วันศุกร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2567

อบจ.นนทบุรีจับมือ สสส.-ยท.ประกาศสกัดบุหรี่ไฟฟ้าใน ร.ร. พร้อมกันทั้ง 34 แห่งทั่วทั้งจังหวัด

On September 23, 2024

อบจ.นนทบุรี จับมือ สสส.-ยท. ประกาศโรงเรียน34 แห่งในจังหวัดนนทบุรีไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า พร้อม 6 มาตรการจัดการบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชน ด้าน สสส.เสริม 3 มาตรการดำเนินงานให้หน่วยงานต่างๆนำไปใช้ หวังสกัดนักสูบวัยใส หลังพบเด็กและเยาวชนสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงขึ้นและเข้าถึงได้ง่าย

ที่ผ่านมาสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย และองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี และสถานศึกษ  34 แห่งในจังหวัดนนทบุรี จัดการเสวนาวิชาการเนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติ 2567 “ปกป้องเยาวชนนนทบุรีจากบุหรี่ไฟฟ้า” และพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) & ประกาศนโยบาย 34 สถานศึกษาสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี ปลอดบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อให้แนวทางการดำเนินของสถานศึกษาในการเฝ้าระวังไม่ให้เด็กและเยาวชนตกเป็นเหยื่อของบุหรี่ไฟฟ้า ที่หอประชุมศูนย์โอทอปจังหวัดนนทบุรี

สสส.จับมือ ยท. อบจ.นนทบุรี ให้ความรู้เยาวชนถึงภัยร้ายบุหรี่ไฟฟ้า

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ข้อมูลพฤติกรรมการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนไทย ปี 2566 ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ ยท. สำรวจเด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 25 ปี จำนวน 61,688 คนจากทั่วประเทศ พบเยาวชนผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้า 25% คิดเป็น 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด ขณะที่ข้อมูลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 6 (ปี 2562-2563) ในกลุ่มอายุ 10-19 ปี จำนวน 4,237 คน พบวัยรุ่นที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ากว่าครึ่งหรือ 53% มีภาวะเสี่ยงโรคซึมเศร้า ซึ่งวัยรุ่นที่เคยสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีความเสี่ยงเกิดโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้น 1.66 เท่า ทั้งนี้ หากเยาวชนยังติดกับในวงวนของบุหรี่ไฟฟ้าที่มีสารนิโคตินมีฤทธิ์ทำลายพัฒนาการของสมอง ทำให้ความสามารถในการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนลดลง ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ ความจำ ความสามารถในการตัดสินใจ รวมไปถึงปัญหาในการเรียน มีผลการเรียนที่ต่ำลง และอาจแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม

“สสส. ยังคงมุ่งเน้นการลดจำนวนคนสูบ โดยจะเชื่อม สาน และเสริมพลังหน่วยงานต่างๆ ดำเนินการ 1.ป้องกันนักสูบหน้าใหม่ โดยเฉพาะในสถาบันการศึกษา 2.ลด ละ เลิกการสูบบุหรี่ของผู้สูบเดิม 3.พัฒนาสภาพแวดล้อมปลอดควันบุหรี่ ทั้งนี้ บุหรี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นสู่สิ่งเสพติดอื่นๆ และหากผู้สูบอายุยิ่งน้อย ยิ่งมีโอกาสเลิกสูบสำเร็จได้ยาก ดังนั้นการป้องกันตั้งแต่วัยเด็ก เยาวชนจึงมีส่วนสำคัญช่วยสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีให้แก่เยาวชน” ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว

นพ.พงศ์เทพ  กล่าวว่า ในการลงลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) & ประกาศนโยบาย 34 สถานศึกษาสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี ปลอดบุหรี่ไฟฟ้า เป็นการจับมือร่วมกันระหว่าง สสส. นายยกอบจ.นนทบุรี และสถาบันยุวทัศน์ ซึ่งมีความคาดหวังว่า ในการดำเนินงานครั้งนี้เป็นการเชิญชวนให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งเห็นความสำคัญของการปกป้องพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนในจังหวัดนนทบุรี ที่โรงเรียนทุกแห่งเข้าไปสแกนปัญหาในเรื่องต่างๆของบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งทาง นายกอบจ.นนทบุรี ท่านได้ให้ความชัดเจนในเรื่องนโยบาย ที่จะมอบไปสู่โรงเรียนต่างๆ และที่สำคัญท่านได้มองถึงเรื่องของสิ่งแวดล้อมต่างๆ จะเข้าไปดูแลร้านค้าที่จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้ารอบๆสถานศึกษา ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่จะสร้างความรอบรู้ให้กับเด็กนักเรียน และสร้างพื้นที่ปลอดบุหรี่ไฟฟ้าในจังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นการปกป้องทรัพยากรที่มีค่ามากที่สุดของสังคมไทย ก็คือเด็กและเยาวชนที่กลายเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต

อบจ.นนทบุรี ออก 6 มาตรการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในโรงเรียน

พ.ต.อ.ธงชัย เย็นประเสริฐ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี (อบจ.นนทบุรี) กล่าวว่า อบจ.นนทบุรี มีสถานศึกษาในสังกัดรวม 34 แห่ง จัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับอนุบาล-ระดับชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 มีนักเรียนรวม 18,264 คน ที่ผ่านมาได้รับการร้องเรียนเรื่องการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าทั้งในสถานศึกษาและรอบสถานศึกษาจากผู้ปกครองอย่างต่อเนื่อง อบจ.นนทบุรี ร่วมกับ ยท. สำรวจข้อมูลเรื่องบุหรี่ไฟฟ้ากลุ่มนักเรียนระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษาตอนต้น ในโรงเรียนสังกัด   อบจ.นนทบุรี รวม 2,377 คน เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2567 พบเด็กนักเรียน สูบบุหรี่ไฟฟ้าสูง 6.3%

กลุ่มเป้าหมายพบเห็นการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าผ่านสื่อสังคมออนไลน์ 60.2% ร้านค้าแบบมีหน้าร้านถาวร 48.7% ตลาดนัดกลางคืน 18.5% คนรอบตัวนำมาจำหน่าย 9.4% และร้านค้าใกล้โรงเรียน 4.2% ซึ่งน่ากังวลเพราะบุหรี่ไฟฟ้ายังมีปริมาณนิโคตินสูงกว่าบุหรี่ธรรมดา ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อต่อการเจริญเติบโตด้านร่างกายและสมองของเด็กและเยาวชน

พ.ต.อ.ธงชัย กล่าวต่อว่า อบจ.นนทบุรี จึงขอประกาศนโยบายและมาตรการควบคุมและป้องกันบุหรี่ไฟฟ้า 1.สถานศึกษาทุกแห่งต้องเป็นสถานที่ปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า พร้อมแสดงสัญลักษณ์ปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าบริเวณทางเข้าออกของสถานศึกษา 2.ตรวจค้นกระเป๋านักเรียน และอาคารเรียน ป้องกันการนำอุปกรณ์บุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาในสถานศึกษา 3.บุคลากรทางการศึกษา ชุมชน ต้องเฝ้าระวังร้านจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้ารอบสถานศึกษา พร้อมส่งข้อมูลให้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย 4.จัดทำกล่องใส่อุปกรณ์บุหรี่ไฟฟ้า (Dropbox) ที่ได้จากการตรวจยึด พร้อมส่งทำลายเป็นขยะอันตราย 5.ตรวจเยี่ยมสถานศึกษา พร้อมจัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้แก่นักเรียน รวมถึงส่งนักเรียนที่ติดบุหรี่ไฟฟ้าไปบำบัดในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 6.บุคลากรทางการศึกษาทุกคนเป็นแบบอย่าง ไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้า หรือพกพาบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาในสถานศึกษา ทั้งนี้ หากสถานศึกษาไม่ปฏิบัติตาม จะดำเนินการทางวินัยกับผู้บริหารสถานศึกษา เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าอย่างสูงสุด

ยท.ชื่นชม อบจ.นนทบุรีประกาศเป็นนโยบายสถานศึกษาต้องปลอดบุหรี่ไฟฟ้า

นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) กล่าวว่า จังหวัดนนทบุรีเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ติดกับ กทม. เพราะฉะนั้น จำนวนประชากรและปัญหาหลายๆเรื่องจะมีความใกล้เคียงกับ กทม.พอสมควร ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเรื่องของปัญหาบุหรี่ไฟฟ้า วันนี้ถ้าไปดูตัวเลขของการสูบบุหรี่ไฟฟ้า พบว่า กทม.ติดอันดับหนึ่งของประเทศ และนนทบุรีก็ติด 1 ใน 5 ของจังหวัดที่มีการสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากที่สุด เพราะฉะนั้นการแก้ไขปัญหาจึงมีความคล้ายคลึงกัน

นายพชรพรรษ์ กล่าวว่า โรงเรียนเป็นเขตปลอดบุหรี่ตามกฎหมาย ซึ่งเราจะเพิ่มเรื่องของบุหรี่ไฟฟ้าเข้าไป นอกจากนี้สิ่งที่ตนเห็นถึงความเข้มงวดที่สุดของที่จ.นนทบุรี คือ มีการลงโทษทางวินัยกับผู้บริหารสถานศึกษาที่มีการปล่อยปละละเลยให้มีการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษา หรือ มีการสูบบุหรี่ จำหน่าย ซึ่งหากมีการตรวจพบเรื่องดังกล่าว นายก อบจ.นนทบุรีมีการประกาศที่จะลงโทษทางวินัยกับผู้บริหารสถานศึกษาที่ปล่อยปละละเลยในเรื่องดังกล่าว

นายพชรพรรษ์  กล่าวว่า ในส่วนของ ยท. สสส. และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องจะทำหน้าที่ให้ความรู้แก่เด็กและเยาวชน รวมทั้งพ่อแม่ ตลอดระยะเวลา 2 ปีนี้ โดยจะร่วมกันตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนงานด้านการป้องกันและควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษา ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษาทุกแห่ง ชุมชน และสถานีตำรวจ มีหน้าที่รับผิดชอบงานทุกมิติ ได้แก่ การพัฒนาเนื้อหาการจัดการเรียนการสอนสำหรับ นร.ประถมศึกษา การติดตามผลการดำเนินงาน การเฝ้าระวังร้านจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า และลงพื้นที่ให้ความรู้กับนักเรียน บุคลากรทางการศึกษาและผู้ปกครองได้ทันทีกว่า 60,000 คน

ที่ผ่านมา ยท.ได้สำรวจผลความคิดเห็นของเยาวชนใน จ.นนทบุรี  ในสถานศึกษาทั้งหมด 34 แห่ง พบว่า เด็กพบเห็นบุหรี่ไฟฟ้าผ่านสื่อโซเซียลมีเดียมากที่สุดเป็นอันดับ 1  ลำดับที่ 2 ตลาดนัด และตลาดนัดกลางคืน ตามลำดับ แต่ถ้าเรารวมตลาดนัดการคืน และร้านที่มีที่ตั้งถาวรจะพบว่า เด็กและเยาวชนเขาถึงได้มากกว่าสื่อออนไลน์ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ยั่วยุให้เกิดการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนเพิ่มขึ้นด้วย ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทาง ยท.ได้มีการพูดคุยกับนายก อบจ.นนทบุรี ซึ่งท่านเป็นอดีตตำรวจ เราอยากให้ สคบ.โอนอำนาจเหมือน กทม.ที่ให้ ผอ.เขตมีอำนาจในการจับกุมบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่ง อบจ.เองก็อยากได้อำนาจแบบ กทม. เพื่อให้เจ้าพนักงานมีอำนาจจับกุมเหมือนตำรวจ ซึ่งถ้าโรงเรียนเฝ้าระวังและแจ้งไปยัง อบจ. แล้ว อบจ.รวบรวมข้อมูลส่งไปให้ฝ่ายปกครองในแต่ละอำเภอ โดยเจ้าพนักงานปกครองเขามีอำนาจจับกุมเหมือนตำรวจเลย ถ้าทำอย่างนี้แบบเข้มข้นตนเชื่อว่าภายใน 3 เดือน ไม่มีใครกล้าเปิดขายบุหรี่ไฟฟ้า

ทั้งนี้การทำงานจะมีการประเมินผลใน 2 เรื่อง คือ จำนวนของร้านค้า  คือถ้าร้านค้าลดแสดงว่าดีมานมันลดตามไป ซึ่งเป็นสิ่งแรกที่เราจะประเมินภายใน 2 ปี อย่างทีสองคือ เรื่องการสำรวจเด็กประถมและ ม.ต้น ที่สำรวจพบว่ามีการสูบบุหรี่ไฟฟ้าถึง 6.3% ซึ่งถือเป็นเรื่องสูงมาก ซึ่งเราจะสำรวจทุกๆ 1 ปีตัวเลขมันจะต้องลดลง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราคาดหวังไว้ว่ามันจะต้องลดลงให้มากที่สุด  นายพชรพรรษ์ กล่าวสรุป


You must be logged in to post a comment Login