- อย่าไปอินPosted 2 days ago
- ปีดับคนดังPosted 3 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 4 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 5 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 6 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 2 weeks ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
“ปลูกกาแฟอะราบิกาใต้ร่มเงา” งานวิจัยสู่การพัฒนา สร้างป่า สร้างรายได้ ชุมชนบ้านแม่จันหลวง จังหวัดเชียงราย
พื้นที่บ้านแม่จันหลวง บนดอยแม่สลอง จังหวัดเชียงราย เกษตรกรอยู่กันเป็นหย่อมบ้านประมาณ 50 ครัวเรือน อาชีพดั้งเดิมปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ชา กาแฟอาราบิก้า ข้าวไร่ พลับ พลัม(เชอรี่) ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ ได้แก่ ไทยใหญ่ อาข่า ลั๊วะ ลีซอ ลาหู่ จีนยูนาน เมี่ยน และไทยพื้นเมือง ในปี 2554 สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง หรือ สวพส. เข้ามาส่งเสริมที่บ้านแม่จันหลวง และเห็นศักยภาพของพื้นที่เพราะมีการปลูกกาแฟอะราบิกาอยู่แล้ว แต่เนื่องด้วยพบปัญหาการปลูกในพื้นที่ที่ให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อต้นค่อนข้างต่ำ การแปรรูปเมล็ดกาแฟไม่มีคุณภาพ เพราะขาดความรู้และกระบวนการแปรรูปกาแฟที่ถูกต้อง ทำให้ถูกกดราคาและปฏิเสธการรับซื้อ และพบการบุกรุกป่าเพื่อขยายพื้นที่ทำกินเป็นวงกว้าง
โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่สลองภายใต้การดำเนินงานของ สวพส. ได้นำองค์ความรู้งานวิจัยไปดำเนินการพัฒนาร่วมกับเกษตรกรและหน่วยงานเครือข่ายเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการปรับระบบการผลิตจากการปลูกกระจายทั่วไปในพื้นที่ว่างหรือปลูกในแปลงปลูก มาเป็นการปลูกภายใต้ร่มเงาไม้กว่า 2,700 ไร่ นำเทคโนโลยีและองค์ความรู้จากงานวิจัยมาใช้ให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ ตั้งแต่การปลูก การดูแลรักษา การแปรรูป และการจำหน่ายกาแฟคุณภาพที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
นายนิวัฒน์ คำมา นักวิชาการส่งเสริมและพัฒนา สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (สวพส.) กล่าวว่า ก่อนที่สวพส.จะเข้ามาพัฒนาพื้นที่แม่จันหลวง ดอยแม่สลอง จังหวัดเชียงราย ได้ทำการศึกษาหาข้อมูลและทำความคุ้นเคยกับชนเผ่าซึ่งมี 8 ชนเผ่า พบว่า เกษตรกรมีการปลูกกาแฟอยู่แล้ว แต่ไม่มีการจัดการที่ดีพอ ผลผลิตต่ำ การแปรรูปเมล็ดกาแฟไม่มีคุณภาพ สวพส. ได้นำหลักการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนตามแบบโครงการหลวงมาเป็นแนวทางในการดำเนินงาน ร่วมกับสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานพัฒนาและแก้ไขปัญหาการผลิตกาแฟให้เกษตรกรในพื้นที่ตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่การปลูก การจัดการสวน(ต้นน้ำ) การแปรรูป (กลางน้ำ) การจำหน่าย (ปลายน้ำ) ด้วยการรับฟังปัญหา ความต้องการของเกษตรกร ชุมชน เพื่อค้นหาสาเหตุ และร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหา โดยมีหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมให้ข้อคิดเห็นเพื่อให้มีแนวทางการทำงานในทิศทางเดียวกัน โดยนำข้อมูลจากแผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดินรายแปลงของชุมชนมาเป็นเครื่องมือประกอบการตัดสินใจในการวางแผนปรับปรุงระบบการผลิต เลือกนวัตกรรมจากงานวิจัยที่เหมาะสมเพื่อแปรรูปกาแฟที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และผลักดันเรื่องการพัฒนากาแฟคุณภาพควบคู่กับการดูแลทรัพยากรสิ่งแวดล้อมให้ได้รับการบรรจุเป็นประเด็นการพัฒนาในยุทธศาสตร์จังหวัดเชียงราย ด้านการส่งเสริมการผลิตและพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับสินค้าเกษตรเชิงสร้างสรรค์ภายใต้แนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน
นายไพศาล โซ่เซ เกษตรกรผู้นำในโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่สลอง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย กล่าวว่า เมื่อก่อนบ้านแม่จันหลวง รายได้หลักมาจากการประกอบอาชีพภาคเกษตร เช่น ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปลูกพลับ โดยส่วนหนึ่งเป็นการปลูกกาแฟอะราบิกาในพื้นที่ 1,430 ไร่ และนำไปขายที่แม่ฮ่องสอน ซึ่งขายได้ในราคาต่ำ ขณะนั้นยังไม่รู้จักการแปรรูปว่าทำอย่างไร ต่อมา สวพส. เข้าดำเนินงานในพื้นที่และนำองค์ความรู้โครงการหลวงเข้ามาเปลี่ยนจากการปลูกพืชไร่และพืชผัก หันมาปลูกกาแฟอะราบิกาภายใต้ร่มเงาไม้ท้องถิ่น เกิดการรวมกลุ่มเครือข่ายผู้ปลูกกาแฟแม่สลองที่มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพในการผลิตกาแฟด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม สามารถพัฒนากาแฟแม่สลองให้เป็นที่ยอมรับ เกิดอาชีพที่สร้างรายได้ยั่งยืนให้คนในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมมากกว่า 150,000 บาท/ปี สร้างรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในพื้นที่ มูลค่ารวม 29.41 ล้านบาท กาแฟอะราบิกากลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีชื่อเสียง สร้างรายได้ที่มั่นคงให้เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ และกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่แม่สลองด้วย
นอกจากนี้ พื้นที่ได้รับการปรับระบบมาปลูกกาแฟอาราบิกาใต้ร่มเงาไม้ (Shade-Grown Coffee) รวม 2,771 ไร่ การผลิตภายใต้แนวคิด Zero Waste ทำให้เกษตรกรนำเปลือกกาแฟที่เหลือทิ้งไปผลิตปุ๋ยหมักแล้วนำกลับมาใช้ลดต้นทุนการผลิตได้มากถึง 25 ตัน/ปี ชุมชนมีบ่อบำบัดนํ้าเสียจากการสีแปรรูปกาแฟ จำนวน 22 บ่อ 77 ครัวเรือน สามารถบำบัดนํ้าเสียก่อนปล่อยสู่ธรรมชาติ เฉลี่ย 2,900,000 ลิตร/ปี มีเงินออมเฉลี่ยครัวเรือนละ 60,000 บาท/ปี สำหรับใช้จ่ายในครัวเรือน มีการบริหารจัดการพื้นที่เพาะปลูกตามความเหมาะสมของพื้นที่ ได้เพิ่มพื้นป่าให้ชุมชนโดยรอบมากกว่า 1,300 ไร่ เกิดการอนุรักษ์ดินและน้ำอย่างยั่งยืน
You must be logged in to post a comment Login