่เชื่อมโยงเป็นระบบนิเวศทั้ง (1.) ระบบภาพรวมของสังคม (Macro system) เช่นคุณธรรมด้านสุจริต คือการสร้างบรรทัดฐานทางสังคม การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ชัดเจน เป็นรูปธรรม เพื่อสร้างและพัฒนาระบบแจ้งเบาะแสการทุจริต (Whistle-blower) การสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการให้ข้อมูลและร้องเรียนเรื่องทุจริต เพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมการไม่ทนต่อการทุจริต และคุณธรรมด้านวินัยรับผิดชอบ คือ การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างบรรทัดฐานทางสังคมเรื่องวินัยรับผิดชอบ โดยเฉพาะวินัยจราจร (2.) ระบบสิ่งแวดล้อมที่ใกล้ชิดมนุษย์ (Micro system) เช่น ครอบครัว สถานศึกษา องค์กร ชุมชน อาทิ การส่งเสริมคุณธรรมด้านสุจริตและวินัยรับผิดชอบโดยมีจุดเริ่มจากครอบครัว และใช้ชุมชนเป็นฐานในการขับเคลื่อน และ (3.) สื่อ (Media) คือ การใช้พลังของสื่อในการพัฒนา Soft skill การปรับเปลี่ยนวิธีคิด (Mindset) ในเรื่องสุจริตและวินัยรับผิดชอบ เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้จริง โดยเน้นด้าน ความพอเพียง, จิตสาธารณะ, และเปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนออกแบบกิจกรรมจิตอาสาที่สร้างสรรค์และบูรณาการ โดยเกิดจากความสมัครใจ ไม่ใช่การบังคับหรือสั่งการ

ส่วนข้อเสนอเชิงพัฒนา นั้น  1.) มิติการศึกษาและพัฒนาคุณภาพพลเมือง ควรพัฒนาระบบการศึกษาควบคู่กับเรื่องคุณธรรม โดยเป็นคุณธรรมที่จับต้องได้ ไม่ใช่การท่องจำ2.) มิติการพัฒนาสังคม ควรเตรียมพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงในการก้าวสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super-Aged Society) ของไทย ในด้านต่าง ๆ เช่น สุขภาพ ด้านเศรษฐกิจ และด้านการเรียนรู้ ด้วยการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ให้ท้องถิ่นจัดการตนเอง เกิดเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ร่วมกันออกแบบ“สังคมสวัสดิการ” (Social Welfare) ของตนเองและ3.) มิติการศึกษาวิจัย ดังนั้นควรมีการสำรวจรายจังหวัดเพิ่มเติมอย่างละเอียดมากขึ้น เพื่อให้มีข้อมูลสถานการณ์คุณธรรมรายจังหวัดประกอบการตัดสินใจในการบริหาร กำหนดนโยบาย และออกแบบการส่งเสริมคุณธรรมในระดับปฏิบัติ

รวมถึงข้อเสนอแนะที่2.) รณรงค์ให้เกิดความเข้าใจ และรู้เท่ากระแสบริโภคนิยมมากยิ่งขึ้น เพื่อเสริมสร้างความรู้ด้านวินัยทางการเงิน และส่งเสริมรูปแบบการบริโภคที่ยั่งยืน และ 3.) ส่งเสริมให้เกิดการเตรียมความพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงของคนวัยทำงานในด้านสุขภาพ ด้านเศรษฐกิจ และด้านการเรียนรู้ เพื่อรองรับการก้าวสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super-Aged Society) ของไทย ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นในปี 2583

และเพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดการสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างยั่งยืน สืบเนื่องจากประเด็นที่น่าสังเกตจากผลสำรวจดังกล่าว ในเรื่องของความพอเพียง และการรู้เท่าทันกระแสบริโภคนิยม รวมถึงต้องการส่งเสริมให้เกิดรูปแบบการบริโภคที่ยั่งยืน  ภายในงานยังได้มีการจัดเสวนา ในแนวคิดSustainable Value Creation “รักษ์โลกแบบไหน ที่เรียกว่ายั่งยืน” โดยได้วิทยากรชื่อดัง มาร่วมแลกเปลี่ยน ข้อมูล อาทิ ณัฐกร เวียงอินทร์ หัวหน้าแผนกเนื้อหา และแบรนด์ดิ้ง บริษัท ไลค์มี จำกัด ร่วมพูดคุยและให้มุมมองด้านการเรียนรู้และเติบโตอย่างไรในยุคที่ปัญญาประดิษฐ์ และความยั่งยืน คือแรงขับเคลื่อนโลก “ทุกวันนี้ไม่สามารถปฏิเสธการใช้งาน AI ได้อีกต่อไป ซึ่งแน่นอนว่าเป็นสิ่งที่ต้องใช้การเรียนรู้เพิ่มเติม มากน้อยแตกต่างกันไปสำหรับคนในแต่ละเจนเนอเรชั่น แม้แต่ในเรื่องของแวดวง Sustainability ที่เราพูดคุยกันวันนี้ที่สืบเนื่องมาจากผลสำรวจคุณธรรมของผู้คน ประจำปี 2567 ของศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ก็ตาม สำหรับผมข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ในการเตรียมตัวก็คือ ในยุคที่ AI และ ความยั่งยืน ขับเคลื่อนโลก เราต้องเติบโตตาม 5 เทรนด์หลัก ได้แก่ Technology & AI ประกอบไปด้วย การใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible AI), (AI Agent )ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลดปัญหาการทำงานซ้ำซ้อน และ(AI Talent Shortage) หรือการขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญ AI กำลังเป็นปัญหาสำคัญ เทรนด์ความยั่งยืน กฎหมายความยั่งยืนจะบังคับให้ธุรกิจต้องปรับตัวตาม (Legislationization) , การเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมจะสร้างคุณค่าให้กับชุมชน (ESG Disclosure Management) และการปรับตัวอย่างยืดหยุ่น (Resilience) Aging Society ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นต้องการนวัตกรรมดูแลใหม่ การทำการตลาดที่จริงใจ เพื่อเน้นความซื่อสัตย์และจริงใจ และการนำภูมิปัญญาโบราณมาใช้เพื่อสร้างความยั่งยืนและสมดุลในชีวิต เราสามารถเรียนรู้และเติบโตได้ ด้วยการปรับทักษะ มุมมอง และพฤติกรรมที่เหมาะสม เพื่อเตรียมรับกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และต้องทำความเข้าใจ แล้วใช้เทคโนโลยี ด้วยความรับผิดชอบ”

ส่วนกูรูด้านความยั่งยืนของเมืองไทย ได้แก่ อนันตชัย ยูรประถม ผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาธุรกิจยั่งยืน, อมรพล หุวะนันทน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท มอร์ลูป จำกัด (Moreloop) ร่วมคุยกันในเรื่อง “มองกรอบความยั่งยืนแบบไหน เพื่อในคนสุข โลกดี ธุรกิจมีกำไร ไปพร้อมกัน” โดย อนันตชัย ยูรประถม สรุปไอเดียจากการพูดคุยกันว่า “การสร้างกรอบความยั่งยืนที่ทำให้ คนสุข โลกดี ธุรกิจมีกำไร ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งประชาชน คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค ภาคธุรกิจที่บริษัทต้องปรับตัวโดยการนำแนวทางความยั่งยืนมาเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์หลัก เพื่อสร้างมูลค่าให้แก่ผู้บริโภค ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และยังสามารถรักษาผลกำไรได้ผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ และภาครัฐควรกำหนดนโยบายและกฎหมายที่ส่งเสริมและบังคับใช้แนวทางความยั่งยืน โดยการใช้ เทคโนโลยี และ สื่อสารมวลชน เป็นเครื่องมือสำคัญในการเร่งการเปลี่ยนแปลงนี้”

และปิดท้ายด้วย เอซ ธนบูรณ์ สมบูรณ์ ผู้ก่อตั้ง Greenery เครือข่ายผู้บริโภครุ่นใหม่ที่สนใจการใช้ชีวิตที่ยั่งยืน รวมถึง พิมพ์ลดา ไชยปรีชาวิทย์ อดีตพิธีกรดังสตรอเบอรี่ชีสเค้ก เจ้าของเพจ Pear is Hungry ที่นำเสนอเนื้อหาในด้านการลดปริมาณอาหารเหลือทิ้ง Food waste ในหัวข้อ “เศรษฐกิจหมุนเวียน ช่วยให้โลกเย็นขึ้นได้อย่างไร” โดยสรุปประเด็นนี้ว่า “การบริโภคอย่างรับผิดชอบ ช่วยให้โลกเย็นขึ้นได้โดยการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ สังคม และโลก หรือ เลือกบริโภคอาหารจากแหล่งที่ปลูกแบบยั่งยืน ใช้สินค้าที่ย่อยสลายง่ายและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงสนับสนุนการท่องเที่ยวและธุรกิจท้องถิ่น โดยที่การบริโภคอย่างรับผิดชอบต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภคที่ต้องตระหนักถึงผลกระทบจากพฤติกรรมการบริโภค และเปลี่ยนวิถีชีวิตให้ยั่งยืนขึ้น ภาคเอกชน ที่ควรใส่ใจต่อการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และภาครัฐที่ควรออกนโยบายสนับสนุนและบังคับใช้มาตรการที่ส่งเสริมการบริโภคและผลิตอย่างยั่งยืน และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอย่างรับผิดชอบ เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนให้โลกเย็นขึ้นและยั่งยืนมากขึ้นในระยะยาว”

**โดยท่านที่สนใจ สามารถรับฟังงานเสวนาฯย้อนหลังเพื่อรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/share/v/14KgCYuMC4/


You must be logged in to post a comment Login