วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

จ.ตราด คว้ารางวัลจังหวัดที่มีการขับเคลื่อนการสวมหมวกนิรภัยในกลุ่มเด็กดีเด่น

On September 29, 2024

สสส.-มูลนิธิไทยโรดส์ และเครือข่าย เผยผลสำรวจพบคนไทยเมินสวมหมวกนิรภัยมากกว่า 50%  สวนทางกลุ่มเด็กซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ สวมหมวกนิรภัยมากขึ้น ด้าน จ.ตราดคว้ารางวัลจังหวัดที่มีการขับเคลื่อนการสวมหมวกนิรภัยในกลุ่มเด็กดีเด่น ด้านมูลนิธิไทยโรดส์เสนอ 5 เรื่องที่ต้องทำเพื่อเซฟสมองเด็กไทย แนะใช้ AI และ CCTV มาช่วยในการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

จักรยานยนต์ จัดเป็นพาหนะอันดับหนึ่งที่จะเกิดอุบัติเหตุสูงสุดของทุก ซึ่งมีสาเหตุมากจากการขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด เมาแล้วขับ ไม่เคารพกฎจราจร และการไม่สวมหมวกนิรภัยของผู้ขับขี่และซ้อนท้าย ส่งผลให้ผู้ประสบอุบัติเหตุได้รับความบาดเจ็บทางสมอง หรือบางรายถึงแก่ชีวิต ดังนั้นการสวมหมวกนิรภัยจะเป็นอุปกรณ์ช่วยชีวิตหรือลดความรุนแรงให้ผู้ขับขี่และซ้อนท้ายได้

ที่ผ่านมา  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิไทยโรดส์ พร้อมด้วยเครือข่ายเฝ้าระวังสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนน (Road Safety Watch) แผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) จัดแถลงผลสำรวจอัตราการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ปี 2566 พร้อมเสวนาแลกเปลี่ยนมุมมอง และทิศทางในการขับเคลื่อนการส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในภาพรวมพบว่าปี 66   มีคนไทยสวมหมวกนิรภัยต่ำกว่า 50% แต่กลับพบว่ากลุ่มเด็กซ้อนท้ายมีการสวมหมวกมากขึ้นถึง 16% และจังหวัดตราดจังหวัดมีเด็กสวมหมวกเพิ่มสูงขึ้น 32%

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ปี 2566 ส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้รถจักรยานยนต์ 82.5% และข้อมูลของระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บ ของกระทรวงสาธารณสุข พบผู้เสียชีวิตในกลุ่มที่ใช้รถจักรยานยนต์ มีอัตราการบาดเจ็บที่ศีรษะ 79% และในกลุ่มผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตที่สวมหมวกนิรภัย มีอัตราการบาดเจ็บที่ศีรษะ 24% ขณะที่กลุ่มที่ไม่สวมหมวกนิรภัย บาดเจ็บที่ศีรษะ 41%  สอดคล้องกับผลงานวิจัยของศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย AIT ปี 2551 พบว่า การสวมหมวกนิรภัยช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตจากการบาดเจ็บที่ศีรษะได้ โดยลดความเสี่ยง และความรุนแรงของการบาดเจ็บที่ศีรษะ 72% และลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต 39% แต่จากผลการสำรวจของมูลนิธิไทยโรดส์ปี 2553-2566 พบว่า อัตราการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ทั้งประเทศในภาพรวมยังคงที่ ในปี 2566 พบว่า มีอัตราการสวมหมวกนิรภัยอยู่ที่ 43% โดยแบ่งเป็นผู้ขับขี่ 48% และ ผู้ซ้อน 21%

สำหรับสาเหตุที่ผู้ปกครองไม่ได้ซื้อหมวกนิรภัยให้กับเด็กนั้น นพ.พงศ์เทพ กล่าวว่า ที่พ่อแม่ไม่ค่อยได้ซื้อหมวกนิรภัยให้กับเด็กเนื่องจากว่าเด็กจะมีศีรษะที่โตเร็ว ซึ่งจะต้องมีการเปลี่ยนหมวกทุกปีซึ่งจะเป็นค่าใช้จ่าย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีหมวกนิรภัยที่เอาไว้ใช้วนกันที่อยู่ในศูนย์เด็กเล็กที่มีไว้ให้ยืม และมีวิธีการทำความสะอาดหมวกนิรภัย เพื่อการใช้ที่หมนุเวียนกันไปเรื่อยๆ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ ดังนั้นใครจจะเป็นผู้จัดหาหมวกนิรภัย ซึ่งอาจจะเริ่มที่ภาคเอกชนเข้าไปหนุนเสริม หรือ อบต.ที่มีหน้าที่ดูแลศูนย์เด็กเล็กอยู่แล้วเข้าไปหนุนเสริมได้ โดยการใช้กองทุนสุขภาพตำบล ซึ่งเป็นงบจาก สปสช.ที่ร่วมกับ อบต.อยู่แล้ว ในอนาคตตนจะมีการพูดคุยกับ สปสช. ซึ่งถ้าข้อสรุปแล้วจะทำการรวบรวมข้อมูลในเรื่องนี้ส่งไปยัง สปสช. เพื่อให้ สปสช.ทำหนังสือถึงทุก อบต.ว่าโครงการนี้สามารถทำได้ โดยอาจการก๊อปปี้โครงการที่ทำสำเร็จ หรือดูงานในจังหวัดต่างๆที่ทำเรื่องเด็ก เช่น จ.ตราด ที่น่าสนใจเพราะเขาไม่ได้ใช้กระบวนการกฎหมายเป็นหลัก แต่มีการใช้กระบวนการอื่นๆร่วมด้วย ซึ่งถ้ามีต้นแบบให้และสามารถทำให้ทุก อบต.สนับสนุนหมวกเด็กให้ แล้วที่สำคัญไม่ใช่แค่หมวก แต่เป็นเรื่องของระบบการจัดการที่ครูศูนย์เด็กเล็กจะต้องสอนเด็ก และสื่อสารเด็กด้วยวิธีง่ายๆเกี่ยวกับความสำคัญของหมวกนิรภัย ซึ่งจะทำให้เด็กอยากใส่ ถ้าไม่มีเด็กอาจไปขอให้พ่อแม่ผู้ปกครองไปซื้อ หรือศูนย์เด็กเล็กมีเป็นหมวกกองกลางก็สามารถใช้วนได้ กระบวนการดังกล่าวจะต้องสร้างการรับรู้ให้กับเด็ก และผู้ใหญ่รวมถึงผู้นำท้องถิ่นและชุมชน

“การที่เราเริ่มที่เด็ก เราหวังว่าเด็กจะไปสอนพ่อแม่หรือผู้ปกครองว่า หนูยังใส่เลย แล้วทำไมพ่อแม่ถึงไม่ใส่ หากเป็นการขับเคลื่อนกับผู้ใหญ่ก็เหมือนกับสำนวนไทยที่ว่าไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก ดังนั้นเราจึงต้องเริ่มที่เด็กแล้วขับเคลื่อนไปยังผู้ใหญ่ แต่สุดท้ายปลายทางเราต้องสร้างวินัย สร้างนิสัยให้กับคนไทยให้ได้ที่จะมีการสวมหมวกนิรภัย ทั้งการขับเคลื่อนทางกฎหมายที่จะบังคับใช้ให้ได้ ทั้งการขับเคลื่อนในเด็ก ในบ้าน ในชุมชนในการการสร้างวินัยและพฤติกรรมหมู่ของคนชุมชนนั้นๆ” ผจก.สสส.กล่าว

ที่ผ่านมา สสส. สนับสนุนโครงการ “ห่วงใครให้ใส่หมวก” ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน และสถานศึกษา และขยายผลการสวมหมวกนิรภัยในสถานศึกษา โดยเน้นมาขับเคลื่อนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนน ปลูกฝังจิตสำนึก ด้านความปลอดภัยทางถนนสำหรับเด็กปฐมวัย ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการขับขี่ที่ปลอดภัย สวมหมวกนิรภัย100% สร้างวินัยจราจรในเด็ก รวมถึงครู ผู้ปกครอง ชุมชน เกิดความร่วมมือของท้องถิ่น ชุมชน ครู ผู้ปกครอง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สร้างการเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดความปลอดภัยทางถนนในระดับตำบล โดยอัตราการสวมหมวกนิรภัยในกลุ่มเด็กมีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้น จากค่าเฉลี่ย 7-8% เป็น 16%

ด้าน นายณัฐพงศ์ บุญตอบ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการมูลนิธิไทยโรดส์ กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2553 ที่มูลนิธิไทยโรดส์ และ เครือข่าย Road Safety Watch ได้สำรวจพฤติกรรมการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ จนถึงปี 2566 จุดสำรวจ 3,274 ทั่วประเทศ และจำนวนผู้ใช้รถจักรยานยนต์ 1,471,540 คน พบว่า ภาพรวมของประเทศ มีผู้ใช้รถจักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัยเพียง 43% แบ่งเป็นคนขี่และคนซ้อนสวมหมวกนิรภัย 48% และ 21% ตามลำดับ จังหวัดที่มีการสวมหมวกนิรภัยสูงสุดของแต่ละภูมิภาค ในปี 2566 ได้แก่ ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ 59% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.สุรินทร์ 53% ภาคกลางและตะวันออก (ไม่รวม กทม.) จ.ตราด 67% ภาคใต้ จ.ภูเก็ต 55% และกรุงเทพฯ 71% และเมื่อเปรียบเทียบตามบริบทพื้นที่การสำรวจฯ พบว่า อัตราการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ รวมคนขี่และคนซ้อน ในภาพรวมมีแนวโน้มลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับ ปี 2562 ก่อนสถานการณ์โควิด-19 โดยในเขตชุมชนเมืองหลักลดลงเหลือ 49% จาก 77% และเขตชุมชนชนบทลดลงเล็กเหลือ 29% จาก 30%

“กลุ่มผู้ใหญ่ทั้งคนขี่และคนซ้อน สวมหมวกนิรภัยลดลงเหลือเพียง 43% ในขณะที่กลุ่มเด็กเฉพาะคนซ้อน สวมหมวกนิรภัยสูงขึ้นเป็น 16% โดยจังหวัดที่ส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย “ในกลุ่มเด็ก” ดีเด่น ได้แก่ ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ 29% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.นครราชสีมา 21% จ.อุบลราชธานี 21% ภาคกลาง กรุงเทพฯ 30% ภาคตะวันออก จ.ตราด 32% และภาคใต้ จ.ภูเก็ต 37% สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของการขับเคลื่อนหมวกนิรภัยศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบ สู่โรงเรียนเพื่อความปลอดภัยทางถนน โดยการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน และหน่วยงาน  ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน โดยจะต่อยอดขยายร่วมมือกับระหว่างหน่วยงานและภาคีเครือข่ายทั้งในระดับนโยบาย และปฏิบัติการ รวมถึงประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ร่วมกับการใช้ CCTV ที่มีอยู่ เพื่อยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพการติดตาม และประเมินผลการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์อย่างจริงจัง ” นายณัฐพงศ์ กล่าว

พร้อมเสนอ “5 เรื่องต้องทำเพื่อ #Save สมองเด็กไทย”  (1) มีนโยบายขับเคลื่อนการสวมหมวกจากส่วนกลาง สู่ท้องถิ่น  (2) เพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายหมวกนิรภัย ด้วยการลงทุนเทคโนโลยี  (3) สนับสนุนให้มีระบบติดตาม มาตรการสวมหมวกนิรภัย ด้วยการใช้ AI  (4) ส่งเสริมให้มีการเรียนรู้เรื่องความปลอดภัยทางถนน-วินัยจราจร ในสถานศึกษา  และ (5) ส่งเสริมการเข้าถึงและจัดหาหมวกนิรภัยสำหรับเด็ก ที่ได้มาตรฐานความปลอดภัย

สำหรับ จ.ตราด ที่ได้รับรางวัลจังหวัดที่มีการขับเคลื่อนการสวมหมวกนิรภัยในกลุ่มเด็กดีเด่น ประจำปี 2566 โดยมีนายณัฐพงษ์ สงวนจิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด กล่าวถึงการดำเนินงานว่า จ.ตราดเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีรถจักรยานยนต์เป็นพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดเช่นกัน และอุบัติเหตุมักจะเกิดขึ้นในเมือง ทางจังหวัดได้มีการจับตาเฝ้าระวังโดยให้ทุกพื้นที่คอยดูว่า พื้นที่ตรงไหนเกิดอุบัติเหตุมาเราจะทำป้ายหัวกะโหลกติดไว้ว่าเป็นจุดเสี่ยง ส่วนบ้านไหนมีการดื่มเราจะให้เจ้าหน้าที่คอยจับตา เพราะเมาแล้วจับก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งของการเกิดอุบัติเหตุ จากข้อมูลพบว่า พฤติกรรมของคนจะมีการเชื่อมโยงกับการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งทางจังหวัดมีเป้าหมายที่อยากให้ทุกคนได้รับความปลอดภัย และทำให้คนตระหนักรู้ว่าการไม่สวมหมวกนิรภัยเวลาเกิดอุบัติเหตุจะเกิดความรุนแรงได้

นอกจากนี้ทางจังหวัดจะมีการตั้งด่านชุมชน และจะมีการถ่ายทอดสดในช่วง 7 วันอันตรายในช่วงเทศกาล รวมทั้งสถานที่ราชการ สถานศึกษา สถานพยาบาล หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สถานประกอบการ และนิคมอุตสาหกรรมเป็นพื้นที่สวมหมวกนิรภัย 100%  ซึ่งนอกจากการบังคับใช้กฎหมายแล้ว ยังได้นำเรื่องของศีลธรรมเข้ามาช่วยให้ประชาชนไม่เกิดความประมาท  โดยจะให้ท้องถิ่นนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่

จากการทำงานที่เข้มข้นและต่อเนื่องของ จ.ตราด ส่งผลให้ในปี 2566 จ.ตราดมีอัตราการสวมหมวกนิรภัยรวมคนขับขี่และคนซ้อน ร้อยละ 67 สูงสุดเป็นอันดับสองของประเทศรองจาก กทม. และรับรางวัลจังหวัดที่มีการขับเคลื่อนการสวมหมวกนิรภัยในกลุ่มเด็กดีเด่น


You must be logged in to post a comment Login