วันศุกร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2567

สสส. สานพลัง ม.ธรรมศาสตร์ พัฒนาโมเดลมหาวิทยาลัยสุขภาวะดีแห่งอนาคต

On September 26, 2024

อึ้ง ! นักศึกษาไทยเผชิญความเครียดสูง 40% เสี่ยงป่วยโรคซึมเศร้า-ไบโพลาร์ 30% สสส. สานพลัง ม.ธรรมศาสตร์ พัฒนาโมเดลมหาวิทยาลัยสุขภาวะดีแห่งอนาคต สร้างพื้นที่องค์กรสุขภาวะ ช่วยนักศึกษา-บุคลากร มีสุขภาวะดีทั้งด้านร่างกาย-จิตใจ ล่าสุด เกิดนวัตกรรม TU Great – Future Wellness App เครื่องมือประเมินสุขภาวะแม่นยำ ให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพตรงใจ

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 26 ส.ค. 2567 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการมหาวิทยาลัยสุขภาวะดีแห่งอนาคต (Future Wellness University) พร้อมเปิดตัวนวัตกรรมแอปพลิเคชัน TU Great – Future Wellness App ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการประเมินสุขภาวะของนักศึกษาและบุคลากร ช่วยให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพที่ตรงตามความต้องการเฉพาะบุคคล

นายพงษ์ศักดิ์ ธงรัตนะ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. กล่าวว่า จากผลสำรวจสุขภาพของนิสิตนักศึกษาทั่วประเทศในปี 2566 พบว่า 40% ของนักศึกษามีความเครียดสูงเป็นประจำ และ 30% มีอาการเศร้าซึมบ่อยครั้ง โดย 4.3% ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าและไบโพลาร์ นอกจากนี้ ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี 2567 ยังชี้ให้เห็นว่า 72% ของนักศึกษาและบุคลากรขาดความรู้ในการจัดการความเครียด ขณะที่ 56% เผชิญภาวะหมดไฟในการเรียนและการทำงาน

“สสส. ยังได้ร่วมขับเคลื่อนแนวทางมหาวิทยาลัยสุขภาพดีภายใต้เครือข่าย ASEAN University Network – Health Promotion Network (AUN-HPN) โดยใช้กรอบแนวคิดมหาวิทยาลัยสุขภาพตามกรอบ Healthy University Framework ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยในภูมิภาคอาเซียน เพื่อส่งเสริมสุขภาวะในรั้วมหาวิทยาลัยอย่างยั่งยืน โดย สสส. ได้นำแนวทางนี้มาใช้เป็นกรอบในการออกแบบโครงการมหาวิทยาลัยสุขภาวะดีแห่งอนาคต ซึ่งมีเป้าหมายในการสร้างมหาวิทยาลัยที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยและส่งเสริมสุขภาพให้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านกาย จิตใจ ปัญญา และสังคม และมุ่งเป้าขยายผลให้ครบ 4 ศูนย์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายในปี 2568 ครอบคลุมบุคลากร นักศึกษา 51,300 คน และหวังให้เป็นต้นแบบแก่มหาวิทยาลัยในไทยและภูมิภาคอาเซียนด้านการสร้างพื้นที่สุขภาวะที่ดีต่อไป” นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว

ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาล รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีบุคลากรทั้งสิ้นกว่า 9,300 คน ที่ทุ่มเทกำลังกายกำลังใจในการทำงานเพื่อพัฒนามหาวิทยาลัย ในแต่ละปีธรรมศาสตร์ดูแลนักศึกษาทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก กว่า 42,000 คน และหลายคนในจำนวนนี้อาศัยอยู่ในแคมปัส 24 ชั่วโมง จึงเป็นที่มาว่าทำไมจึงเห็นความจำเป็นที่ต้องทำให้มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ที่สามารถสร้างเสริม และสนับสนุนสุขภาวะของผู้คนที่อยู่ร่วมกันให้เหมือนเป็นบ้านหลังที่สอง สุขภาวะที่ดีไม่ได้หมายรวมถึงสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง สุขภาพใจของสมาชิกในสังคมเป็นกุญแจสำคัญอีกอย่างของการพัฒนาสังคมไปสู่ความยั่งยืน

“มหาวิทยาลัยสุขภาวะดีแห่งอนาคต จึงเป็นวาระสำคัญที่ต้องการผลักดันให้มหาวิทยาลัยสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาสุขภาวะของเยาวชนและประชากรวัยทำงานของประเทศ โดยเรามุ่งหวังทั้งในเชิงการป้องกัน การคัดกรอง และการส่งต่อเข้าสู่ระบบการรักษา ไม่เพียงเพื่อตอบโจทย์การดูแลนักศึกษาและบุคลากรของเราเท่านั้น แต่หวังว่า Future Wellness University จะเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ช่วยเพิ่มพลังบวกให้แก่ระบบสุขภาพของประเทศโดยรวมได้” ศ. ดร.ศุภสวัสดิ์ กล่าว

รศ. นพ.พฤหัส ต่ออุดม  รองอธิการบดีฝ่ายบริหารศูนย์สุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า  โครงการมหาวิทยาลัยสุขภาวะดีแห่งอนาคต มีพันธกิจสำคัญในการมุ่งวางรากฐานนโยบายด้านการส่งเสริมสุขภาวะที่ชัดเจน มุ่งแก้ไขปัญหาด้านสุขภาวะทางใจ โดยมุ่งเน้น 4 ด้านหลัก ได้แก่ 1) Future Wellness Policy and Data มุ่งขับเคลื่อนนโยบายด้านสุขภาวะของมหาวิทยาลัย 2) Future Wellness Workplace ยกระดับการให้บริการทางด้านสุขภาวะด้วยการใช้นวัตกรรม 3) Future Wellness Hub ผสานความเป็นเลิศกับหน่วยงานสุขภาพภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ 4) Future Wellness Flagship ผลักดันการมีส่วนร่วมของสังคมในการแก้ปัญหาสุขภาวะ ก้าวสู่การเป็นต้นแบบมหาวิทยาลัยสุขภาวะดีแห่งอนาคตในระดับสากล

“ขณะนี้โครงการฯ อยู่ในระยะที่ 2 ของการดำเนินงาน โดยมุ่งเน้นการยกระดับการให้บริการทางด้านสุขภาพของมหาวิทยาลัยด้วยนวัตกรรม คือ Application TU Greats Future Wellness และ TU Staff Future Wellness ซึ่งเป็นช่องทางในการคัดกรองและประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาวะที่สามารถทำได้ด้วยตนเอง ด้วยเทคโนโลยี AI จาก D – mind และเชื่อมต่อกับผู้เชี่ยวชาญจาก “หมออาสา” ศูนย์ Viva City และแพทย์จากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เพื่อให้นักศึกษาและบุคลากรธรรมศาสตร์มีสุขภาพที่ดีทั้งทางกายและใจ” รศ. นพ.พฤหัส กล่าว


You must be logged in to post a comment Login